ซิตร้า ดราม่าทุนการศึกษาคนขาว

ค่านิยมของสาวไทยสมัยนี้ เสพย์ติดความขาวยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พวกเขายอมที่บริโภคสินค้าทุกประเภทที่สามารถอัพความขาวของผิวตนเองขึ้นมาได้ เพราะด้วยพื้นฐานของคนไทยเป็นคนผิวสีแทน ซึ่งไม่ได้ขาวแต่โดยกำเนิด แต่ต้องยอมรับว่าวัยรุ่นยุคนี้ “เกาหลีฟีเวอร์” ทำให้ลัทธินิยมความขาวและการศัลยกรรมเริ่มแพร่หลายเข้าสู่สาวไทยมากขึ้น

เมื่อหน้าที่ของนักการตลาดที่ต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา และต้องตอบสนองความต้องการของพวกเขา เพื่อที่จะเข้าไปอยู่ในใจให้ได้ ซึ่งนอกจากจะมีโปรดักส์ที่ตรงกับความต้องการแล้ว แคมเปญกิจกรรมการตลาดก็เป็นส่วนสำคัญในการไดร์ฟยอดขายเช่นกัน

อย่างแคมเปญล่าสุดของโลชั่นบำรุงผิว “ซิตร้า” ที่ต้องการโปรโมทโปรดักส์ใหม่ “Citra Pearly White UV” พร้อมกับสรรพคุณที่ว่า “ผิวกระจ่างใส 3 มิติ”ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสินค้าตัวนี้พร้อมที่จะประโคมความขาวให้กับสาวไทยขนาดไหน จึงมาพร้อมกับแคมเปญ “Citra ค้นหาสาวใสเด้ง วิ๊ง 3D”

โดยให้ทาร์เก็ตกลุ่มอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยถ่ายรูปพร้อมถือขวดซิตร้า แล้วโพสท์ที่หน้าแฟนเพจเพื่อชิงเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมทั้งมีโอกาสได้ถ่ายแฟชั่นลงนิตยสาร “Cheeze” เพียงแค่มีข้อแม้ว่า ต้องใส่ชุดนักศึกษาอย่างถูกระเบียบถ่ายรูปเท่านั้นเอง

ดูแล้วมันก็เหมือนกับแคมเปญอื่นทั่วไปที่จูงใจผู้บริโภคด้วยเงินรางวัล แต่ปรากฎว่าในภาพยนตร์โฆษณาในทีวี มีข้อความว่า รางวัลที่ให้เป็นทุนการศึกษา ซึ่งเป็นตัวจุดประกายดราม่า “เหยียดสีผิว”ขึ้น ทำให้เกิดกระระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่า “เดี๋ยวนี้เขาให้ทุนการศึกษาเฉพาะคนขาวอย่างนั้นเหรอ?”

อีกราย ให้ความเห็น“ทุนการศึกษาต้องตัดสินที่การศึกษาสิ” “ทำไมคนดำไม่มีสิทธิ์เหรอ” บาง บางคนก็ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าในกรณีที่เป็นทุนการศึกษานั้นก็เพราะสามารถลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง

ซึ่งกรณีการโฆษณาที่สื่อถึงการเหยียดสีผิวแบบนี้ไม่ได้แค่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น ที่ผ่านมา “ดังกิ้นโดนัท” ก็โดนในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน เป็นโฆษณาโปรโมท “โดนัทชาโคล” ที่ถ่ายทอดภาพหญิงสาวคนหนึ่งที่ทาหน้าด้วยสีดำ ทาริมฝีปากสีชมพูสดใส และทำผมทรงรวงผึ้งแบบในยุค 1950 กำลังถือโดนัทที่เธอเพิ่งกัด ตลอดจนสโลแกน “ฉีกทุกกฎของความอร่อย” ได้เผยแพร่ผ่านทางโปสเตอร์ โทรทัศน์ และเฟซบุ๊ก

แม้ในกรณีนี้คนไทยจะรู้สึกว่าไม่อินเท่าไหร่ ว่าเป็นการเหยียดสีผิว แต่ปรากฎว่าองค์การสิทธิมนุษยชน ได้พูดถึงโฆษณานี้ “พิสดารเหยียดสีผิว” จนบริษัทแม่ในสหรัฐฯ รีบออกมาขออภัยโดยเร็วและให้ทางไทยลบโฆษณาดังกล่าวออก

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นกระแสแล้วย่อมมีด้านลบก็ย่อมมีด้านบวก เพราะได้สร้างยอดขายให้ดังกิ้นโดนัทเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ลูกค้ารู้สึกสะดุดใจกับโฆษณา และโดนัทที่แปลกใหม่

ย้อนกลับไปปี 2554 มีดราม่าเรื่องเหยียดสีผิวที่เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ อีกเรื่องในโลกออนไลน์ เมื่อมีการโฆษณาของเครื่องดื่ม “Amino Plus Brighten” บนรถไฟฟ้า BTS ที่มีการติดสติ๊กเกอร์ตัวใหญ่คำว่า “สำรองที่นั่งสำหรับ…คนขาว” คล้ายๆ กับที่นั่งสำรองสำหรับคนชราบนรถเมลล์อย่างนั้นเลย

ซึ่งด้านนอกของตู้รถไฟฟ้าก็มีการเขียนว่า “ขาวอมชมพู ขึ้นตู้นี้” แม้แต่ผนังก็มีป้ายเขียนว่า “ที่ตรงนี้ ขาวอมชมพู” ไปจนถึงเบาะที่นั่งดังกล่าว ไม่เพียงแต่เกิดประเด็นเหยียดสีผิวเท่านั้น ทำให้เกิดกระแสว่าแบ่งชนชั้นอีกด้วย! ชาวไซเบอร์ต่างไม่พอใจพร้อมทั้งร้องเรียนไปทางรถไฟฟ้า BTS ให้เอาโฆษณาดังกล่าวออก