ไทยเนื้อหอม นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ธนาคารกสิกรไทยจับมือสถานทูตจีน เปิดตัวหนังสือ “คู่มือทำธุรกิจและใช้ชีวิตในเมืองไทยสำหรับนักลงทุนจีน” หนังสือชุดแรกเพื่อการใช้ชีวิตส่วนตัวและแจ้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำธุรกิจในประเทศไทย หวังเพิ่มความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศจีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงระดับต้นของโลก จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และธนาคารโลกคาดการณ์ว่าภายในอีก 15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก นอกจากนั้นจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญของโลกอันดับที่ 5 ของโลกในปี 2552 จากอันดับที่ 12 ในปี 2551
ทั้งนี้ จีนจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนในลำดับต้น ๆ มีเงินลงทุนโดยตรงของจีน ที่เข้ามาในกลุ่มอาเซียน ในปี 2552 มีทั้งสิ้น 2,482 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก 2553 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 120% รวมทั้งมีความร่วมมือระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน ในเรื่องเขตการค้าเสรี (ASEAN – China Free Trade Agreement) และมีการจัดตั้งองค์กรภาคเอกชนเพื่อความร่วมมือในด้านการเงินแก่โครงการขนาดใหญ่ในประเทศกลุ่มอาเซียน เรียกว่า China-ASEAN Inter-bank Association ซึ่งธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวของไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย
ในด้านการลงทุนในประเทศไทย จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า การลงทุนของจีนในไทยในปี 2553 ที่ผ่านมา มีมูลค่าโครงการรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ด้วยการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้แก่ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ การเข้าร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงธุรกิจภาคบริการด้านศูนย์การค้าส่งสินค้า เพื่อประโยชน์ต่อการกระจายสินค้าสินค้าออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต
จากบทบาทที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจีนทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ธนาคารกสิกรไทย ได้เตรียมตัวเพื่อตอบสนองกระแสเงินลงทุนจากจีนที่ไหลเข้ามายังประเทศไทย โดยร่วมกับสถานทูตจีน พันธมิตร และบริษัทในเครือ คือ บริษัท เคพีเอ็มจี (ประเทศไทย) ผู้ชำนาญด้านบัญชีและภาษี สำนักงานกฎหมาย ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยมส์ (Hunton & Williams) ผู้ชำนาญด้านกฎหมายและการลงทุน และบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำคู่มือการลงทุนสำหรับนักลงทุนจีนในไทยเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในประเทศไทย ทั้งในด้านการลงทุน ภาษี การบัญชี กฎหมาย และกฎระเบียบ รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนจีนที่สนใจตัดสินใจมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เครือธนาคารกสิกรไทย มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนในการสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีนอย่างครบวงจร โดยมียุทธศาสตร์ 3 แนวทางคือ สนับสนุนธุรกิจจีนในไทย สนับสนุนธุรกิจไทยในจีน สนับสนุนธุรกิจจีนในจีน รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การร่วมมือกับธนาคารจีนในโครงการสนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุน การยกระดับสาขาในประเทศจีนให้เป็นธนาคารท้องถิ่น และธนาคารยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์ธุรกิจที่จะสนับสนุนนักลงทุนจีนในไทยและนักลงทุนไทยที่จะไปจีนได้อย่างครบถ้วนอีกด้วย
ด้าน ฯพณฯ ก่วนมู่ เอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขสถิติของประเทศจีน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2553 ปริมาณการค้าระหว่างจีนและไทยมีมูลค่าสูงถึง 47,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การลงทุนที่แท้จริงที่มิใช่ด้านการเงินของจีนในไทยมีมูลค่า 136 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 ซึ่งเป็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเข้าใจประเทศไทยเพื่อแสวงหาความร่วมมือ การลงทุนและขยายธุรกิจ รวมถึงการดำเนินธุรกิจและการท่องเที่ยว นับวันยิ่งกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของชาวจีน
“คู่มือทำธุรกิจและใช้ชีวิตในเมืองไทยสำหรับนักลงทุนจีน” ฉบับภาษาจีนนี้ จัดทำขึ้นครอบคลุมเนื้อหา ทั้งสภาพภูมิศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านการลงทุนและดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจ กฎระเบียบด้านการเงินและนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ของประเทศไทย คู่มือดังกล่าวมีเนื้อหาที่ครบถ้วนถูกต้อง มีทั้งรูปภาพและคำบรรยาย เปี่ยมด้วยคุณค่า ใช้งานได้จริง อันจะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญในการลงทุนและดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจจีนในไทย เป็นการเสนอข้อมูลที่ครอบคลุมหลากหลายด้านและอุดมไปด้วยสาระประโยชน์ เพื่อให้ชาวจีนมีความเข้าใจและคุ้นเคยกับประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการจัดทำหนังสือเพื่อให้นักธุรกิจจีนที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับจีน ทั้งที่เป็นหน่วยงานจีน เช่น สมาคมธุรกิจจีนต่าง ๆ ที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว นิคมอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนจากจีนมาตั้งโรงงานอยู่หลายแห่ง หน่วยงานราชการไทยที่ให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจจีนอยู่แล้ว เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และบีโอไอ