จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอกย้ำวิสัยทัศน์ทางด้านไอที ติดตั้งเทคโนโลยีซิสโก้ Cisco SCE1000 Series Service Control Engine เพื่อการใช้ทรัพยากรแบนด์วิดธ์ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า พร้อมกับรองรับการรับ-ส่งข้อมูลนักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษา ในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำงานวิจัยร่วมกับนักวิชาการในสถาบันการศึกษาอื่นๆ ตลอดจนนักศึกษาใช้ติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลการเรียนการสอน โดยให้ดาต้าโปร คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์วางระบบอุปกรณ์เครือข่าย
ดร. กมเลศน์ สันติเวชชกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ทางด้านไอทีของจุฬาลงกรณ มหาวิทยาลัยที่นําเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งความรู้และอย่างอิงของแผ่นดิน
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความนิยมใช้งานแบบระบบเครือข่าย peer-to-peer (P2P) เพิ่มมากขึ้น มีการใช้ไฟล์ร่วมกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ทำให้การแชร์ไฟล์แบบ P2P ต้องใช้แบนด์วิดธ์จำนวนมาก และหากไม่ได้ใช้งานอย่างเหมาะสม P2P จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและสิ้นเปลืองแบนด์วิดธ์ของเครือข่าย
มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญในการขยายเครือข่ายภายเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับผู้ใช้งานโดยติดตั้งเทคโนโลยีซิสโก้ โซลูชั่น Cisco SCE 1000 Series Service Control Engine เพื่อเข้ามาช่วยในการใช้ทรัพยากรแบนด์วิดธ์ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทำให้การแชร์ไฟล์แบบ P2P รับ-ส่งข้อมูลที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ให้ลดลงได้สูงสุดจาก 800 Mbps เหลือเพียง 400Mbps ซึ่งปัจจุบันอินเทอร์เน็ตแบนด์วิดธ์ของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 1Gbps ทำให้แบนด์วิดธ์เหลือพอที่จะสามารถรองรับแอพพลิเคชั่นที่มีความสำคัญมากขึ้น ทั้งระบบอีเมล์ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน สามารถกระทำได้ในระดับความเร็วที่ยอมรับได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มแบนด์วิดธ์ของคู่สายสัญญาณในอนาคตอันใกล้นี้
ด้วยคุณสมบัติการจัดการของ Cisco SCE 1000 Series Service Control Engine ทำให้การจัดสรรขนาดของแบนด์วิดธ์ที่แน่ชัดให้แก่ผู้ใช้ในอัตราต่อชั่วโมงหรือต่อวัน ถ้าการใช้งานเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ระบบนี้จะลดขนาดแบนด์วิดธ์ลง ขนาดแบนด์วิดธ์ของผู้ใช้งานก็จะลดลงตามระดับที่กำหนดไว้ โดยสามารถตั้งค่าใหม่ได้สำหรับผู้ใช้ทุกรายตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังสามารถกำหนดค่าเพื่อให้แอพพลิเคชั่น P2P มีระดับต่ำในช่วงกลางวันซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นที่ต้องใช้แอพพลิเคชั่นอื่นๆ แต่จะปรับความสำคัญของแอพพลิเคชั่น P2P ไว้ที่ระดับปกติในช่วงกลางคืน จะใช้โปรไฟล์การใช้งานที่แตกต่างกันสำหรับกลุ่มผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้ เพื่อสามารถบริหารจัดการแบนด์วิดธ์ได้ละเอียดมากขึ้น
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลือกติดตั้งโซลูชั่นซึ่งโดยปกติแล้วได้รับการใช้งานโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะทางมหาวิทยาลัยมั่นใจในคุณภาพและเสถียรภาพของ Cisco SCE 1000 “ซิสโก้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเสนอเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเพื่อช่วยให้คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของจุฬาสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างเต็มที่เพื่อเข้าใช้ข้อมูลงานวิจัย วิทยานิพนธ์ และข้อมูลวิชาการต่างๆ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อการเรียนการสอน ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของซิสโก้ในการให้ความสำคัญการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Life long learning) และการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต ด้วยวิถีการเรียนรู้รูปแบบใหม่จากอินเทอร์เน็ต (Change the way they live with the way they learn) ในการพัฒนาและผลิตบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและเชี่ยวชาญในระบบเครือข่ายออกสู่ตลาดเครือข่ายให้มากขึ้น”
เกี่ยวกับซิสโก้ ซีสเต็มส์
ซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) เป็นผู้นำระดับโลกทางด้านระบบเครือข่ายที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเชื่อมต่อ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ข้อมูลเกี่ยวกับซิสโก้ สามารถอ่านได้ที่ http://www.cisco.com ส่วนข่าวสารความเคลื่อนไหวของบริษัทฯ สามารถหาอ่านได้จาก http://newsroom.cisco.com อุปกรณ์ของซิสโก้ได้รับการจัดหาโดยบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์