ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ที่ผ่านมา ภาพรวมนิคมอุตสาหกรรมของไทยยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี ซึ่งบริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งยังคงมียอดขายพื้นที่ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยขับเคลื่อนจากการขยายตัวของกลุ่มยานยนต์ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจในการที่จะย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ เช่น จีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น ที่ยังเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน ที่แม้ว่าจำนวนโครงการที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมจะมีจำนวนที่น้อย แต่หลายโครงการมีมูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มของนิคมอุตสาหกรรมน่าจะยังคงมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ภายใต้ปัจจัยทางเมืองในประเทศที่มีความสงบเรียบร้อย จะสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี ทิศทางการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมยังคงเผชิญปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย อาทิ นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ที่อาจมีผลให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ก็อาจส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนด้วยเช่นกัน
- ภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ยังขยายตัวได้
- แนวโน้มนิคมอุตสาหกรรมยังคงสดใส จากการลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเอเชีย
- จับตาปัจจัยเสี่ยงการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ…ผลต่อนิคมอุตสาหกรรม
- นิคมอุตสาหกรรมปรับตัวเชิงรุกเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันรองรับการเคลื่อนย้ายแหล่งลงทุนเมื่อ AEC มาถึง
- สรุปและข้อเสนอแนะ
สถานการณ์นิคมอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมาของปี 2554 ยังคงมียอดขายพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส จำกัด ระบุว่า ปริมาณขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกปี 2554 มีจำนวน 1,187 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2553 ที่มีปริมาณขายพื้นที่ทั้งสิ้น 1,971 ไร่ สำหรับการขยายตัวของปริมาณการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปีนั้น ได้รับปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น บริษัทผู้นำด้านอุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์การทำเหมืองระดับโลก ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ใช้งานในเหมืองใต้ดิน ได้แก่ รถบรรทุกและรถตัก นอกจากนี้ ยังมาจากการลงทุนขยายฐานการผลิตรถยนต์ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
ขณะที่ในด้านอัตราการเช่าพื้นที่ (occupancy rate) ของโรงงานให้เช่าในตลาดไตรมาสที่ 1 ปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 87.5 ของพื้นที่ที่สร้างเสร็จ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 85.7 ในไตรมาสก่อนๆ ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการมีพื้นที่ที่รอการขายลดลง และจากการวิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเปิดเผยว่ามียอดขายที่ดินเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น ที่โรงงานได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดใจของนักลงทุนต่างชาตินั้น นอกจากผู้ประกอบการจะมีการพัฒนาที่ดินตามจุดยุทธศาสตร์ของที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ดีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตการให้บริการ เพื่อเป็นการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้ครบวงจรมากขึ้น และเพื่อเพิ่มรายได้ทางธุรกิจ อาทิ การให้บริการระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบน้ำประปา ระบบไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการบริการด้านอื่นๆ ในนิคมอุตสาหกรรม อาทิ ระบบยามรักษาความปลอดภัย ระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนที่พักอาศัยในรูปแบบของแฟลตและอพาร์ทเมนท์ เป็นต้น และปัจจุบันผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ยังได้หันมาร่วมลงทุนโรงงานผลิตไฟฟ้า เพื่อป้อนให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมและรองรับการเติบโตของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากต่างชาติยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 มีจำนวนการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เป็นโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 599 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 205,196 ล้านบาท
สำหรับประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด ยังคงเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนโครงการและปริมาณเงินลงทุนยื่นขอส่งเสริมสูงสุด 312 โครงการ และมูลค่าเงินลงทุน 97,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.5 เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของช่วงเดียวกันของปีก่อน การเข้ามาของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่รุนแรง เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายที่ยิ่งใหญ่แก่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นจึงต้องมองหาสถานที่ลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากภัยพิบัติ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้กลุ่มนักลงทุนที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีน ที่ได้ให้ความสำคัญเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 ที่ผ่านมา มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุน 22 โครงการ มีเม็ดเงินสูงถึง 24,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 241.0 เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนของช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การเข้ามาลงทุนในไทยของจีนในแต่ละปีนั้น เมื่อพิจารณาดูถึงจำนวนโครงการแล้วจะยังคงมีไม่มากนัก แต่มีเม็ดเงินการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในบางโครงการ โดยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีโครงการที่ยื่นขอลงทุนเฉลี่ยปีละ 27 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 16,975 ล้านบาท โครงการที่จีนสนใจเข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการเข้ามาลงทุนผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์พื้นฐาน เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ธุรกิจบริการจีนสนใจเข้ามาลงทุนในกิจการโรงแรม และศูนย์บริการสุขภาพ
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ คาดว่า ภาพรวมจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายรายยังคงมีแผนการทางธุรกิจที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปี 2554 จะอยู่ที่ประมาณ 4,750-5,250 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2-72.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลง อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบใหม่ และปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้บริษัทข้ามชาติอาจมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งอาจมีผลชะลอการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 4 ลง นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศไทย โดยประเด็นที่ต้องจับตาขณะนี้ คือ นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาล ที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มที่พึ่งพากำลังแรงงานเป็นสำคัญ ให้หันไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
แนวโน้มการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ มีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม EIA–HIA ที่มีความเข้มข้นขึ้นในการที่จะเข้ามาดูแลการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่โครงการที่เข้ามาตั้งในนิคมนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรม สำหรับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องทำ EIA–HIA นั้น ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมผลิตปูนซิเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับน้ำตาล อุตสาหกรรมเหล็กหรือเหล็กกล้า อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่มีกระบวนการผลิตทางเคมี อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินสะสมอยู่จำนวนมากค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากสามารถสร้างรายได้จากการขายพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเก่าในขณะที่ส่วนขยายใหม่กำลังอยู่ระหว่าการทำ EIA–HIA ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ยังได้รุกตลาดบริการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า และได้มีการร่วมทุนกับต่างชาติตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าและน้ำประปา เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จึงเป็นที่ดึงดูดใจของนักลงทุน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายเริ่มมีแผนการที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อม หรือนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งโรงงานที่เข้ามาตั้งในนิคมจะเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งทิศทางนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในขณะนี้ โดยผู้ประกอบการมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์หรืออีโคทาวน์ (Industrial Ecology) ร่วมกับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ได้มีความพยายามที่จะจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์หรืออีโคทาวน์ (Industrial Ecology) ที่มีแผนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 45 นิคมอุตสาหกรรม ทั่วประเทศ ภายในปี 2562
อีกทั้ง กลยุทธ์ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระยะหลัง ได้มีนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางมากขึ้น ทั้งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์(Cluster) และการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนเฉพาะประเทศ ซึ่งในปี 2554 ได้มีความเคลื่อนไหวจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยาพาราที่ขั้นปลาย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมนี้จะตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ และ ภายในนิคมอุตสาหกรรมได้มีการจัดสรรพื้นที่ในการจัดสำนักงานโครงการฯและสถาบันฝึกอบรม-พิพิธภัณฑ์ยางพารา เพื่อการพัฒนาและวิจัยอุตสาหกรรมยางพาราด้วยเช่นกัน ส่วนเขตอุตสาหกรรมเฉพาะนักลงทุนรายประเทศนั้น จะเห็นการจัดตั้งนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจจีน หรือเกาหลีใต้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระยะถัดไป โดยเฉพาะกับการเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในปัจจุบันไทยได้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS (Great Mekong Basin Sub Region) ส่งผลให้ธุรกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาค (Economic Corridor) คึกคักมากขึ้น ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตามพื้นที่ชายแดน เพื่อที่จะสามารถกระจายสินค้าออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านง่ายขึ้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 สถานการณ์นิคมอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ค่อนข้างดี เนื่องมาจากได้รับปัจจัยบวกนักลงทุนทั้งลูกค้ารายใหม่ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยและจากกลุ่มลูกค้าเก่าที่ต้องการขยายฐานการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกไปตั้งในต่างประเทศหลังจากเกิดปัญหาสึนามิ และประเทศไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนแห่งหนึ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญในระดับต้นๆ ในโครงการลงทุนใหม่ อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าประเทศอื่นที่ยังให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในไทย เช่น นักลงทุนจากจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีรายได้จากการบริการสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 มีจำนวนการขอส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 599 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 205,196 ล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปี 2554 จะอยู่ที่ประมาณ 4,750-5,250 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2-72.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยยังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มแปรรูปผลผลิตการเกษตร และกลุ่มเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
ทิศทางการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในระยะยาวนั้น แม้ว่าการตัดสินใจการเข้ามาลงทุนในไทยจะขึ้นอยู่กับบริษัทข้ามชาติก็ตาม แต่องค์ประกอบสำคัญที่จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ความชัดเจนของกฎหมาย กฎระเบียบ (เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ควรจะมีการออกกฎข้อบังคับให้ชัดเจน เพื่อที่นักลงทุนจะได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ) และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เช่น ระบบการขนส่งที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นต้น) ความสามารถของบุคลากรในประเทศประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ไขอุปสรรค ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานและสิทธิประโยชน์รองรับการลงทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมคงจะต้องมีการปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นที่สำคัญในสังคม ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมคงจะต้องมีการปรับกลยุทธ์การพัฒนานิคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนที่อยู่แวดล้อมนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น อาทิ การบริหารการจัดการน้ำเสียที่เคร่งครัด การจัดเพิ่มโซนสีเขียวในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะช่วยเป็นจุดจูงใจนักลงทุนต่างชาติได้เช่นกัน เพราะกฎเกณฑ์กติกาการค้าของโลกนั้น มีการปรับเปลี่ยนให้มีความเข้มข้นมากขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เพียงแค่พิจารณาแค่สินค้าขั้นปลายเท่านั้น แต่จะพิจารณาถึงขบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่ของสินค้านั้นๆ ด้วยเช่นกัน