ประเด็นสำคัญจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ปดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยประจำไตรมาส 1/2553 ลดลง 10% มาอยู่ที่ 135 จากเดิม 150 ในไตรมาส 4/2552 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากวิกฤติทางการเมืองได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชียยังคงอยู่ในระดับเดิม (ระดับที่ 145 ในไตรมาส 1/2553 เทียบกับ 147 ในไตรมาส 4/2552) เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับอนาคตภายหลังวิกฤติทางการเงินนักลงทุนให้ความระมัดระวังกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งถือเป็นประเทศหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังรอคอยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาทางด้านตลาดการจ้างงาน ก่อนเพิ่มการลงทุนของตน นักลงทุนชาวไทยส่วนใหญ่เชื่อว่า สถานภาพทางการเงินในระดับครัวเรือนจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังคงใช้ลู่ทางการลงทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้ นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังยอมรับว่า ตนเป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์การลงทุน หรือมีประสบการณ์น้อยมาก และต้องการคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอัตราเงินเฟ้อประจำปี 2553 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5 – 5.5% ส่งผลให้นักลงทุนไทยเลิกให้ความสำคัญกับการลงทุนประเภทเงินฝากประจำที่ปลอดภัยแต่ให้ผลตอบแทนต่ำ
ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินระดับโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ 135 ในไตรมาส 1/2553 จาก 150 ในไตรมาส 4/2552 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจในปี 2552
มีการฟื้นตัวอย่างมั่นคงภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวคือการส่งออก ขณะที่นักลงทุนเริ่มละความสนใจจากอุตสาหกรรมการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และหันมานิยมอุตสาหกรรมการลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางมากขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเฉลี่ยของนักลงทุนในภูมิภาคแพนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) คงตัวอยู่ในระดับที่ 145 ในไตรมาส 1/2553 ซึ่งถือเป็นระดับใกล้เคียงกับ 147 ในไตรมาส 4/2552 แต่สูงกว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในระดับที่ 73 ในไตรมาส 4/2551 ถึง 2 เท่า และยังคงอยู่ในแดนบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4
นายต่อ อินทวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจกองทุนและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนครั้งนี้ว่า “ผลการวิจัยดังกล่าวระบุว่า ความตึงเครียดทางการเมืองอย่างต่อเนื่องได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวไทย อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการเติบโตถึง 7.2% ในไตรมาส 1/2553 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ นักลงทุนต่างชาติที่ได้ขนเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในไตรมาสที่ผ่านมา เสริมด้วยการปรับเพิ่มประมาณการณ์ผลกำไร การเติบโตของผลกำไร และการฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ และเราคาดว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะดีดตัวพุ่งขึ้นถึง 850 – 880 จุด ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน”
“ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่หาเงินได้ง่าย แต่ปี 2553 จะเป็นปีที่หาเงินได้ยากขึ้นเล็กน้อย ในปี 2552 ตลาดหุ้นหลายแห่งมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ในปีที่ผ่านมาจะได้รับผลตอบแทนอย่างงดงาม” นายต่อ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า นักลงทุนไทย 50% คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/2553 เทียบกับในไตรมาส 4/2552 ที่มีนักลงทุนชาวไทย 67% คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะปรับเพิ่มขึ้น
“จากการสำรวจดังกล่าว พบว่า นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 9.06% ในไตรมาส 2/2553 โดยนักลงทุน 53% เผยว่า จะมุ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งไอเอ็นจีมองว่าก่อให้เกิดผลดีอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนชาวไทยจำเป็นต้องเข้าใจว่า การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงโอกาสในการทำกำไรดีๆ ได้จากทั่วโลก” นายต่อ กล่าว
“ประเทศไทยนับว่ามีมูลค่าตลาดน้อยกว่า 1% ของมูลค่าการลงทุนโดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งหมายความว่านักลงทุนไทยกำลังพลาดโอกาสดีๆ ในการเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ทั่วโลก ที่มีสัดส่วนรวมกันแล้วสูงถึง 99% ดังนั้น ผู้บริหารการลงทุนระดับโลกอย่างไอเอ็นจีจึงมีภารกิจสำคัญในการเรียนรู้ทำความเข้าใจประเด็นสำคัญต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก อาทิ วิวัฒนาการด้านดิจิตอลและประชากรสูงวัย และเลือกลงทุนในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากแนวคิดดังกล่าว เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะปานกลางถึงยาว ดังนั้น นักลงทุนไทยจึงจำเป็นต้องขยายการลงทุนสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น” นายต่อ กล่าวเสริม
การบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และมุมมองด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวกยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่เพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
ความเชื่อมั่นนักลงทุนจีนและอินเดียยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด เนื่องจากมีการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเผยว่า นักลงทุนชาวจีนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินและสินเชื่อของรัฐที่ตึงตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหดตัวลง 2.5% จากไตรมาส 4/2552
ความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากนักลงทุนในประเทศดังกล่าวคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีนในปี 2553 ปัจจุบัน นักลงทุนฮ่องกง 71% และนักลงทุนสิงคโปร์ 80% เชื่อมั่นว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสหน้า ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
สำหรับความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นแบบผสม โดยนักลงทุนมาเลเซียและ
ฟิลิปปินส์มีมุมมองเชิงบวก ขณะที่นักลงทุนในอินโดนีเซียและไทยจะได้รับผลกระทบจากความวิตกทางการเมือง (ให้ดูภาคผนวกเกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นของประเทศต่างๆ)
นักลงทุนเอเชียติดตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างใกล้ชิด ทั้งยังให้ความสนใจกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษ ในสายตาของนักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) สองแรงสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน โดยมีนักลงทุนเอเชียจำนวน 76% และ 68% ระบุว่าประเทศดังกล่าวคือปัจจัยผลักดันสำคัญ ตามลำดับ ทั้งนี้ นักลงทุนเอเชียมีการติดตามและรับมือการพัฒนาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีนในปี 2553 อย่างใกล้ชิด ตลอดจนมุ่งให้ความสำคัญกับสัญญาณที่บ่งชี้ถึงรากฐานอันแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ นักลงทุนเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา โดยนักลงทุน 38% คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ใน 1 ปี เทียบกับนักลงทุน 53% และ 61% ที่มีมุมมองดังกล่าวในไตรมาส 4/2552 และไตรมาส 3/2552 ตามลำดับ นอกจากนี้ มีนักลงทุนเพียงไม่กี่ราย (ยกเว้นนักลงทุนฮ่องกง) ที่มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสหน้า
นักลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมของไทยยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้น
นักลงทุนชาวไทยเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงในการลงทุน อย่างไรก็ตาม รูปแบบการลงทุนในระยะยาวได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ผลสำรวจดังกล่าวเผยว่า นักลงทุนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดการเงินและเรื่องของการลงทุนในระดับต่ำ โดยนักลงทุน 60% เผยว่า มีความรู้และประสบการณ์ด้านการลงทุนเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย หรือค่อนข้างเป็นผู้ไม่มีประสบการณ์ และนักลงทุน 79% ต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการลงทุนหรือคำยืนยันเกี่ยวกับเสถียรภาพของพอร์ตการลงทุนของตน ทั้งนี้ มร. แมทธิว วิลเลี่ยมส์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า “กองทุนรวมยังคงเป็นหนึ่งในช่องทางการลงทุนที่สะดวกและง่ายที่สุด”
“กองทุนรวม คือ การนำเงินทุนของนักลงทุนไปอยู่ภายใต้การดูแลและบริหารของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนซึ่งจะทำหน้าที่เลือกซื้อและขายหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ การลงทุนในกองทุนรวมจะช่วยประหยัดเวลาในการบริหารจัดการให้แก่นักลงทุนรายย่อยซึ่งไม่ต้องเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยตรง โดยจะมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณาเลือกสรรวิธีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และคัดกรองพอร์ตการลงทุนอย่างรอบคอบ ดังนั้น กองทุนรวมจึงเป็นวิธีการลงทุนที่สะดวกและง่ายกว่าการเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เองโดยตรง นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีกระบวนการลงทุนที่ชัดเจน ดังนั้น การลงทุนผ่านกองทุนรวมภายใต้การดูแลของผู้จัดการกองทุนจะทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่ต้องเสียเวลากับการคาดเดาและลดความรู้สึกเครียดกับการลงทุนของตนได้เป็นอย่างดี” มร. วิลเลี่ยมส์ กล่าวเสริม
มร. วิลเลี่ยมส์แนะนำให้นักลงทุนถามตนเองว่า ทำไมจึงเลือกที่จะลงทุนและกำหนดระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ นักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับความพร้อมในการรับความเสี่ยง การศึกษาทำความเข้าใจถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้จะทำให้นักลงทุนสามารถรับมือกับสภาวะผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า มีนักลงทุนสูงถึง 90% ที่มีความพร้อมที่จะรับการขาดทุนจากการลงทุนได้ในระดับ 10 – 30 % เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่สูงอย่างคาดไม่ถึงสำหรับนักลงทุนชาวไทยที่มีรูปแบบการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม ขณะที่ตลาดการลงทุนในกองทุนรวมของไทยมุ่งเน้นการลงทุนในเงินสดและเงินได้ประจำมากกว่า 74%
นักลงทุนชาวไทยมีมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยยอมรับการลงทุนในระยะยาวที่มีความหลากหลายและสมดุลเพิ่มขึ้น ผลสำรวจระบุว่า นักลงทุนในหลักทรัพย์ของไทย 44% เตรียมเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยในไตรมาสหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนไทยยังเตรียมขยายการลงทุนสู่ด้านอื่นๆ ได้แก่ การลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศ (38%) กองทุนรวมและหน่วยลงทุนในต่างประเทศ (44%) ทองคำ (57%) และหลักทรัพย์ในต่างประเทศ (42%) ซึ่งตอกย้ำว่า นักลงทุนไทยมีความเชื่อมั่นอย่างแข็งแกร่งว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงในปี 2553
นักลงทุนไทยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น โดยความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4/2552
“สิ่งที่เรากังวล คือ ผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อการถือครองเงินสดของนักลงทุนไทย ทั้งนี้ นักลงทุนไทยซึ่งยังคงถือครอง
เงินสดมาตลอดปีจะเริ่มเห็นถึงอำนวจการซื้อที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 5% และหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะเวลา 1 ปี อยู่ที่ 1% ในปีนี้ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงจะเท่ากับ -4% สำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะให้เงินปันผลเฉลี่ย 3.5% ในกรณีที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 750 ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนด้านรายได้ที่สูงกว่าการถือครองเงินสดและพันธบัตร” มร. วิลเลี่ยมส์ กล่าวปิดท้าย
สำหรับข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของไอเอ็นจี กรุ๊ป และผลสำรวจล่าสุดสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.ing.asia/investor_dashboard