คอนเสิร์ต “ตาดู หูฟัง” ครั้งที่ 1 : Let’s world your Thai

ศิลปิน : วงแจ๊ส Blue Band, กีต้าร์ลายไทย, วงดนตรีไทยสายศิลป์ไทย, วงกลองยาวศิลปากร, Woodoo Band และ Backpacker

จัดแสดง : วันที่ 10 – 11 พฤศจิกายน 2550 เวลา 17.00 – 21.00 น. ณ หอศิลป์ตาดู อาคารบาร์เซโลน่า มอเตอร์ ชั้น 7 ถ.เทียมร่วมมิตร

ดนตรีไทย: รากลึกของวัฒนธรรมของประเทศไทย ด้วยท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังได้รับการกล่าวถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมที่ตายตัว ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ดนตรีไทยไม่สามารถมีพื้นที่ของตนเองในวงการดนตรีร่วมสมัยอย่างชัดเจนและกว้างขวางพอที่จะยืนหยัดทรงกายได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง ในอีกด้านหนึ่งก็มีวงดนตรีนอกกระแสอีกมากกมายที่พยายามจะประยุกต์ใช้ หยิบยืม หรือแม้แต่หาแรงบันดาลใจจากสำเนียงและจังหวะดนตรีของดนตรีไทย แล้วนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ๆ คอนเสิร์ตตาดู – หูฟัง ครั้งที่1 : “Let’s world your Thai!” จึงได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีการแสดงให้กับวงดนตรีนอกกระแสเหล่านั้นเพื่อที่จะแสดงศักยภาพทางดนตรีที่ได้รับมาจากการประยุกต์ ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง “ความเป็นไทย” แบบเดิม ให้สามารถนำเสนอได้ในสังคมร่วมสมัย และในขณะเดียวกันก็เป็นเวทีทางเลือกให้กับผู้ชมซึ่งมีความสนใจในรูปแบบทางดนตรี world music ที่รวบรวมเอาความหลากหลายทางวัฒนธรรมดนตรีเอาไว้ และมีกลิ่นไอทางวัฒนธรรมอันเต็มไปด้วยลักษณะเฉพาะซึ่งพร้อมที่จะร้อยเรียงผสมผสานจนก่อกำเนิดเป็นสิ่งใหม่อยู่เสมอ ภายใต้ความเป็นดนตรีซึ่งเป็นสากลยิ่งกว่าภาษาใดในโลก

ในคอนเสิร์ตนั้นจะประกอบไปด้วยวงดนตรีแจ๊สในต้อนต้นที่จะมาช่วยเสริมสร้างบรรยากาศและ “อุ่นเครื่อง” ให้ผู้ดูพร้อมที่จะรับฟังการประชันดนตรีซึ่งจะเกิดขึ้นในห้องจัดแสดงนิทรรศการของหอศิลป์ ระหว่างวงดนตรีสายศิลป์ไทยซึ่งเป็นวงดนตรีไทยล้วนๆ กับวงดนตรีกีต้าร์ลายไทยฉบับเยาวชนซึ่งถือเป็นวงเครื่องสายตะวันตกสำเนียงไทยเลือดใหม่ โดยจะเป็นการปะทะกันด้วยสำเนียงดนตรีไทยล้วนๆ จากความแตกต่างของเครื่องดนตรีสองซีกโลก หลังจากนั้นเรามีวงกลองยาวอาชีพซึ่งย้ายพื้นที่ตนเองจากงานบวช งานมงคล มาสู่ดาดฟ้าของหอศิลป์ตาดูเพื่อสร้างสีสันด้วยจังหวะกลองแบบไทยๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี นำท่านขึ้นไปบนดาดฟ้าของตัวอาคารเพื่อพบกับการแสดงของวงเครื่องเคาะ และเครื่องดนตรีประกอบจังหวะแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นของไทยดังเดิมและที่มาจากทั่วโลก เริ่มจาก Woodoo band วงดนตรีจังเกิ้ลสัญชาติไทยซึ่งผสมผสานจังหวะของดนตรีภาคใต้เข้ากับสำเนียงดนตรีแบบแอฟริกันของกลองเจมเป้ หรือว่าจะเป็นดิจจูรี่ดูจากทวีปออสเตรเรีย หลังจากนั้นก็พบกับวง Percussion นาม Backpacker นักดนตรีซึ่งอยู่ในชุดของนักศึกษาจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่รวมตัวกันสรรค์สร้างจังหวะอันสนุกสนาน และการแสดงที่ทรงพลัง จากเครื่องดนตรีเฉพาะกิจที่พวกเขาคัดสรรกันมา

ท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นการรวมตัวของวงดนตรีทั้งหมด การรวมตัวทางดนตรี ระหว่างวงดนตรีสัญชาติไทยที่ใช้อุปกรณ์ดนตรีโบราณจากหลากทวีป วงดนตรีที่สร้างสรรค์จังหวะจากอุปกรณ์เหลือใช้ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ และวงดนตรีที่นำเสนอสำเนียงไทยภายใต้การสร้างสรรค์ของสายตาจากตะวันตก จึงเป็นการร่วมมือและประชันทางดนตรีที่หาชมได้ยากยิ่ง บนความหลากหลายของสำเนียงและจังหวะในบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างแต่ก็มีจุดยืนร่วมกัน นี่อาจจะเป็นการ “ปล่อยตัวเองเป็นอิสระ แล้วให้จังหวะสร้างโลกใหม่” ที่จะแสดงภาพลักษณ์ ความสามารถ ศักยภาพ และตัวตนทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของดนตรีในลักษณะของเราอย่างแท้จริง โครงการนี้จึงเป็น การสรรค์สร้างความเป็นไปได้ทางจังหวะและสำเนียงใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยในโลกร่วมสมัยที่พรมแดนของ วัฒนธรรม เชื้อชาติ และ ภาษาดูจะเบาบางลงไปแล้ว เปิดโอกาสให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมผสมได้ประชัน ร่วมมือและยอมรับกันเองมากขึ้น ช่วยเปิดมิติใหม่ให้กับท่วงทำนองดนตรีแบบไทยๆ ของเราก้าวไปสู่ความเป็นร่วมสมัยมากขึ้น และเป็นที่รับรู้ในโลกของดนตรีอันเป็นสากลมากกว่าที่เคย

นอกจากนี้ยังมีงานเสวนาดนตรี “จังหวะ เสวนา” ครั้งที่ 1 ในวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2550 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ หอศิลป์ตาดู ชั้น 7 โดยจะพูดคุยกันในเรื่องแนวทางในการพัฒนาดนตรีอิสระกับพื้นที่ในสังคม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ด้วย

หอศิลป์ตาดู (ในเครือยนตรกิจ กรุ๊ป)
ชั้น 7 อาคารบาเซโลนา มอเตอร์ ถ.เทียมร่วมมิตร
เวลาทำการ 9.00 – 18.00 น. วันจันทร์ – เสาร์
ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
โทร. 02-6452461 / 02-6452473
แฟกซ์ 02-6452460 / 02-6452473
อีเมล : tadunews@yahoo.com /
taduart@tadu.net/ www.tadu.netwww.myspace.com/taducontemporaryart