ควันหลงโอลิมปิก 2551 : กระตุ้นธุรกิจค้าปลีกในจีน

ฉากความยิ่งใหญ่อลังการของพิธีปิดมหกรรมโอลิมปิก ณ มหานครปักกิ่งที่เพิ่งผ่านพ้นไปในเดือนที่ผ่านมายังคงเป็นภาพประทับใจในความทรงจำของผู้ชมทั่วโลก ซึ่งการจัดมหกรรมโอลิมปิกดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำการพัฒนาและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียอย่างประเทศจีนได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงผสมผสานอารยธรรมและวัฒนธรรมตะวันออกที่สืบทอดมาอันยาวนานหลายร้อยปีของจีนยังได้แสดงให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเห็นว่า จีนในยุคปัจจุบันไม่ได้หยุดนิ่งอยู่หลังม่านไม้ไผ่อีกต่อไป

ทั้งนี้ การจัดมหกรรมโอลิมปิกของจีนที่ผ่านมาในครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของจีนโดยการเพิ่มเม็ดเงินการค้าภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นจากกำลังซื้อมหาศาลที่มีภายในประเทศ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสแก่ผู้ประกอบการค้าปลีกในการสร้างการรับรู้ตราสินค้าในตลาดธุรกิจค้าปลีกผ่านสายตาผู้ชมจากทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติหลายรายจึงให้ความสนใจต่อการจัดมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้ในประเทศจีนอย่างมาก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการทุ่มงบประมาณโฆษณาของผู้อุปถัมภ์การจัดมหกรรมโอลิมปิกของผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ข้ามชาติหลายรายที่ใช้โอกาสจากการจัดมหกรรมโอลิมปิกเป็นเวทีเพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นที่แพร่หลายในสายตาผู้บริโภคจากทั่วทุกมุมโลก โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา ตลาดโฆษณาของจีนมีมูลค่ารวม 14.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดการณ์ว่า ภายในปี 2551 ตลาดโฆษณาของจีนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 จากปี 2550 ทั้งนี้ ทางบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการวิเคราะห์ภาพรวม ธุรกิจค้าปลีกของประเทศจีนและแนวโน้มการเติบโตของตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 หลังการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ดังนี้

 ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในจีน

ในช่วงที่ผ่านมามูลค่าธุรกิจค้าปลีกของประเทศจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทั้งนี้มูลค่าธุรกิจค้าปลีกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องมือวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศจีนได้ทางหนึ่ง โดยสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ในปี 2550 ประเทศจีนมีมูลค่าค้าปลีกทั้งสิ้น 8,921 พันล้านหยวน เติบโตร้อยละ 16.8 จากปี 2549 โดยสามารถจำแนกออกเป็นยอดค้าปลีกในเมือง 6,041.1 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17 ขณะที่ยอดค้าปลีกในชนบทมีมูลค่ารวม 2,879.9 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 16 ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าธุรกิจค้าปลีกในจีนทะยานพุ่งสูงถึง 5,967.1 พันล้านหยวน ขยายตัวในอัตราเกือบร้อยละ 22 อีกทั้ง ธุรกิจค้าปลีกจีนมีอัตราการเติบโตร้อยละ 23.3 ในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การจัดกีฬาโอลิมปิกที่เพิ่งปิดฉากไปถือเป็นโอกาสทองสำหรับธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของจีนและธุรกิจค้าปลีกในมหานครปักกิ่งซึ่งใช้เป็นสถานที่หลักในการจัดการแข่งขันมหกรรมโอลิมปิกในปีนี้ เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของผู้คนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาชมการแข่งขันดังกล่าวถือเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศจีนให้ขยายตัวด้วย ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาในการจัดเตรียมพิธีโอลิมปิกซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2545-2550 ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในมหานครปักกิ่งเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12.1 ต่อปี โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกในมหานครปักกิ่งมีมูลค่าสูงถึง 3,800 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากปี 2549 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี อีกทั้งข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ปักกิ่งมีมูลค่าของธุรกิจค้าปลีกรวม 2,600 พันล้านหยวน ขยายตัวในอัตราร้อยละ 21.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของธุรกิจค้าปลีกในจีน

ทั้งนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด มองว่า การเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วของธุรกิจค้าปลีกจีนได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่าง ๆ คือ ตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรสูงราว 1.3 พันล้านคน ส่งผลให้ตลาดการค้าปลีกภายในของจีนกลายเป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่ดึงดูดผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ข้ามชาติหลายรายจากทั่วโลก กอปรกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลกและยังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ เยอรมัน ตามลำดับ

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกของจีนเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวติดต่อกันในระดับสูงอย่างต่อเนื่องทำให้รายได้ของประชากรในประเทศทั้งในเขตเมืองและชนบทเพิ่มขึ้น จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การขยายตัวทางรายได้ต่อประชากรในเมืองได้เพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา รายได้ต่อประชากรในเมืองอยู่ที่ 13,786 หยวน สูงขึ้นร้อยละ 12.2 จากปี 2549 ขณะที่รายได้เฉลี่ยของประชากรในชนบทอยู่ที่ 4,140 หยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.5 จากปี 2549 ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชากรจีนจึงได้เพิ่มอำนาจการบริโภคของประชากรให้ถีบตัวสูงขึ้นซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดจากมาตรฐานการดำเนินชีวิตของชาวจีนที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะประชากรในเขตเมือง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้ต่อประชากรในภาคชนบทจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังมีความแตกต่างกับรายได้ต่อประชากรในเขตเมืองค่อนข้างมาก ทั้งนี้การที่ทางการจีนดำเนินนโยบายกระจายความเจริญและส่งเสริมความเท่าเทียมกันของประชากรผู้อาศัยอยู่ในเมืองและชนบทของรัฐบาลจีนถือเป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรในชนบทปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มความเจริญที่จะขยายไปสู่ภาคชนบทและรายได้ของประชาชนในภาคชนบทที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะทำให้เป็นโอกาสที่ธุรกิจค้าปลีกจะขยายเข้าไปจัดตั้งในภาคชนบทของจีนมากขึ้นในระยะต่อไป

นอกจากนี้ หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศของจีน รวมถึงการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมชาติตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนยังประเทศจีนยังมีส่วนช่วยให้วิธีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยในปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนมีความคุ้นเคยและตอบรับสินค้าแบรนด์ดังจากต่างชาติมากขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกจากต่างชาติหลายรายได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเสื้อผ้า และ ธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติหลายรายได้ใช้โอกาสการแข่งขันโอลิมปิกปักกิ่งในครั้งนี้เป็นเวทีบุกเข้าสู่ตลาดจีน รวมถึงในตลาดต่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกจีนอาจจะไม่ราบรื่นอย่างที่คาดคิด เนื่องจากผู้ประกอบการอาจต้องสะดุดกับอุปสรรคจากปัญหาต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาสินค้าและวัตถุดิบที่ถีบตัวสูงขึ้นจากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อด้านอุปทานซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้แม้ในช่วงที่ผ่านมาสัญญาณเงินเฟ้อของจีนซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะมีแนวโน้มชะลอตัวโดยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ในเดือนกรกฎาคม จากร้อยละ 7.1 ในเดือนก่อนหน้า แต่ทว่าเงินเฟ้อด้านอุปทานยังอยู่ในภาวะน่ากังวลเนื่องจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 10.0 ในเดือนกรกฎาคม จากร้อยละ 8.8 ในเดือนมิถุนายน โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถีบตัวสูงขึ้นดังนั้นจึงอาจส่งผลให้ต้นทุนของภาคการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนภาคการผลิตอาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าทำให้เงินเฟ้อ (CPI) อาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไปซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันอำนาจซื้อและความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้ชะลอลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจค้าปลีกให้ชะลอตามไปด้วย

นอกจากนี้ แม้ว่ารายได้ของประชากรจีนโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ในประเทศจีนระหว่างในกลุ่มคนรวยและคนจนอาจสร้างความยากลำบากในการขยายธุรกิจและการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการ ทั้งนี้จากรายงานล่าสุดของทางการจีน พบว่า ช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจีนในประเทศจีนได้ขยายวงกว้างขึ้นในรอบ 20 ปี โดยระดับรายได้ของประชากรในเขตเมืองสูงกว่าระดับรายได้ของประชากรในภาคชนบทถึง 3.33 เท่า ในปี 2551 จาก 3.28 เท่า ในปี 2549 ทั้งนี้สาเหตุหลักของช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มขึ้นมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีนและความไม่เท่าเทียมกันของการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาของทางการจีนที่พยายามผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจบริเวณเมืองชายฝั่งทางภาคตะวันออกและตอนใต้ของประเทศมากกว่าบริเวณตอนในของประเทศ อีกทั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา จีนยังได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ตอนในของจีนส่งผลให้ช่องว่างทางรายได้ของคนรวยและคนจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและภาษีที่แตกต่างและซับซ้อนในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

แนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกในตลาดจีนในช่วงที่เหลือของปี 2551 นั้น ทางบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า น่าจะยังคงรักษาระดับการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ทางสมาคมค้าปลีกของจีนเปิดเผยว่า แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกในจีนอาจต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันและต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม แต่ทางสมาคมยังคงเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกจีนจะมีแนวโน้มที่สดใสในอนาคต โดยจากสถิติของสมาคมค้าปลีกและธุรกิจแฟรนไชส์จีน เปิดเผยว่า ในปี 2550 ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ 100 อันดับแรกของจีนมีธุรกิจค้าปลีกรวมทั้งสิ้นจำนวน 105,191 แห่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 60 จากปี 2549 ทั้งนี้คาดว่า ภายในปี 2553 มูลค่าการค้าปลีกของจีนน่าจะพุ่งสูงถึง 10,000 พันล้านหยวน จากมูลค่า 8,941 พันล้านหยวนในปี 2549 ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยสนับสนุนหลักจากทางการจีนซึ่งได้กำหนดแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 ระหว่างปี 2549-2553 โดยเล็งเห็นว่า การบริโภคภายในประเทศมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ภาครัฐบาลจีนหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนลู่ทางธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนสำหรับผู้ประกอบการไทย ทางบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกไทยน่าจะยังมีโอกาสเข้าไปขยายธุรกิจในตลาดจีน เนื่องจากได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยเอื้ออำนวยหลายประการ อาทิ โครงสร้างประชากรขนาดมหาศาลของจีน เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว กำลังการซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ในประเทศจีน ทั้งนี้ประเภทธุรกิจค้าปลีกที่น่าเข้าไปลงทุนในตลาดจีน คือ ธุรกิจห้างค้าปลีก ธุรกิจเครื่องสำอาง ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านและของชำร่วย ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจสปา เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจค้าปลีกในแถบเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก ผู้ประกอบการไทยอาจมองหาทำเลประกอบธุรกิจในเมือง Second tiers ของประเทศจีน เช่น เมืองซีอาน คุนหมิง และ มหานครฉงชิ่ง

ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยหลายรายให้ความสนใจเข้ามาแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศจีนมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยมีแผนบุกเข้าไปขยายกิจการในรูปแบบของห้างสรรพสินค้าในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง โดยทุ่มเงินทุนเป็นจำนวนสูงถึง 20,000 ล้านบาท โดยการเข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกไทยในจีนถือเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยกระจายสินค้าไทยในตลาดจีนและกระตุ้นการส่งออกของไทยไปจีนด้วย เช่น การเข้าไปจัดตั้งห้างสรรพสินค้า หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตในจีนและนำเข้าสินค้าอาหาร/ผลไม้ หรือ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ของไทยเข้าไปจำหน่ายในจีน ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในตลาดจีนได้ดี และ ยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลง FTA อาเซียน-จีนอีกด้วย ทำให้สินค้าที่นำเข้าจากไทยไปจีนได้รับการยกเว้น/ลดภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงความท้าทายและความเสี่ยงก่อนเข้าไปลงทุนในตลาดค้าปลีกของจีนโดยเฉพาะการแข่งขันที่ทวีความดุเดือดมากยิ่งขึ้นซึ่งเห็นได้จากการขยายตัวของคู่แข่งทั้งจากท้องถิ่นและคู่แข่งข้ามชาติซึ่งมากด้วยประสบการณ์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ

สรุปและข้อคิดเห็น

มหกรรมโอลิมปิก ณ มหานครปักกิ่งที่เพิ่งผ่านพ้นไปได้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกอย่างดีเยี่ยมว่าจีนเป็นตลาดที่น่าเข้าไปลงทุนเพื่อแสวงหากำไรโดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่งคง อีกทั้ง แผนการแข่งขันกีฬาเอเชียนครั้งที่ 16 ณ เมืองกว่างโจว และ งานแสดงนานาชาติ ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2553 ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อธุรกิจค้าปลีกจีนให้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความคิดเห็นว่า แม้ว่าโอกาสการเข้าไปลงทุนในตลาดค้าปลีกของจีนยังคงเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนจากปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจหลายด้านอาทิ โครงสร้างประชากรขนาดมหาศาลของจีน การเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งทางรายได้ที่ช่วยยกระดับฐานะและรสนิยมของประชากรชาวจีนได้อย่างดีเยี่ยม แต่ทว่าผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามปัจจัยเสี่ยงที่ยากจะหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้าทั้งในด้านการแข่งขันที่ดุเดือด ต้นทุนของธุรกิจที่ถีบตัวสูงขึ้น และ ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศจีนซึ่งยังคงเป็นโจทย์อันท้าทายที่กำลังรอการแก้ไขอย่างจริงจังจากทางการจีน นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านกฎหมายและภาษีต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ การบุกเข้าไปลงทุนตลาดค้าปลีกจีนให้ประสบผลสำเร็จนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลการลงทุนธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนและทำเลที่ตั้งอย่างลึกซึ้งและละเอียดถี่ถ้วนก่อนเข้าไปดำเนินธุรกิจในจีน เนื่องจากลักษณะตลาดในประเทศจีนเป็นแบบแตกย่อยส่งผลให้พฤติกรรมและรสนิยมผู้บริโภคแตกต่างกันออกไป ดังนั้นกลยุทธ์และการจัดการของการดำเนินธุรกิจย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปด้วย

Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น