ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป ไทยและประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีนำเข้า (ภาษีร้อยละ 0 ) สินค้านับหลายพันรายการระหว่างกันตามข้อตกลงการเปิดตลาดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 7 ฉบับ โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าในกรอบอาฟตา FTA ไทย-อินเดียและ FTA อาเซียน-จีน ที่จะมีผลให้สินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษี (Inclusion List) มีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ของผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าเข้าไปในตลาดของประเทศคู่เจรจาในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในกลุ่มสินค้าชนิดเดียวกัน แม้ว่าไทยและประเทศคู่เจรจาได้ทยอยลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันจนสินค้ากว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้ามีภาษีอยู่ระดับต่ำแล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งศึกษาหาแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้นพร้อมกับเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลดและยกเลิกภาษีภายใต้กรอบความตกลงฯ FTA เกือบ 10 ฉบับที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันและครอบคลุมสินค้าหลายรายการ
การเปิดตลาดสินค้าในกรอบความตกลงฯ FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 7 ฉบับส่งผลให้ไทยและประเทศคู่เจรจาได้ลดและยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้สินค้าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าในปีหน้าจะมีสินค้าอีกหลายรายการที่จะเริ่มลดและยกเลิกภาษีเพิ่มเติมจากความตกลงฯ ที่จะมีผลบังคับใช้อีก 2 ฉบับ คือ อาเซียน-อินเดีย และ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จะทำให้สินค้าอีกหลายรายการมีอัตราภาษีลดลงหรือถูกยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ การเปิดตลาดสินค้าระหว่างไทยกับประเทศภาคีภายใต้ความตกลงฯ FTA ที่จะเพิ่มจำนวนจาก 7 ฉบับเป็น 9 ฉบับในปี 2553 ย่อมจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่เจรจาได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและอินเดียที่มีความตกลงฯ FTA กับไทยทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศญี่ปุ่นและอินเดียจะสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตของผู้ประกอบการแต่ละรายมากที่สุด เพราะผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากประเทศอาเซียนมาเข้ามาผลิตสินค้าโดยมีต้นทุนการผลิตในประเทศต่ำกว่าร้อยละ 40 จะไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ไทย-อินเดีย และ FTA ไทย-ญี่ปุ่นได้ เนื่องจากไทยไม่สามารถนำวัตถุดิบจากประเทศอาเซียนซึ่งไม่ได้เป็นประเทศคู่เจรจาในความตกลง FTA ทวิภาคีเข้ามาสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าได้ ในขณะที่กฎแหล่งกำเนิดสินค้าของ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นจะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถนำต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศอาเซียนมารวมกับต้นทุนที่ผลิตในประเทศไทยจนมีสัดส่วนต้นทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยมีเงื่อนไขว่าสินค้าส่งออกนั้นต้องใช้วัตถุดิบในประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ 20 ของราคาสินค้า จึงจะได้แหล่งกำเนิดสินค้าและสามารถใช้สิทธิจากการลดภาษีในกรอบ FTA ทั้งนี้การเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้กรอบอาฟตาที่กำหนดให้อาเซียนเดิม 6 ประเทศรวมถึงไทยต้องลดภาษีสินค้าทุกรายระหว่างกันเหลือร้อยละ 0 ในปีหน้าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับโครงสร้างการผลิตโดยหันไปใช้วัตถุดิบจากอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สินค้าไทยมีโอกาสได้แหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงฯ FTA อื่นๆ ที่อาเซียนทำกับประเทศคู่เจรจาได้ง่ายขึ้น
กล่าวโดยสรุปคือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป สินค้าของไทยและประเทศคู่เจรจาในทุกกรอบความตกลงฯ ที่มีผลบังคับใช้แล้วถึงกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมดจะมีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 ยกเว้นการลดภาษีของไทยและญี่ปุ่นในกรอบ JTEPA หรือ FTA ไทย-ญี่ปุ่น ที่จะยกเลิกภาษี (ภาษีร้อยละ 0) เฉพาะสินค้าเพียงร้อยละ 60-80 ของจำนวนพิกัดสินค้า โดยความตกลงฯ FTA ที่ไทยและประเทศคู่เจรจาจะเปิดตลาดสินค้าระหว่างกันสูงสุดคือ อาฟตา FTA ไทย-อินเดีย FTA อาเซียน-จีน เพราะสินค้าทุกรายการในกลุ่มสินค้าที่นำมาลดภาษีตามปกติ (Normal Track) ของทุกประเทศภาคีจะถูกยกเลิกภาษีทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะสามารถส่งออกมากขึ้นคือ ปลาแซลมอนปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีน ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบรถยนต์ ตู้เย็น มอเตอร์ไฟฟ้า อาหารปรุงแต่ง ปลาหมึกแช่แข็ง ปู เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยจะยกเลิกภาษีได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก กระดาษ ยา ฝ้าย ผ้าผืน อะลูมิเนียม ทองแดง หล็ก ไม้ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เซรามิก แก้วและกระจก และยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในแต่ละความตกลงฯ ได้เปิดโอกาสให้ไทยและประเทศคู่เจรจาสามารถนำสินค้าที่มีความสามารถการแข่งขันต่ำและต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกระยะหนึ่งเข้าไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวและสินค้าอ่อนไหวสูงซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยสินค้าอ่อนไหวจะยืดเวลาการลดภาษีออกไปและจะลดภาษีจนถึงระดับที่ได้ตกลงกันไว้ ขณะที่รายการสินค้าอ่อนไหวสูงซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่จะได้รับการปกป้องพิเศษเพราะประเทศคู่เจรจาสามารถนำมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับหลัก WTO เข้ามาใช้ปกป้องเพิ่มเติมได้ด้วย ในกรณีของอาฟตาที่กำหนดให้ไทยรวมถึงอาเซียนเดิมอีก 5 ประเทศจะต้องลดภาษีสินค้าทุกรายการเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ยกเว้นรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าเกษตรจะมีภาษีร้อยละ 5 โดยไทยมี 13 รายการจาก 4 กลุ่มสินค้าคือดอกไม้สด มะพร้าวแห้ง กาแฟและมันฝรั่ง ลาวมี 88 รายการ ส่วนฟิลิปปินส์มีสินค้าอ่อนไหว 58 รายการและสินค้าอ่อนไหวสูง 4 รายการจาก 1 กลุ่มสินค้าคือ ข้าว
แม้ว่าไทยและประเทศคู่เจรจาได้ทยอยลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันจนสินค้ากว่าร้อยละ 90 มีภาษีอยู่ในระดับต่ำ แต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2552 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศคู่เจรจาในกรอบ FTA มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 32.5 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยประเทศที่ไทยส่งออกภายใต้กรอบ FTA สูงอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น เนื่องจากไทยได้ลดภาษีจนสินค้านำเข้าถึงร้อยละ 90.5 ของมูลค่าการนำเข้าในปี 2549 มีภาษีร้อยละ 0 แล้วในปัจจุบัน ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยไปยังอินเดียภายใต้ FTA ที่อินเดียเปิดตลาดให้สินค้าไทยเพียง 82 รายการจากจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมด ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิจาก FTA ในการส่งออกสินค้า 82 รายการถึงร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกสินค้า 82 รายการทั้งหมด ดังนั้นหากมีการยกเลิกภาษีสินค้าเพิ่มเติมอีกในปีหน้าอาจจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปปัจจัยที่อาจมีผลต่อโอกาสการส่งออกของไทยรวมถึงเสนอแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์และการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยหลังการยกเลิกภาษีสินค้าในปีหน้า ดังนี้
– สินค้าไทยหลายรายการมีภาษีต่ำอยู่แล้ว การยกเลิกภาษีสินค้าในปีหน้าจึงอาจจะทำให้ราคาวัตถุดิบที่ไทยนำเข้าหรือราคาสินค้าไทยในตลาดประเทศคู่เจรจาเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เช่นการยกเลิกภาษีสินค้าทุกรายการในกลุ่มสินค้าปกติของอาฟตาอาจจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีการลดภาษีไปแล้วไม่มาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่มีอัตราภาษีนำเข้าเส้นด้ายและเครื่องจักรกลเท่ากับร้อยละ 1 และผ้าผืนเท่ากับร้อยละ 5 ขณะที่เครื่องนุ่งห่มไทยได้รับการยกเลิกภาษีทั้งภายใต้กรอบอาฟตาและกรอบอาเซียน-จีนอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจาก FTA ไม่สามารถขยายตัวได้มากเท่าที่ควร เกิดจากผู้ผลิตสินค้าไทยไม่สามารถตอบสนองต่อรสนิยมของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศได้และผู้บริโภคยังยอมรับและเชื่อถือตราสินค้าไทยในวงจำกัด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรเน้นการพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความหลากหลายและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดควบคู่กับสร้างการรับรู้คุณประโยชน์ที่เป็นจุดเด่นของสินค้า
– สินค้าไทยที่มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงมักได้รับการปกป้องจากประเทศคู่ค้า เช่น การเปิดตลาดของอาฟตานั้น ข้าวและน้ำตาลจัดเป็นสินค้าอ่อนไหวสูงที่ 3 ประเทศอาเซียนคือ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ขอสงวนไว้ โดยในปีหน้าภาษีข้าวของ 3 ประเทศจะมีอัตราภาษีสูงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่ไทยจะยกเลิกภาษีนำเข้าข้าวและน้ำตาลให้กับอาเซียน การส่งออกข้าวไทยจึงยังคงเผชิญกับอุปสรรคทางภาษีที่ยังคงอยู่และอาจจะแข่งขันกับสินค้าข้าวจากต่างประเทศที่จะเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้หลายประเทศในอาเซียนยังมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและการอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ เพราะได้บทเรียนจากวิกฤตอาหารในช่วงที่ผ่านมา โดย มูลค่าการส่งออกข้าวจากไทยไปยังมาเลเซียในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ลดลงถึงร้อยละ 82.24 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 209.74 แม้ว่าจะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาข้าวที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการผลิตข้าวในประเทศมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายสนับสนุนการปลูกข้าวเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศของมาเลเซีย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลผลิตทางเกษตร โดยควรสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคพร้อมกับพัฒนาคุณภาพของสินค้าโดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศคู่เจรจามีแนวโน้มจะนำมาใช้มากขึ้นหลังการยกเลิกภาษีไปแล้ว
– สินค้าของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศไทย เพราะ1.) โครงสร้างการผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ข้อนี้คือ ก.) ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้กับสินค้าเกษตรเช่น พืช สัตว์มีชีวิตและแร่ ข.) สินค้าต้องแปรสภาพจากวัตถุดิบอย่างเพียงพอ โดยพิจารณาจากพิกัดสินค้าเป็นหลัก ค.) สินค้าจะต้องมีการใช้วัตถุดิบในประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้า จึงไม่สามารถใช้สิทธิ FTA ในการส่งออกสินค้าได้ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ผลิตของไทยได้กระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้การเปิดตลาดของ 6 ชาติอาเซียนภายใต้กรอบอาฟตาในปีหน้าอาจจะเป็นแต้มต่อสำคัญที่ช่วยให้การปรับโครงสร้างการผลิตของผู้ประกอบการไทยง่ายขึ้นเพราะไม่เพียงแต่ต้นทุนทางภาษีของสินค้านำเข้าจากอาเซียนจะลดลง ผู้ผลิตไทยยังสามารถสะสมแหล่งกำเนิดจากอาเซียนได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้า ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของอาฟตาไปยังประเทศอาเซียนจะต้องแสดงแบบฟอร์ม D ของกรมการค้าต่างประเทศเพื่อแสดงต่อประเทศนำเข้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2555 อาเซียนจะเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเองเหมือน FTA ไทย-นิวซีแลนด์แทนการยื่นขอจากหน่วยงานภาครัฐ 2.) ประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไม่สูงนักทำให้กรอกข้อมูลต้นทุนสินค้าไม่ครบถ้วนหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเมื่อมีการตรวจพบจากประเทศคู่ค้าในภายหลังจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยถูกเรียกเก็บค่าปรับในอัตราที่สูงกว่าการเสียภาษีตามปกติ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวก้บกฎแหล่งกำเนิดสินค้าของแต่ละความตกลงฯ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการส่งออกได้สูงสุด
– มาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบทางเทคนิคของคู่เจรจาเป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกภายใต้ FTA จากการศึกษาผลกระทบจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีของผู้ประกอบการไทย 400 รายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในปี 2550 พบว่า ผู้ส่งออกไทยกว่าร้อยละ 63.0 ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะมาตรการสุขอนามัย (SPS) ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารไทยไม่สามารถเข้าตลาดส่งออกได้ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมักได้รับผลกระทบจากมาตรการด้านเทคนิคเช่น การติดฉลากสินค้า นอกจากนี้ยังมีการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการสิ่งแวดล้อมและแรงงานเป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หลังยกเลิกมาตรการภาษีระหว่างกันแล้ว ประเทศคู่เจรจามีแนวโน้มจะนำมาตรการที่มิใช่ภาษีทอาทิ มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงกฎระเบียบทางเทคนิคมาใช้มากขึ้นทั้งในด้านความเข้มงวดและครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายในอนาคต นอกจากนี้กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม การต่อต้านภาวะโลกร้อน รวมถึงจริยธรรมผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อาจจะกลายเป็นมาตรการทางการค้าในกระบวนการค้าระหว่างประเทศและอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการไทยที่ไม่สามารถปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
บทสรุป ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยและประเทศคู่เจรจาจะยกเลิกภาษีสินค้าหลายพันรายการในกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 7 ฉบับและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า 2 ฉบับคือ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ทั้งนี้สินค้าทุกรายการในบัญชีลดภาษีของอาฟตา FTA ไทย-อินเดียและ FTA อาเซียน-จีนจะมีอัตราภาษีเหลือร้อยละ 0 แม้ว่าสินค้าไทยและคู่เจรจากว่าร้อยละ 90 ของจำนวนพิกัดสินค้าทั้งหมดจะมีอัตราภาษีเท่ากับร้อยละ 0 แต่ในปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังคงใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาไม่มากนัก ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากโครงสร้างการผลิตของไทยที่ไม่สอดคล้องกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้าทำให้สินค้าไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA สินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูงโดยเฉพาะสินค้าเกษตรมักถูกประเทศคู่เจรจานำไปไว้ในรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งมีภาษีสูงและมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีรวมถึงกฎระเบียบทางเทคนิคที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 ที่สำคัญได้แก่ ปลาแซลมอนปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีน ยางรถยนต์ ถุงมือยาง เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบรถยนต์ ฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า อาหารปรุงแต่ง ปลาหมึกแช่แข็ง ปู เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่มีโอกาสได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ประเทศคู่เจรจามักมีมาตรการการนำเข้าที่ค่อนข้างเข้มงวดหรือไทยมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งอาทิ สินค้าเกษตรที่ไทยจะยกเลิกโควตาในกรอบอาฟตา 10 รายการ ได้แก่ มะพร้าว เนื้อมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว น้ำนมดิบ นมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟคั่วและผลิตภัณฑ์กาแฟ เมล็ดถั่วเหลือง และข้าว เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่เจรจาควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละความตกลง แนวทางหนึ่งคือ การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีในการสร้างเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำในกระบวนการผลิตจนถึงภาคการส่งออกเพื่อให้สินค้ามีต้นทุนการผลิตต่ำลง มีโอกาสได้รับแหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศไทยได้มากขึ้นและสามารถผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแบบย้อนกลับในตลาดต่างประเทศได้ นอกจากนี้ผู้ผลิตควรจะพัฒนาและแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้นโดยเน้นการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้า ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและต่อต้านโลกร้อนรวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมเพราะคาดว่าประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่เจรจามากขึ้นในอนาคต