กลุ่มมิตรผลขานรับนโยบายภาครัฐฯ พร้อมเดินหน้าปรับแผนการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตน้ำตาลในประเทศ เพื่อคงปริมาณไฟฟ้าให้เหลือในระบบสูงสุด โดยจะนำปริมาณไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นพลังงานสะอาดที่ผลิตได้จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติขาดแคลนพลังงานในช่วงที่มีความต้องการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุด วันที่ 5 เมษายนนี้
ผลพวงจากการหยุดซ่อมแซมแท่นขุดเจาะก๊าซของพม่า ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ประเทศไทยได้ในช่วงที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดในระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน ทำให้ไทยจะต้องขาดก๊าซฯ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไปถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือราว 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในช่วงปกติ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 4,100 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ในวันที่ 5 เมษายน มีปริมาณไฟฟ้าสำรองเหลืออยู่เพียง 1,100 เมกกะวัตต์ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ประมาณ 26,300 เมกะวัตต์ ในวันดังกล่าว
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเตรียมมาตรการรองรับภาวะการขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเดือนเมษายนว่า “เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเตรียมแผนรองรับในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ต่างขานรับนโยบายเร่งด่วนนี้เป็นอย่างดี โดยจะมีการปรับแผนการผลิตตลอดจนเร่งหามาตรการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากภาคอุตาหกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคสังคมและ ธุรกิจโดยรวม”
ด้านนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “จากการประเมินความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือนเมษายน โดยเฉพาะในวันที่ 5 เมษายนที่จะถึงนี้ กลุ่มมิตรผล จึงได้มีการเตรียมมาตรการสนับสนุนนโยบายภาครัฐเพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว โดยตัดสินใจที่จะหยุดการผลิตชั่วคราวในส่วนของการผลิตบางส่วนของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลทั้ง 5 แห่ง ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีปริมาณไฟฟ้าคงเหลือขายได้เต็มสัญญา non-firm จำนวน 96 เมกะวัตต์ ซึ่งโดยปกติ ไฟฟ้าในส่วนสัญญา non-firm ไม่ได้ถูกนับเป็นกำลังไฟฟ้าสำรองของประเทศ แต่ถ้าทางบริษัทสามารถเดินในช่วงเวลาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ทางผู้ดูแลระบบจ่ายไฟฟ้าของประเทศก็สามารถนับรวม ส่วน non-firm นี้ได้ในสถานการณ์จำเป็นอย่างเช่นวันที่ 5 เมษายน ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าให้มากขึ้น”
การปรับแผนลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลต่อระบบการผลิต ปริมาณสินค้าคงคลัง ตลอดจนขั้นตอนการรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรชาวไร่แต่อย่างใด เพราะเราไม่ได้หยุดการหีบอ้อย ชาวไร่ ยังสามารถนำอ้อยมาส่งเข้าโรงงานได้ตามปกติ เราเพียงแต่หยุดกระบวนการผลิตบางส่วนเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ขณะเดียวกัน กลุ่มมิตรผล จะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งไฟฟ้าให้กับกฟผ.ได้มากขึ้น จากเดิมที่มีการส่งไฟฟ้าตามสัญญาคงที่ (Firm Contract) ในปริมาณ 76 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับปริมาณไฟฟ้าที่คงเหลือในระบบการผลิตที่เป็นแบบ (Non-Firm) อีก 96 เมกะวัตต์ เราจึงสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ. และ กฟภ. ในวันที่ 5 เมษายน ได้ทั้งหมด 170 เมกกะวัตต์ หรือเทียบเท่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดใหญ่ๆ ทั้งจังหวัด
นายกฤษฎายังกล่าวอีกว่า “การเกิดวิกฤติการขาดแคลนไฟฟ้าครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะต้องพบกับปัญหาวิกฤติพลังงานอย่างแน่นอน และถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐฯ จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถหาพลังงานอื่นมาใช้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามคือ การใช้พลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งกำลังจะหมดไปในไม่ช้า”
ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของพลังงานที่ใช้ทั่วโลก ขณะที่มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพียง ร้อยละ 2.7 โดยพลังงานที่ใช้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากฟอสซิลถึงร้อยละ 80.6 ซึ่งด้วยอัตราส่วนดังกล่าวทำให้เลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary General) ได้ประกาศตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทั่วโลกเป็น 2 เท่าภายใน พ.ศ. 2573
“สำหรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย เราสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตลงมาเหลือเพียงร้อยละ 0.4 แต่เรายังคงพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 68 รองลงมาเป็นลิกไนต์ร้อยละ 12 ตามมาด้วยถ่านหินร้อยละ 8 นำเข้าจากต่างประเทศร้อยละ 6 น้ำร้อยละ 4 ขณะที่ใช้พลังงานทดแทนที่สามารถพัฒนาได้เองในประเทศเพียงร้อยละ 2 หรือคิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้กว่า 1,700 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่ได้จากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตสูงถึงร้อยละ 81 หรือคิดเป็นปริมาณไฟฟ้ากว่า 1,400 เมกะวัตต์ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในส่วนนี้” นายกฤษฎา กล่าว
การก้าวสู่ยุคการใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แทนการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติอาจไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น แต่สามารถเริ่มพัฒนาได้ในอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวได้ง่าย เนื่องจากการเอื้อในด้านการบริหารเชื้อเพลิงวัตถุดิบเช่น ในอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลอยู่ในทุกภาคของประเทศถึง 47 แห่ง ยกเว้นภาคใต้ ซึ่งทุกโรงงานมีการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าจากชานอ้อยไว้เพื่อใช้เอง และจำหน่ายส่วนเหลือให้กับกฟผ. แต่มีเพียง 4 โรงงานที่ใช้หม้อไอน้ำและเทอร์ไบน์แรงดันสูงที่ทำให้มีไฟฟ้าเหลือขายมากกว่าโรงงานทั่วไป หากโรงงานเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าให้ได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการวัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะทำให้ประเทศสามารถ เพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากชีวมวลในระบบ เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นในการผลิตกระแสไฟได้เพียงพอต่อความต้องการ และยังนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าสำรอง ป้องกันการขาดแคลนพลังงานในระยะยาวได้อีกด้วย
“หากมีการส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพืชพลังงานได้อย่างจริงจัง ก็จะทำให้ประเทศเรามีผลผลิตอ้อยมากกว่า 150 ล้านตัน ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีผลผลิตประมาณ 90-95 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 2,500 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 19,500 ล้านหน่วย เทียบเท่าเขื่อนทั้งประเทศ 2 เท่า หรือคิดเป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2.5 โรง ส่งผลให้เราสามารถลดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 10 ล้านตัน เทียบเท่าป่าชายเลนราว 4.4 ล้านไร่ จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องร่วมกันหารือเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนใช้ในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องพบกับวิกฤติการขาดแคลนพลังงาน
ในอนาคตอย่างแน่นอน” นายกฤษฎากล่าวในที่สุด