โอกาสสินค้าไทยในช่วงครึ่งหลังปี 53 … เร่งใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาด CLMV

การส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มสมาชิกใหม่ของอาเซียน (CLMV) อย่างกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น หลังจากกลุ่ม CLMV ลดภาษีสินค้าจนเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ในช่วงต้นปี ตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ภายใต้กรอบ AFTA เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ที่ยังคงอยู่ในแดนบวกในช่วงครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ในยุโรปต่อกลุ่ม CLMV น่าจะไม่มากนัก กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับภาคการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเจาะตลาด CLMV ควรคำนึงถึงศักยภาพของสินค้าส่งออกไทยและสภาพตลาดของกลุ่ม CLMV เพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงและแข่งขันกับสินค้าจากคู่แข่งได้ เพราะการเปิดตลาดสินค้าในกรอบ AFTA อาจจะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนภาษีต่ำลง แต่สินค้าไทยอาจเผชิญกับมาตรการที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ รวมถึงการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มี FTA กับ CLMV อย่างจีนและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

เศรษฐกิจ CLMV มีขนาดเล็กแต่เติบโตสูง…เน้นจับกลุ่มผู้บริโภคและเจาะเมืองสำคัญ

แม้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV จะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทย แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของ CLMV แม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ที่ประเทศอาเซียนเดิมต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว แต่ประเทศ CLMV (ยกเว้นกัมพูชา) ยังคงมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะเศรษฐกิจลาว ที่แม้ว่าจะพึ่งพาการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน เหมืองแร่และการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง แต่ยังสามารถขยายถึงร้อยละ 7.2 ในปี 2552 สูงเป็นลำดับที่ 2 ของเอเชียรองจากจีน ส่วนเศรษฐกิจพม่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกค่อนข้างน้อย เพราะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทำให้พม่าซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจจีนและประเทศอาเซียนอย่างมาก มีแนวโน้มจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในปีนี้ตามเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจของกัมพูชาและเวียดนาม ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า จึงไม่สามารถหลบเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกไปได้ ทั้งนี้เศรษฐกิจของกัมพูชาหดตัวถึงร้อยละ 2.5 เพราะรายได้หลักจากการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปหดตัวลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกน้อยกว่ากัมพูชา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวียดนามมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่กว่ากัมพูชาถึง 6.2 เท่า และชาวเวียดนามมีกำลังซื้อสูงกว่าชาวกัมพูชา อีกปัจจัยหนึ่งคือ เวียดนามพึ่งพาการส่งออกสินค้าหลายชนิดและกระจายตลาดไปทั่วโลก

เศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในขณะนี้ไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของ CLMV พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากประเทศในแถบเอเชียเป็นหลักโดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงชาติอาเซียนคือ ไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเศรษฐกิจของลาวและพม่า มีรายได้หลักจากการส่งออกพลังงานอาทิ ไฟฟ้าพลังน้ำของลาว รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่าให้กับจีนและอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูงในปีนี้ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของกัมพูชาและเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตามภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะประเทศนักลงทุนหลักคือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น

AFTA และ FTA กรอบอาเซียน 5 ฉบับ …เพิ่มโอกาสสินค้าไทยในตลาด CLMV

การเปิดตลาดสินค้าของไทยภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีถึง 6 ฉบับที่ไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV มีร่วมกันภายใต้ FTA กรอบอาเซียน ช่วยให้สินค้าไทยได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการเข้าสู่ตลาด CLMV ทั้งด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยในปี 2553 นี้มี FTA 2 ฉบับที่กลุ่ม CLMV ลดภาษีสินค้าให้กับไทยจนอยู่ในระดับต่ำและจะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในอีก 5 ปีคือ AFTA และFTA อาเซียน-จีน ขณะที่ FTA อีก 3 ฉบับที่ไทยเพิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2553 นี้ คือ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ FTA อาเซียน-อินเดียและ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ถือเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับสินค้าไทยในตลาด CLMV โดยเฉพาะสินค้าไทยที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศคู่เจรจานอกอาเซียนสูงกว่าร้อยละ 40 สามารถใช้การสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าในการเจาะตลาด CLMV ได้

AFTA และ ACFTA ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ค่อนข้างมากเพราะ AFTA กำหนดให้สมาชิกเดิม 6 ประเทศ ประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ต้องลดภาษีสินค้าในบัญชีลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ส่วนสมาชิกใหม่อย่างกลุ่ม CLMV จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ในปี 2553 และทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่อาเซียนก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นอกจากนี้ ACFTA กำหนดให้อาเซียนเดิมและจีนลดภาษีระหว่างกันเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าปกติ ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ขณะที่ CLMV จะลดภาษีเหลือไม่เกินร้อยละ 15 ในปี 2554 และทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558 หากพิจารณาการลดภาษีของ AFTA และ ACFTA กล่าวได้ว่า ในปี 2553 สินค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการลดภาษีของ CLMV ภายใต้กรอบ AFTA ได้มากกว่า ACFTA และ CLMV ผูกพันการเปิดตลาดสินค้าในกรอบ AFTA หรือมีจำนวนสินค้าที่ที่มีภาษีร้อยละ 0 มากกว่าในกรอบ ACFTA สินค้าไทยใน CLMV จึงน่าจะได้แต้มต่อภายใต้ AFTA มากกว่าสินค้าจากจีน

แม้ว่าการลดหรือยกเลิกภาษีในกรอบ AFTA ในปี 2553 อาจมีผลกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าของอาเซียนเดิมอยู่ในระดับต่ำและสินค้าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีร้อยละ 0 ไปแล้ว นอกจากนี้การลดภาษีจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0 อาจจะให้สินค้าไทยมีต้นทุนทางภาษีลดลงไม่มากนัก แต่การลดภาษีของอาเซียนใหม่จากที่สูงกว่าร้อยละ 60 เหลือไม่เกินร้อยละ 25 ในปีที่ผ่านมา และเหลือไม่เกินร้อยละ 0-5 ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 ช่วยให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดอาเซียนใหม่ขยายตัวขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.9 (YoY) เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ร้อยละ 49.7 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ภายใต้กรอบ AFTA น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยและความต้องการสินค้าในตลาด CLMV ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

การส่งออกสินค้าไปยังตลาด CLMV โดยใช้สิทธิทางภาษีจาก AFTA สามารถขยายตัวเป็นบวกขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนโดยรวมหดตัวลงในปี 2552 ส่วนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 (YoY) สูงกว่าการส่งออกรวมของไทยไปยังตลาด CLMV ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 (YoY) โดยตลาดที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้ AFTA สูงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 คือ เวียดนามและลาว หลังจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวถึงกว่าร้อยละ 80.0 (YoY) หากพิจารณาตลาดส่งออกที่ไทยมีอัตราการใช้สิทธิ AFTA สูง (สัดส่วนการส่งออกภายใต้ AFTA ต่อการส่งออกรวม) พบว่าผู้ส่งออกไทยมีอัตราการใช้สิทธิฯ ไปเวียดนามสูงถึงร้อยละ 55.2 ขณะที่กัมพูชา ลาวและพม่ามีอัตราใช้สิทธิราวร้อยละ 0.6-3.8 สาเหตุหนึ่งที่ไทยใช้สิทธิ AFTA ส่งออกสินค้าไปยังลาว พม่าและกัมพูชาน้อย อาจเป็นเพราะการค้าระหว่างไทยกับทั้งสามประเทศซึ่งมีพรมแดนติดกับไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นการค้าตามแนวชายแดน ซึ่งมักไม่ผ่านระบบภาษีศุลกากรระหว่างประเทศอยู่แล้ว ในขณะที่การค้ากับเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นการค้าผ่านแดนจากชายแดนกัมพูชาไปยังเวียดนาม ซึ่งบางส่วนอาจไม่ผ่านระบบศุลกากรเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ว่ากลุ่ม CLMV ยังคงมีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากและประชากรส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียนเดิม อีกทั้งการลดภาษีภายใต้กรอบ AFTA ที่กลุ่ม CLMV ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนสินค้าส่วนใหญ่มีภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ 5 สินค้าไทยจึงอาจได้ประโยชน์จากการลดและยกเลิกภาษีของกลุ่ม CLMV ในปี 2558 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ CLMV น่าจะมีอัตราสูงกว่าตลาดอาเซียนเดิมในช่วงปี 2554-2558 ก่อนที่อาเซียนจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อาจทำให้ตลาด CLMV มีศักยภาพเพิ่มขึ้นที่จะรองรับสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูงในปัจจุบันอาทิ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของ CLMV มากที่สุด

ประกอบกับศักยภาพในการรองรับสินค้าไทยของกลุ่มผู้บริโภคท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของประชากรผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไปและอายุเฉลี่ยของคนวัยทำงานในแต่ละประเทศที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากผู้ส่งออกไทยควรจะต้องให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก AFTA แล้ว การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศ CLMV ควรเน้นการคัดเลือกสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะเข้าไปทำตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงและเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่ม CLMV แต่ละประเทศยังคงมีการกระจุกตัวของผู้บริโภคเป้าหมายของสินค้าไทยในบางพื้นที่เท่านั้น ทั้งนี้ประเภทสินค้าส่งออกไทยและพื้นที่ที่ควรเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม CLMV จำแนกเป็นรายประเทศได้ดังนี้

บทสรุปและข้อเสนอแนะ การส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มสมาชิกใหม่ของอาเซียน (CLMV) อย่างกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ CLMV ที่ยังคงเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาการเงินในยุโรปน่าจะมีผลต่อ CLMV ไม่มากนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในอนาคตโอกาสการส่งออกของไทยในตลาด CLMV น่าจะเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก แม้ว่าเศรษฐกิจของ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าตลาดอาเซียนเดิมในช่วงปี 2554-2558 เนื่องจากกลุ่ม CLMV ยังคงมีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากและประชากรส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาเซียนเดิม นอกจากนี้อัตราภาษีนำเข้าของกลุ่ม CLMV ที่ทะยอยลดภาษีมาอย่างต่อเนื่องจนสินค้าส่วนใหญ่มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 5 อาจจะทำให้สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการทยอยลดและยกเลิกภาษีของกลุ่ม CLMV ในปี 2558 ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่มีอัตราภาษีค่อนข้างสูงในปัจจุบันเช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีของ CLMV มากที่สุด ประกอบกับกำลังชื้อของคนท้องถิ่นที่มีอายุแรงงานเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญโดยเน้นคัดเลือกสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะเข้าไปทำตลาด โดยเฉพาะเมืองหลวงและเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขั้น ทั้งนี้สินค้าไทยอาจเผชิญกับมาตรการที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ รวมถึงการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มี FTA กับ CLMV อย่างจีนและสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

ประเภทสินค้าส่งออกไทยที่ควรเข้าไปทำตลาดในกลุ่ม CLMV อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค (สบู่ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาผิว) ผ้าผืน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซม ยางรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่ง หมวกกันน็อค อุปกรณ์เสริมสำหรับรถจักรยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลทางการเกษตรและสินค้าเพื่อสุขภาพ/ความงาม (เวชสำอางค์ อุปกรณ์ทำสีผม น้ำมันหอมระเหย)