จากกรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายประชาชนในมาบตาพุดยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ว่าได้ออกใบอนุญาตให้แก่โครงการลงทุน 76 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง โดยไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่สุด ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการลงทุนในมาบตาพุดที่อยู่ในประกาศประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรง ส่วนโครงการอื่นๆ ให้ยกคำร้อง ทั้งนี้ การคลี่คลายปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดไม่เพียงแต่เป็นก้าวย่างสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มการลงทุนในประเทศในระยะข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานแนวคิดใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของสภาพแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับการคลี่คลายปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด และผลต่อแนวโน้มการลงทุนของไทยในระยะเวลาที่เหลือของปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554 ดังนี้
ข้อสรุปของ 76 โครงการมาบตาพุด
?เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา กรณีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายประชาชนในมาบตาพุดยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ว่าได้ออกใบอนุญาตให้แก่โครงการลงทุน 76 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง โดยไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ที่ระบุถึงแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยศาลวินิจฉัยว่า การออกใบอนุญาตดำเนินกิจการในพื้นที่มาบตาพุด ยังกระทำการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรค 2 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตการดำเนินโครงการตามที่มีการกำหนดประเภทกิจการโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ส่วนโครงการที่ไม่อยู่ในประเภทกิจการดังกล่าวให้ยกคำร้อง
จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันที่ 2 กันยายน 2553 จะส่งผลให้โครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่ถูกระงับไว้ก่อนหน้านี้สามารถเดินหน้าก่อสร้างและดำเนินการต่อได้ ส่วนโครงการลงทุนที่อยู่ในข่ายกิจการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด หรือโครงการลงทุนใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 บัญญัติไว้กล่าวคือ จะตัองจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Public Hearing) และมีความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประกอบ
สถานการณ์การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2553
แม้ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมือง รวมทั้งปัญหาการระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด แต่ด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งหนุนการเติบโตของภาคการผลิตในประเทศต่างๆ ได้เป็นแรงส่งที่สำคัญต่อภาวะการลงทุนภายในประเทศ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2553 การลงทุนฟื้นตัวขึ้นได้ดีกว่าที่คาด ดังที่เห็นได้จากเครื่องชี้การลงทุน อาทิ
การลงทุนโดยรวมขยายตัวร้อยละ 12.5 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การลงทุนโดยรวมของประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.2 จากการลงทุนทั้งในด้านอุปกรณ์และเครื่องจักรและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับการลงทุนในด้านการก่อสร้างมีแนวโน้มชะลอตัวหลังมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และทิศทางอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่มีมูลค่าลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยโครงการลงทุนที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ มีจำนวน 777 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 (YoY) แต่มูลค่าโครงการลดลงร้อยละ 1.5 มาอยู่ที่ประมาณ 214,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่มีจำนวนน้อยลง ซึ่งการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยรวมที่มีมูลค่าลดลงในปีนี้ เป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปี 2552 ที่มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลของมาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสูงสุดเป็นพิเศษในช่วงปีแห่งการลงทุนระหว่างปี 2551-2552
หากพิจารณาเฉพาะโครงการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.5 โดยโครงการจากต่างประเทศที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 108,321 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 46.5 (YoY) ขณะที่มีจำนวนโครงการ 444 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 ซึ่งในส่วนของโครงการลงทุนจากต่างประเทศนั้นกลับมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และบริการและสาธารณูปโภค (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านโรงไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก)
การลงทุนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในไทย ขณะที่ในประเทศเอเชียอื่นๆ ล้วนแต่ลดลง โดยจากสถิติการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีแรก ญี่ปุ่นลงทุนในไทยสูงเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากจีน โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 (YoY) มาอยู่ที่ 117.6 พันล้านเยน (1.29 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 ของเงินลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชียทั้งหมด ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนในจีนมูลค่า 230.7 พันล้านเยน (2.53 พันล้านดอลลาร์ฯ) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยเป็นประเทศหลักในเอเชียเพียงประเทศเดียวที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นลงทุนในประเทศอื่นๆ ลดลงกว่าปีก่อน ทั้งในจีน อินเดีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และประเทศอาเซียนอื่นๆ
นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นที่สังเกตว่า โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาโครงการลงทุนถูกระงับ เริ่มมีความสนใจลงทุนกลับคืนมา โดยมีมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกรวม 57,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 122.9 (YoY) หลังจากในปี 2552 ทั้งปีมีการขอรับส่งเสริมเพียง 57,800 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57.4 จากปีก่อน เนื่องจากปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการลงทุนในมาบตาพุด ซึ่งความสนใจลงทุนที่กลับมาสูงขึ้นอาจสะท้อนได้ว่านักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อแนวโน้มการลงทุนในพื้นที่
ประเด็นมาบตาพุด … ผลต่อแนวโน้มการลงทุนในปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2554
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนในประเทศมีการเติบโตสูง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก และพลังงาน ค่อนข้างหยุดชะงัก เนื่องจากไม่เพียงแต่โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ถูกระงับโดยคำสั่งศาลปกครองเท่านั้น แต่โครงการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ชะลอแผนการลงทุนไปด้วยเช่นกัน ในระหว่างที่รอความชัดเจนของหลักเกณฑ์และกลไกที่จะทำหน้าที่ให้อนุญาตโครงการลงทุนที่เข้าข่ายโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
ดังนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ออกมา ประกอบกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น น่าจะช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่นักลงทุนถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับไว้ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนนับแสนล้านบาทนั้น มีทางออกในการเดินหน้าต่อไปได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติในการลงทุนประเภทกิจการรุนแรงคลี่คลายลงได้อย่างสมบูรณ์ โครงการลงทุนในมาบตาพุดน่าจะเริ่มเดินหน้าได้ ซึ่งน่าจะมีการลงทุนชัดเจนมากขึ้นในปี 2554 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในสภาวะที่การส่งออกอาจมีทิศทางชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก นอกจากการคลี่คลายอุปสรรคในการดำเนินโครงการลงทุนในมาบตาพุดแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่จะสนับสนุนแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า ได้แก่
การลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการประกาศแผนการลงทุนมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา
การลงทุนของภาครัฐ น่าจะมีความคืบหน้าของโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในด้านโลจิสติกส์มากขึ้น เช่น โครงการรถไฟฟ้าที่เริ่มต้นก่อสร้างสายสีแดงและสายสีม่วงไปแล้ว ส่วนสายสีน้ำเงินกำลังจะเริ่มก่อสร้างหลังจากการลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ชนะการประมูลทั้ง 5 สัญญาประมาณเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ ในปี 2554 อาจมีการเริ่มดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองสาย รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต รถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ การปรับปรุงทางรถไฟ โครงการรถโมโนเรลของกรุงเทพมหานคร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟสสอง และระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงภายในภูมิภาค เป็นต้น
โครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหลายโครงการจะมีผลกระตุ้นให้เกิดการลงทุนพัฒนาโครงการของภาคเอกชนตามมา จากศักยภาพของทำเลใหม่ๆ นอกจากนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคทั้งในส่วนของกรอบความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และกรอบความร่วมมืออื่นๆ จะส่งผลให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่จะสนับสนุนหรือรองรับการเคลื่อนย้ายของกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค รวมทั้งธุรกิจที่เห็นโอกาสขยายตลาดไปยังท้องที่ต่างจังหวัดที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การคลี่คลายปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ทั้งจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตการดำเนินโครงการที่มีการกำหนดให้เป็นประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ยกคำร้องสำหรับโครงการที่ไม่ได้อยู่ในประเภทกิจการรุนแรงนั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางการลงทุนในระยะข้างหน้า โดยโครงการที่ศาลยกคำร้องจะสามารถกลับมาก่อสร้างและดำเนินการได้ หลังจากที่หยุดชะงักไปในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุดนี้ถือเป็นบทเรียนที่จุดประกายให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวโน้มหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ดังแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry แนวคิดโครงการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) เป็นต้น ซึ่งการสร้างการยอมรับจากชุมชนจะเป็นกุญแจสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น โรงถลุงเหล็ก ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ โรงไฟฟ้า รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศหลายด้าน เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน Southern Seaboard และแลนด์บริดจ์ เป็นต้น
การปลดล็อคปัญหากรณีมาบตาพุดน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการเติบโตของกิจกรรมการลงทุนภายในประเทศในระยะข้างหน้า และเมื่อผนวกกับปัจจัยบวกอื่นๆ เช่น การขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐดังกล่าว ตลอดจนธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นแรงส่งให้การลงทุนของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในปีข้างหน้าจากที่เติบโตในระดับสูงในปีนี้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยรวมในปี 2553 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.1-8.8 และขยายตัวต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 7.5-9.3 ในปี 2554
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมากในปีนี้จะทำให้ความต้องการลงทุนในต่างประเทศของเหล่าธุรกิจญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในตลาดนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตทดแทนการผลิตในญี่ปุ่นที่มีความได้เปรียบด้านค่าเงินลดลง ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ประกอบการไทย ควรใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร ในการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งอาจพิจารณาออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น