Mega Projects ด้านการขนส่ง : ต้องเดินหน้าแม้ต้นทุนพุ่ง

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะ Mega Projects ด้านการขนส่งที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เกิดการลงทุนในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นตาม (Crowding-In Effect) หลังจากที่ภาวะการลงทุนชะลอตัวลงไปจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวของภาคการขนส่งที่กำลังเผชิญวิกฤตราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ต้องพิจารณา คือ ข้อจำกัดด้านเงินลงทุนและต้นทุนค่าก่อสร้างที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากดำเนินการทั้งหมดตามแผนการเดิม จะส่งผลให้รัฐบาลต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเป็นมูลค่าสูง ขณะที่รัฐบาลเองมีข้อจำกัดในด้านการบริหารงบประมาณภายใต้กรอบเสถียรภาพทางการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์และแนวทางการปรับตัวในการลงทุน Mega Projects ด้านการขนส่งของภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ต้นทุนภาคการขนส่งของไทย … เพิ่มสูงยิ่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน

จากโครงสร้างการขนส่งของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพึ่งพาการคมนาคมขนส่งทางถนนเป็นหลัก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันก็ยิ่งซ้ำเติมให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาการขนส่ง อันนำไปสู่ราคาสินค้าขั้นสุดท้ายที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยกับคู่แข่งในต่างประเทศที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันน้อยกว่า

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานโดย IMD ในปี 2550 ไทยอยู่ในอันดับที่ 48 จากทั้งหมด 55 ประเทศ รวมทั้งต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยจากการศึกษาของศูนย์วิจัยด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยในปี 2550 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 24.6 ต่อ GDP ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ต่อ GDP การที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การขนส่งระบบรางยังไม่มีมาตรฐานและไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยเส้นทางรถไฟมีทั้งสิ้น 4,129 กิโลเมตร แต่เป็นรางเดี่ยวถึง 3,881 กิโลเมตร รวมทั้งยังขาดการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำอย่างครบวงจร ทำให้การขนส่งในรูปแบบที่หลากหลาย (Multimodal) เกิดขึ้นได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินต่อรถไฟ รถไฟต่อเรือ หรืออื่นๆ เส้นทางรถไฟฟ้ายังมีระยะทางสั้นและขาดการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ รวมทั้งยังขาดระบบขนส่งมวลชนสนับสนุน (Feeder) ที่จะช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางได้สะดวกมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การขนส่งของไทยส่วนใหญ่มักจะใช้การขนส่งผ่านทางถนน โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าที่มีสัดส่วนการขนส่งทางถนนสูงกว่าร้อยละ 85.5 ทั้งที่เป็นการขนส่งที่มีต้นทุนสูงที่สุด ส่วนการขนส่งผ่านระบบรางซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า กลับมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าเพียงประมาณร้อยละ 2.3 เท่านั้น โดยจากการศึกษาของ ESCAP พบว่า การขนส่งโดยรถไฟจะประหยัดต้นทุนการขนส่งกว่าทางถนน หากเปรียบเทียบการขนส่งสินค้าต่อน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร รถไฟสามารถขนส่งได้ถึง 85.5 ตัน/กิโลเมตร/ลิตร ขณะที่รถบรรทุกสามารถขนส่งได้เพียง 25 ตัน/กิโลเมตร/ลิตร

Mega Projects ไม่เพียงแต่มีบทบาทในการช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีบทบาทช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย โดยเฉพาะ Mega Projects ด้านการขนส่งที่จะมีการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสินค้า ได้แก่ โครงการถไฟฟ้า 9 สาย และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้ามาใช้ระบบรางมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ ตลอดจนยังช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาผันผวนสูงอีกด้วย

น้ำมันแพง ต้นทุนพุ่ง … อาจต้องพิจารณาลำดับความสำคัญ Mega Projects ใหม่

ในขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อไปอีกในระยะข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาต้นทุนทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันถือเป็นปัญหาระยะยาวที่ควรเร่งหาแนวทางแก้ไข ซึ่งในส่วนของมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็นับเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา แต่นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน (Energy Shift) ซึ่งมีผลเพียงการลดมูลค่าของการใช้พลังงาน แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องมีแนวทางในการปรับโครงสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ใหม่ (Mode Shift) ไปสู่รูปแบบที่หลากหลาย (Multimodal) มากขึ้น เช่น ลดการขนส่งทางถนน หันมาให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงกับการขนส่งทางอากาศและน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถลดอัตราส่วนการใช้พลังงานโดยรวมลงได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาการใช้พลังงานแบ่งตามภาคเศรษฐกิจ ปี 2550 ภาคการขนส่งมีสัดส่วนสูงที่สุดถึงประมาณร้อยละ 37 โดยภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนและอื่นๆ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 และ 27 สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยต้องสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในภาคการขนส่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุด โดยเฉพาะการขนส่งทางถนนที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึงประมาณร้อยละ 76.5 ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่การใช้พลังงานในภาคการขนส่งจะอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานของภาคการขนส่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 27 และ 25 เท่านั้น

เมื่อพิจารณาแผนการลงทุนในโครงการ Mega Projects เป็นที่สังเกตว่าโครงการที่รัฐบาลมักให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก คือ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีการกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าไว้ 9 สาย รวมทั้งกำหนดวงเงินลงทุนไว้อย่างชัดเจน ขณะที่โครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศยังไม่คืบหน้ามากนัก ทั้งในเรื่องแผนการลงทุนและการระดมเงินทุน ทั้งที่โครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นเชื้อเพลิงหลักของรถบรรทุกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าต่อไปได้ โดยหากโครงการรถไฟรางคู่เสร็จสมบูรณ์ก็จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกระจายการขนส่งมายังระบบรางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม Mega Projects ทั้งโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟรางคู่ก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจทั้ง 2 โครงการ โดยจากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่า หากโครงการรถไฟฟ้าเป็นไปตามเป้าหมาย ในปีแรกที่เริ่มก่อสร้างจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 19,000 ล้านบาท โดยหากเปิดให้บริการครบทั้ง 9 สาย จะมีผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 9 ล้านคนต่อปี และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ในกรณีที่ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44 บาทต่อลิตร ขณะที่โครงการรถไฟรางคู่หากก่อสร้างได้สำเร็จทั่วประเทศก็คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับแผนการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบด้านอื่นๆ เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลอันดามัน การปรับปรุงระบบตรวจสอบสินค้าส่งออก/นำเข้าให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงตามเป้าหมายที่ภาครัฐได้วางไว้จากปัจจุบันประมาณร้อยละ 3 ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี โดยหากประเมินเบื้องต้นเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า จะช่วยประหยัดต้นทุนไปไม่ต่ำกว่าประมาณ 254,000 ล้านบาทต่อปี จากมูลค่า GDP ปี 2550 ประมาณ 8.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ จากแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 12.4 และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 29.3 ทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง Mega Projects ที่วางแผนไว้ล่วงหน้าอาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดของธนาคารกลาง ก็อาจส่งผลให้การออกพันธบัตรของภาครัฐในการระดมเงินทุนมาลงทุนใน Mega Projects ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายผลตอบแทนของพันธบัตรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตลอดจนแนวโน้มที่ภาครัฐจะใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นและการที่ตลาดการเงินเริ่มมีสัญญาณสภาพคล่องในระบบตึงตัวมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการระดมเงินทุนสำหรับ Mega Projects มากขึ้นตามไปด้วย จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า โครงการลงทุนรถไฟฟ้า 9 สาย ต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 770,734 ล้านบาท ส่วนโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 367,312 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะต้องมีการปรับวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10-15 จากผลของราคาวัสดุก่อสร้างและต้นทุนอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินลงทุนทั้ง 2 โครงการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนของภาครัฐ จะเห็นได้ว่าภาครัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้บางส่วนจะเป็นการระดมเงินทุนจากภายนอก แต่ก็ล้วนส่งผลต่อภาระของภาครัฐในอนาคตทั้งสิ้น ทำให้อาจเป็นการยากที่ภาครัฐจะลงทุนทั้ง 2 โครงการอย่างเต็มรูปแบบในระยะเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะต้องเผชิญกับปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ แต่การลงทุนใน Mega Projects ด้านการขนส่งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรต้องดำเนินการต่อ เพียงแต่อาจจะต้องมีการศึกษาเพื่อพิจารณาลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ตามความเร่งด่วนของโครงการและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ในปัจจุบันมีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันก๊าซโซฮอล์ 95 ถึงกว่าลิตรละประมาณ 7 บาท รวมทั้งต้นทุนของโครงการที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากแผนเดิมที่เคยวางไว้ โดยควรต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในการระดมทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน รวมทั้งควรต้องสร้างความสมดุลอย่างเหมาะสมมากขึ้น ระหว่างการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และโครงการรถไฟรางคู่ที่เชื่อมโยงโครงข่ายทั่วประเทศ

แนวทางการปรับการลงทุนในโครงการ Mega Projects

จากปัญหาและข้อจำกัดในการลงทุน Mega Projects โดยเฉพาะในด้านต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มวงเงินลงทุนค่าก่อสร้างอีกประมาณร้อยละ 10-15 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อให้การลงทุนในโครงการ Mega Projects มุ่งก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับสามารถแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันได้นั้น รัฐบาลควรศึกษาพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ Mega Projects ด้านการขนส่งใหม่ โดยอาจมีแนวทางที่เป็นไปได้ ดังนี้

1. ทบทวนการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินของแต่ละโครงการลงทุน โดยควรให้ความสำคัญกับโครงการที่มีผลตอบแทนทางการลงทุนสูงก่อน เช่น โครงการรถไฟฟ้าควรให้ความสำคัญกับเส้นทางที่เป็นเส้นทางหลักที่จะมีจำนวนผู้โดยสาร (Ridership) มาก โครงการรถไฟรางคู่ควรเลือกเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากและสามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างครบวงจร เป็นต้น

2. ทบทวนการศึกษาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการลงทุนในแต่ละโครงการ เช่น มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลดการใช้น้ำมัน มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

3. ทบทวนและปรับประมาณการแนวโน้มต้นทุนค่าก่อสร้างในอนาคตของแต่ละโครงการลงทุน เพื่อปรับวงเงินลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

4. กระจายสัดส่วนการระดมเงินทุนอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ การกู้เงินภายในประเทศ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยต้องพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างเหมาะสม

5. ให้ความสำคัญในการลงทุนระบบสนับสนุนและการเชื่อมต่อการขนส่งในรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าต้องมีระบบขนส่งมวลชนสนับสนุน (Feeder) ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหรืออื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการใช้บริการจากที่พักอาศัยหรือที่ทำงานไปสู่สถานีรถไฟฟ้า ส่วนรถไฟต้องสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือและท่าอากาศยานได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

สรุปและข้อคิดเห็น

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ Mega Projects ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยจะสร้างประโยชน์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก จะช่วยกระตุ้นและดึงดูดการลงทุนให้เพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำในการลงทุน เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนตาม และประการที่สอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะ Mega Projects ด้านการขนส่งที่จะมีการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสินค้า ได้แก่ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 สาย และโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ

ในขณะนี้ภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อไปอีกในระยะข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาต้นทุนทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันถือเป็นปัญหาระยะยาวที่ควรเร่งหาแนวทางแก้ไข ซึ่งในส่วนของมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็นับเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา แต่นอกจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน (Energy Shift) ซึ่งมีผลเพียงการลดมูลค่าของการใช้พลังงาน แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงานได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องมีแนวทางในการปรับโครงสร้างการขนส่งและโลจิสติกส์ใหม่ (Mode Shift) ไปสู่รูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย (Multimodal) มากขึ้น เช่น ลดการขนส่งทางถนน หันมาให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงกับการขนส่งทางอากาศและน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถลดอัตราส่วนการใช้พลังงานโดยรวมลงได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันในภาคการขนส่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุด ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานของภาคการขนส่งต่ำกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

เมื่อพิจารณาแผนการลงทุนในโครงการ Mega Projects เป็นที่สังเกตว่าโครงการที่รัฐบาลมักให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก คือ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีการกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าไว้ 9 สาย รวมทั้งกำหนดวงเงินลงทุนไว้อย่างชัดเจน ขณะที่โครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศยังไม่คืบหน้ามากนัก ทั้งในเรื่องแผนการลงทุนและการระดมเงินทุน ทั้งที่โครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าได้

จากราคาเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันประเภทอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งปัญหาต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้วงเงินลงทุนเดิมที่รัฐบาลวางแผนไว้อาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และข้อจำกัดในการระดมเงินลงทุน Mega Projects ที่มีมากขึ้น เช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการออกพันธบัตรรัฐบาล งบประมาณรายจ่ายที่ต้องนำไปใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเพื่อให้การลงทุนในโครงการ Mega Projects มุ่งก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับสามารถแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันได้นั้น รัฐบาลควรทำการศึกษาเพื่อพิจารณาลำดับความสำคัญของโครงการ Mega Projects ด้านการขนส่งที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต้นทุนด้านพลังงาน ความสำคัญเร่งด่วน และต้นทุนการก่อสร้างของโครงการ โดยต้องให้ความสำคัญในการกระจายการลงทุนในโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ บนพื้นฐานของการศึกษาถึงต้นทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป