ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว ไทย-จีน : มีทิศทางปรับดีขึ้น

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมคณะจากภาครัฐและภาคธุรกิจมีกำหนดเดินทางไปประเทศจีนในระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายนนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีน ท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่การค้า การลงทุนและภาคท่องเที่ยวของไทยต้องซบเซาต่อเนื่องจากหลากปัจจัยลบทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยรุนแรง ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่ส่งผลซ้ำเติมต่อความเชื่อมั่นทางการลงทุนและท่องเที่ยวโดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในเดือนเมษายน และโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ลุกลามไปทั่วโลกส่งผลต่อภาคท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย ทั้งนี้ ภาคส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวระดับสูงในอัตราร้อยละ 26.6 (yoy) ต่อเนื่องจากที่ติดลบร้อยละ 26 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้หดตัวร้อยละ 23 (yoy) ขณะที่มูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยลดลงร้อยละ 76.3 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เหลือ 21.6 พันล้านบาท จากมูลค่า 91.5 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2551 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยจนถึงปัจจุบันยังคงปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 โดยมีอัตราหดตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ

เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศแกนนำหลักของโลกอย่างกลุ่มจี 3 ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น ที่ต้องประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ส่งผลให้บทบาทของจีนต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 2.9 จากที่คาดการณ์ในเดือนมีนาคมว่าจะลดลงร้อยละ 1.75 ขณะที่ได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้เป็นร้อยละ 7.2 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.5 และมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 7.7 ในปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้ว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 9 ในปี 2551 แต่เศรษฐกิจจีนที่ยังคงเติบโตได้คาดว่าจะส่งต่อภาคส่งออกของไทยไปจีน รวมถึงการลงทุนจากจีนและนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยให้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

? ภาคการค้า
แม้ว่าภาคส่งออกของจีนในปัจจุบันยังคงประสบปัญหาภาวะหดตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังอ่อนแรง ส่งผลให้การส่งออกของจีนเดือนพฤษภาคมหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 26.4 (yoy) จากที่ติดลบร้อยละ 22.6 (yoy) ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าของจีนในเดือนพฤษภาคมหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 25.2 (yoy) จากที่ลดลงร้อยละ 23 ในเดือนเมษายน (yoy) แต่หากเทียบการนำเข้าของจีนกับเดือนก่อนหน้าพบว่า การนำเข้าของจีนในเดือนพฤษภาคมถือว่าขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และอัตราเติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 48.2 (mom) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 (mom) บ่งชี้ถึงความต้องการภายในของจีนที่กระเตื้องขึ้น

การนำเข้าของจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นของทางการจีนที่อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ยานยนต์และเครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนน่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการภายในจีนที่ยังคงเติบโต ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้สินค้าส่งออกประเภทวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของไทยที่จีนใช้ในภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนพฤษภาคมหดตัวชะลอลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยลดลงร้อยละ 10.9 (yoy) จากอัตราติดลบร้อยละ 13 ในเดือนเมษายนก่อนหน้า (yoy) หากเทียบการส่งออกของจีนกับเดือนก่อนหน้า ได้สะท้อนถึงการส่งออกของจีนที่ขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนพฤษภาคม 2552 ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้น โดยสินค้าที่มีอัตราหดตัวชะลอลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ขณะที่การส่งออกเคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน แต่มีอัตราชะลอลงในเดือนพฤษภาคม

การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามความต้องการบริโภคในจีนที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นจากมาตรการอัดฉีดเงินของทางการจีนและมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจต่างๆ ที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดส่งออกในกลุ่มจี 3 ยังมีแนวโน้มติดลบทรงตัวในระดับสูงในไตรมาสที่ 3 และอัตราหดตัวอาจชะลอลงในไตรมาสสุดท้าย ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปกลุ่มจี 3 ในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวในอัตราเร่งขึ้นต่อเนื่องจากช่วง 4 เดือนแรก รวมถึงการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราติดลบค่อนข้างสูงทรงตัวจากช่วง 4 เดือนแรก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยไปจีนในครึ่งแรกของปีนี้อาจติดลบราวร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันปี 2551 และมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ โดยอาจเติบโตร้อยละ 5-15 เนื่องจากฐานที่ต่ำของการส่งออกไปจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ที่หดตัวถึงร้อยละ 24 ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากภาวะศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายปี ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนทั้งปี 2552 อาจติดลบระหว่างร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 8 เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 9
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีน ได้แก่ นโยบายที่จีนประกาศในวันที่ 1 มิถุนายน ให้ใช้สินค้าภายในประเทศ (Buy Chinese) สำหรับโครงการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ยกเว้นสินค้าและบริการที่ไม่สามารถจัดหาในจีนและจำเป็นต้องนำเข้า แต่ต้องขออนุมัติจากทางการจีนก่อนเริ่มจัดซื้อ คาดว่ากฎระเบียบนี้อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนบ้างแต่คงไม่มากนัก เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าวเป็นการจัดซื้อของภาครัฐ ความต้องการของจีนต่อสินค้าส่งออกสำคัญๆ ของไทยเป็นสินค้าที่จีนผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญๆ ประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่ภาคอุตสาหกรรมของจีนนำเข้าจากไทยมักเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรมในจีน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และมอเตอร์/เครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงคาดว่ามาตรการ “Buy Chinese” ข้างต้นไม่น่าส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนมากนัก

สำหรับแนวโน้มการค้าระหว่างไทยกับจีนยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเสรีความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่มีกำหนดให้อาเซียนเดิม 6 ประเทศและจีนต้องลดภาษีศุลกากรระหว่างกันสำหรับสินค้าสัดส่วนร้อยละ 90 ให้อัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 นอกจากจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยไปจีนที่น่าจะขยายตัวดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของไทยจากจีนมีมูลค่าต่ำลง โดยจีนถือเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น สินค้านำเข้าส่วนใหญ่จากจีนเป็นสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากจีน การลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนภายใต้ความตกลงฯ จะช่วยลดต้นทุนนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากจีนทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจไทยลดลงตามไปด้วย

? ด้านการลงทุน
ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนของจีนในไทยมีทิศทางปรับดีขึ้น จำนวนโครงการของจีนที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นจาก 6 โครงการในช่วงเดียวกันปี 2551 เป็น 8 โครงการ มูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 161 เป็น 459.6 ล้านบาท จาก 176 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปี 2551 ประเภทโครงการลงทุนที่จีนสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดเป็นสินค้าเกษตรกรรม รองลงมาเป็นการลงทุนภาคบริการ เคมีภัณฑ์และกระดาษ และเหล็ก/เครื่องจักร ตามลำดับ ขณะที่โครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดในไทยในช่วง 4 เดือนแรกลดลงร้อยละ 76.3 โดยมูลค่าโครงการของประเทศในเอเชียล้วนปรับลดลงไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และประเทศอาเซียน ยกเว้นประเทศอินเดียที่เข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่าพุ่งสูงในระหว่างปี 2549-2550 โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนที่ยื่นของส่งเสริมการลงทุนในไทย 12.3 พันล้านบาทในปี 2549 และ 17.7 พันล้านบาทในปี 2550 แต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2550 ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงติดต่อกัน 7 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ทำให้มูลค่าโครงการลงทุนของจีนที่ยื่นของส่งเสริมการลงทุนในไทยลดเหลือ 1.5 พันล้านบาทในปี 2551

แนวโน้มการลงทุนของจีนในไทยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากแรงหนุนของมาตรการภาครัฐที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจีนปรับดีขึ้น รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของทางการจีน ส่งผลให้การลงทุนของภาคธุรกิจจีนขยายตัว ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากไทยประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนแล้ว ยังน่าจะเป็นแรงดึงดูดให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในไทย เพื่อสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจีนที่ยังเติบโตได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ สินค้าหลายรายการที่จีนนำเข้าจากไทยมีมูลค่าพุ่งขึ้นในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คาดว่านักลงทุนจีนมีแนวโน้มสนใจเข้ามาลงทุนผลิตยางพาราแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและพลังงานทางเลือกในไทยมากขึ้น ประกอบกับนโยบายของทางการจีนสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของจีน รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและพืชพลังงานทดแทน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งพืชผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ น่าจะเป็นแหล่งลงทุนที่นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ปัจจัยบวกที่ดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียน นอกจากประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านการค้าสินค้า ที่ทำให้นักลงทุนจีนสามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตในไทยกลับไปจีนโดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงเนื่องจากสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าทุนที่นำเข้าเสียภาษีในอัตราต่ำลง นอกจากนี้ ความตกลง FTA อาเซียน-จีน ภาคบริการชุดที่ 1 ที่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากการลงนามในเดือนมกราคม 2550 ส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจบริการหลายสาขาระหว่างอาเซียนรวมทั้งไทยและจีนมีความเป็นไปได้มากขึ้น ส่วนความตกลงด้านการลงทุนที่อาเซียนและจีนมีกำหนดลงนามในปี 2552 นี้ เป็นความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของอาเซียนและจีนในการเข้าไปลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้น เช่น การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันของนักลงทุนกรณีการชดเชยค่าเสียหายแก่นักลงทุนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ

? ภาคท่องเที่ยว
ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ลุกลามทั่วโลกรวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาลงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนจีน ทำให้ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงตามได้ด้วย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2551 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 โดยมีอัตราหดตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากจีนในไทยลดลงเหลือราวร้อยละ 600-700 แสนคนในปี 2551 เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยที่มีจำนวนปีละกว่า 1 ล้านคนในปี 2549-2550 สำหรับในปี 2552 ภาคท่องเที่ยวของไทยได้รับปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงจัดการประชุมผู้นำอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ในเดือนเมษายน รวมทั้งโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แพร่ไปทั่วโลก แม้ว่าความรุนแรงของโรคไม่มากนักเมื่อเทียบกับโรคระบาด SARs ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ปัจจัยการเมืองของไทยที่มีความมั่นคงขึ้นและหากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เริ่มบรรเทาลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

สรุป
แม้ว่าอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้แนวโน้มชะลอลงจากปี 2551 แต่เศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวเป็นบวกในปี 2552 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและการขนส่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาภาคชนบท เป็นต้น น่าจะขับเคลื่อนให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า วงจรพิมพ์ และแผงวงจรไฟฟ้า ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนพฤษภาคมหดตัวชะลอลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอาจเติบโตร้อยละ 5-15 เนื่องจากฐานที่ต่ำของการส่งออกไปจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ที่หดตัวถึงร้อยละ 24 ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายปี ส่วนการส่งออกของไทยไปจีนในครึ่งปีแรกคาดว่าอาจติดลบร้อยละ 20 (ส่งออกไปจีน 5 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 23) ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนทั้งปี 2552 อาจติดลบระหว่างร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 8 เทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 9

สำหรับแนวโน้มการค้าระหว่างไทยกับจีนยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเสรีความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่มีกำหนดให้อาเซียนเดิม 6 ประเทศและจีนต้องลดภาษีศุลกากรระหว่างกันสำหรับสินค้าสัดส่วนร้อยละ 90 ให้อัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยไปจีนที่น่าจะขยายตัวดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของไทยจากจีนมีมูลค่าต่ำลง โดยจีนถือเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น สินค้านำเข้าส่วนใหญ่จากจีนเป็นสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากจีน การลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนภายใต้ความตกลงฯ จะช่วยลดต้นทุนนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากจีนทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจไทยลดลงตามไปด้วย

ส่วนการลงทุนของจีนในไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้เริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้น มูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 161 เป็น 459.6 ล้านบาท จาก 176 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปี 2551 แนวโน้มการลงทุนของจีนในไทยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้เช่นกันตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากแรงหนุนของมาตรการภาครัฐที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจจีนปรับดีขึ้น รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของทางการจีน ส่งผลให้การลงทุนของภาคธุรกิจจีนขยายตัว ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากไทยประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนแล้ว ยังน่าจะเป็นแรงดึงดูดให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในไทย เพื่อสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจีนที่ยังเติบโตได้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่ขยายตัวได้ดี คาดว่านักลงทุนจีนมีแนวโน้มสนใจเข้ามาลงทุนผลิตยางพาราแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและพลังงานทางเลือกในไทยมากขึ้น ประกอบกับนโยบายของทางการจีนสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของจีน รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและพืชพลังงานทดแทน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งพืชผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ น่าจะเป็นแหล่งลงทุนที่นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ปัจจัยบวกที่ดึงดูดให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียน นอกจากประโยชน์ด้านภาษีจากความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านการค้าสินค้าที่ทำให้นักลงทุนจีนสามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตในไทยกลับไปจีนโดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเสียภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าทุนในอัตราต่ำลง ความตกลง FTA อาเซียน-จีน ภาคบริการชุดที่ 1 ที่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากการลงนามในเดือนมกราคม 2550 ส่งผลให้การลงทุนในธุรกิจบริการหลายสาขาระหว่างอาเซียนรวมทั้งไทยและจีนมีความเป็นไปได้มากขึ้น ส่วนความตกลงด้านการลงทุนที่อาเซียนและจีนมีกำหนดลงนามในปี 2552 นี้ เป็นความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของอาเซียนและจีนในการเข้าไปลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยการเมืองของไทยที่คาดว่าจะมีความมั่นคงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น และหากการลุกลามของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ลดความรุนแรงลงและสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้