หนุ่มสาวอายุ 28-35 ปีที่หน้าตี๋หมวยแต่พูดอังกฤษคล่องปรื๋อต่างกำลังทยอยออกจากออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ ฯลฯ ที่ตัวเองเกิดและเติบโตที่นั่น และเดินกลับมาสู่มาตุภูมิอย่างไต้หวันอย่างถาวร เพื่อเริ่มต้นจากการเรียนเขียนและอ่านภาษาจีน คนเหล่านี้คือ เถ้าแก่รุ่น 2 (Second Wave Entrepreneurship) ที่พ่อแม่วาดฝันว่าจะให้กลับมาสานต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างปรับหรือแบรนด์ใหม่ รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ด้วย ซึ่งพวกเขาจะต้องแบกความรับผิดชอบอนาคตองค์กรเล็กๆ ไว้บนบ่า
และสำหรับคนที่ทางบ้านไม่ได้มีกิจการใหญ่โต ไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก หลายคนก็เดินทางสวนกระแสชีวิตพนักงานบริษัทด้วยการเปิดธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง โดยสถิติระบุว่าในไต้หวันปี 2012 มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ถึง 1.28 ล้านบริษัท ซึ่อถือว่าสูงกว่าทศวรรษทีี่แล้วถึง 47% โดยธุรกิจเหล่านั้นแบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ธุรกิจบริการ บริษัทอินเตอร์เน็ต องค์กรด้านวัฒนธรรม และการขายสินค้าที่มีไอเดียการออกแบบใหม่ๆ ซึ่งที่เด่นก็คือ สินค้าทำมือ
และเมื่อโฟกัสไปที่ธุรกิจเทคโนโลยี หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “สตาร์ทอัป (Start-ups)” นั้น มักจะมีคำถามว่าทำไมไม่ค่อยมีแอปฯ หรือ เว็บที่ขึ้นชื่อว่า Made in Taiwan ที่จะดังเหมือนแบรนด์ฮาร์ดแวร์อย่าง Acer, Asus, HTC บ้าง? ทั้งๆ ที่ดูๆ เหมือนว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตฮาร์ดแวร์ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมขั้นสูง เน็ตบอร์ดแบนด์และไว-ไฟ อยู่ทุกมุมถนน มีหลากเวทีประชุมและประกวดสตาร์ทอัป และสุดท้ายคือประชากรที่หัวคิดทันสมัย
เหตุผลแรกบ้างก็ว่า “ตลาดเล็ก” ประชากรแค่ 23 ล้านคน บ้างก็ว่าโดนนวัตกรรมจากญี่ปุ่นและอเมริกาครอบงำหมด (ตอนนี้ Facebook และ Line ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารอันดับต้นๆในไต้หวัน) ซึ่งทั้งหมดเป็นสถานการณ์จริงที่เถ้าแก่ดิจิตอลต้องเผชิญอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็มีหลายรายที่กล้าฉีกตัวออกมาสร้างธุรกิจออนไลน์ ที่ถึงแม้แนวคิดของเว็บจะเป็น Me too Product แต่ก็มีเป้าหมายที่จะจับตลาดคนท้องถิ่นในโดยเฉพาะ ในโอกาสนี้เราจะโฟกัสเฉพาะธุรกิจใหญ่อย่างอี-คอมเมิร์ซในไต้หวัน
PChomeonline.com.tw เบอร์หนึ่งในตลาดมีสินค้าทุกประเภทให้เลือกสรรค์ การันตีส่งถึงบ้านภายใน 24 ชั่งโมง สินค้าขายดีสุดคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
tw.buy.yahoo.com ยาฮูในไต้หวันยังคงแรง โดยเฉพาะบริการช้อปปิ้งออนไลน์
books.com.tw เว็บขายหนังสือ และสื่อบันเทิงออนไลน์ของเครือยูนิเพรสซิเดนส์
Lativ.com.tw เว็บขายเสื้อผ้าแนวสวมใส่ในชีวิตประจำวันเหมือน Uniqlo แต่ส่วนใหญ่ผลิตในไต้หวัน
maji.com เว็บขายดีลออนไลน์ที่ดันให้กรุ๊ปปองต้นฉบับตกไปอยู่อันดับ 2 ได้
Pinkoi.com เว็บขายสินค้ามีไอเดีย สินค้าทำมือจากร้านค้าและแม่ค้าอิสระ ซึ่งได้ไอเดียมาจาก Etsy.com ของอเมริกา
101.com.tw เว็บขายเสื้อยืด และเสื้อผ้าอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของบริษัท ADDCN TECHNOLOGY CO., LTD ที่มีเว็บในเครืออีกมาก เช่น เว็บหาบ้านเช่า 591.com.tw และ เว็บเช่ารถ www.8891.com.tw/“8891.com.tw
luxjoy.com เว็บขายสินค้าแบรนด์เนมในราคาพิเศษที่ได้ไอเดียจาก Gilt.com
เพราะไต้หวันมีจุดเด่นที่พื้นที่เล็ก ทำให้การส่งของถึงบ้านเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งยังมีบริการส่งถึงร้านสะดวกซื้อใกล้ๆ โดยจะมี SMS แจ้งเตือนเมื่อสินค้ามาถึงก็เดินไปรับและจ่ายเงินได้ทันที จึงทำให้การค้าออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดย โดยทางสมาคมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไต้หวันคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายของออนไลน์ถึง 1 ล้านล้านเหรียญไต้หวันในอีก 2 ปีข้างหน้า!
อย่างไรก็ดี คนในวงการสตาร์ทอัปของไต้หวันกลับมองตัวเองว่า เว็บที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสั่งสมประสบการณ์ธุรกิจออนไลน์ เพราะหลังจากรู้เรื่องโมเดลธุรกิจ ช่องทางหาและรับเงินแล้ว เป้าหมายที่สำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัปในไต้หวันก็คือ การผสานฮาร์ดแวร์ราคาถูกแต่มีเทคโนโลยีสูง มาผสานกับแพล็ตฟอร์มออนไลน์ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ไม่ว่าจะเป็นเว็บหรือแอปฯ เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เป็น Made in Taiwan ล้วนๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งธุรกิจที่ว่านั้นก็มีตั้งแต่ เทคโนโลยีระบบขนส่งและชำระค่าซื้อสินค้า ระบบการแพทย์ไฮเทค ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพดี ดีไซน์สวย และราคาที่ถูกกว่าโซลูชั่นจากโลกตะวันตกนั่นเอง