การใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสสอง ปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ผู้บริโภคยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีการชุมนุมกันอย่างสงบเรียบร้อย ประกอบกับการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นของบรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งดิสเคานท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้า และคอนวีเนี่ยน สโตร์ ที่ต่างโหมปรับปรุงสถานที่ และการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ค่อนข้างถี่มากขึ้น รวมทั้งการจัดมหกรรมลดราคาสินค้า การจัดแคมเปญฯลุ้นรางวัลต่างๆ เป็นต้น ก็น่าจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดความต้องการและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสสองของปี 2554 พบว่า มีกิจกรรมที่สำคัญอยู่หลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลวันสงกรานต์ และช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาใหม่ จึงน่าจะกระตุ้นให้สถานการณ์ของธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยโดยรวมในช่วงไตรมาสสองปี 2554 นี้ น่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.0-6.0 ณ ราคาคงที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่หากคิดคำนวณมูลค่าธุรกิจค้าปลีก ณ ราคาปัจจุบัน (ซึ่งรวมผลของเงินเฟ้อด้วย) คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8.5-10.0
>>น้ำท่วมภาคใต้…กระทบยอดค้าปลีกในพื้นที่วงจำกัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้นี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อยอดค้าปลีกในพื้นที่วงจำกัด กล่าวคือ ธุรกิจค้าปลีกที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมอาจได้รับความเสียหาย รวมถึงผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีกำลังซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่อาจจะชะลอการเดินทาง หรือเปลี่ยนเส้นทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ภูเก็ต สมุย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางภาคใต้ที่ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกของไทยมากนัก
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยอดขายค้าปลีกอาจจะได้รับแรงกระตุ้นจากการร่วมกันบริจาคสิ่งของอุปโภค บริโภคที่จำเป็นให้กับผู้ที่ประสบปัญหาอุทกภัยทั้งจากทางภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้งการให้เงินช่วยเหลือในเบื้องต้นกับครอบครัวที่ได้รับความเสียหายจากทางภาครัฐ นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ระดับน้ำลดเป็นปกติแล้ว คาดว่า ผู้บริโภคอาจจะกลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทันที เพื่อซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุดหรือเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
>>หลากปัจจัย…หนุนค้าปลีกไตรมาสสองขยายตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงไตรมาสสองของปี 2554 นี้ มีปัจจัยหนุนหลายประการที่ช่วยผลักดันให้ยอดค้าปลีกขยายตัว ได้แก่
สำหรับธุรกิจค้าปลีกอีกประเภทที่น่าจับตามองอย่างมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ ร้านค้าสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน หรือที่เรียกว่า “จีสโตร์” ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะทำให้จีสโตร์มียอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติประมาณร้อยละ 20-30 เนื่องจาก จีสโตร์จะได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวสงกรานต์ในต่างจังหวัด และต้องการที่จะแวะพักตามปั๊มน้ำมัน รวมถึงการหาซื้อสินค้าโดยเฉพาะอาหารมารับประทาน ซึ่งปัจจุบัน จีสโตร์ได้มีการขยายสาขาไปตามปั๊มน้ำมันต่างๆมากขึ้น ซึ่งมีสาขารวมกันทั้งประเทศมากกว่า 1,000 สาขา
การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2554 นี้ อาจจะสร้างความชัดเจนทางการเมืองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคมากขึ้น และน่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในเศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ยังมีหลายประเด็นที่ผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องติดตาม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และส่งผลไปถึงยอดค้าปลีกในช่วงไตรมาสสองนี้ได้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
ในช่วงไตรมาส 2/2554 มีแนวโน้มว่า ซัพพลายเออร์รายใหญ่จะมีการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค จากที่เคยร่วมมือกับรัฐบาลตรึงราคาสินค้าไว้ในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งคาดว่า จะส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
หากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศยังคงไม่นิ่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค
ที่คาดว่า จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าอาจมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
สำหรับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสองปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า น่าจะมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาปัจจุบัน) ประมาณร้อยละ 8.5-10.0 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 13.6 เนื่องจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว ประกอบกับคาดว่า ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลในเรื่องของค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าในช่วงไตรมาสสองของปี 2554 จะมีกิจกรรมใหญ่ๆอยู่หลายกิจกรรมที่คาดว่า จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกยังคงขยายตัว อาทิ เทศกาลสงกรานต์ หรือกิจกรรมช่วงก่อนเปิดเทอม แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายประการที่ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ซึ่งคาดว่า จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สถานการณ์ทางการเมือง หรือแม้แต่ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกในยุคปัจจุบัน ที่จะต้องคิดและวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเกิดการจับจ่ายใช้สอยท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ ดังนั้น การทำกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ประกอบการในช่วงไตรมาสสองของปีนี้อาจจะต้องเป็นไปในลักษณะที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ซึ่งถือเป็นช่วงที่คาดว่าจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกน่าจะคึกคักมากกว่าช่วงวันปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ยังคงมีกำไรอันเป็นที่พอใจ