แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย เผยการศึกษาเทรนด์ล่าสุดภายใต้หัวข้อ “เปิดมุมมองคอนซูมเมอร์เทรนด์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก” ซึ่งพูดถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่จะกำหนดทิศทางในอนาคตและแนวทางใหม่ๆ ในการสื่อสารการตลาดของแบรนด์ยานยนต์ในยุคดิจิตอล
นางสาววฤตดา วรอาคม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านนวัตกรรม แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นเป็นผู้นำเทรนด์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ ไม่ว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3’ จะเกิดขึ้นหรือไม่ กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคใหม่ ประกอบกับการแข่งขันใหม่ๆจากการรวมกิจการของกลุ่มแบรนด์รถยนต์ระดับโลก”
กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลายเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ “เรามองเห็นแนวโน้มที่มุ่งความสนใจมาทางภูมิภาคตะวันออกทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสื่อสารแบรนด์ โดยเฉพาะในตลาดสำคัญอย่างประเทศอินเดียและจีน โดยภาพรวมแรงผลักดันหลักๆ คือ นวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ความเป็นดิจิตอลในรถยนต์ การออกแบบเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง และการบริการโซลูชั่นสำหรับการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ซึ่งเราเชื่อว่า การเข้าใจถึงเทรนด์เหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องก้าวทันการตลาดในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้”
ซึ่งในห้าเทรนด์หลักๆที่พบในโลกของยานยนต์นี้ เทรนด์ของ “NEW IDENTITIES, NEW ASPIRATIONS” และ “CONNECTIVITY ON WHEELS” ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อนวัตกรรมด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการ ในขณะที่ “SUSTAINABLE MOBILITY”, “SPIRIT AND SOUL” และ “PIONEERS IN INTERACTIVITY” จะเน้นวิธีใหม่ๆที่แบรนด์รถยนต์สร้างประสบการณ์ ให้ลูกค้าเกิดความผูกพันกับแบรนด์ในตลาดต่างๆทั่วโลก รวมไปถึงตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างเอเชีย
1. แรงบันดาลใจใหม่เพื่อกลุ่มเป้าหมายใหม่ (NEW IDENTITIES, NEW ASPIRATIONS)
รถยนต์ไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะในการเดินทางเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำหรับการแสดงความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคลอีกด้วย ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของทัศนคติและความเป็นตัวตนของผู้บริโภคที่มีผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางประชากรศาสตร์ (demographics) และการใช้ชีวิต ผู้ผลิตรถยนต์นั้นจึงหันมาออกแบบผลิตภัณฑ์และการสื่อสารแบรนด์ที่ตรงกับความต้องการใหม่ๆของกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆที่เกิดขึ้น
แรงผลักดันที่ทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคใหม่เหล่านี้ขึ้นคือ 1) ‘Upwardly Mobile’ จำนวณชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นและวาดฝันฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น 2) ‘What Women Want’ ผู้หญิงสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จและมีอิสรภาพทางการเงินมากกว่าที่เคย 3) ‘The Creative Class’ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการแสดงเอกลักษณ์ความมีสไตล์ที่ไม่ใช่เพียงฐานะทางการเงิน
2. ความเป็นดิจิตอลในทุกอณูยานยนต์ (CONNECTIVITY ON WHEELS)
คนเมืองทุกวันนี้ใช้เวลามากที่สุดกับการอยู่ในรถและการอยู่หน้าสกรีนดิจิตอลหลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการจะมุ่งหน้าผสมผสานเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์เข้ากับรถยนต์ รถยนต์รุ่นใหม่ๆมักอัดแน่นด้วยฟังก์ชั่นดิจิตอลมากขึ้น โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูล ท้องถนน และผู้ขับขี่ได้อย่างลงตัว เริ่มจาก 1) ‘The Fourth Screen’ ซึ่งรถยนต์กลายเป็น ‘จอที่สี่’ ที่ผู้บริโภคใช้ในการเชื่อมต่อกับข้อมูลและคอนเท้นต์จากอินเทอร์เน็ต 2) ‘Natural User Interface’ รถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ขับขี่อย่างไร้รอยต่อ ด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่ล้ำสมัยและยังเป็นมิตรต่อการใช้งานในชีวิตจริง 3) ‘Assisted Driving’ ที่ยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ โดยการโต้ตอบโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวแบบอัตโนมัติ
3. ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รถใช้ถนนแบบยั่งยืน (SUSTAINABLE MOBILITY)
ด้วยทุกวันนี้ผู้คนหันมาตื่นตัวกับผลกระทบจากการใช้รถต่อสภาวะโลกร้อนและกังวลกับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แนวโน้มของความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่จะขับรถส่วนตัวนั้นน้อยลงเรื่อยๆ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์จึงหันมาเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนที่มีต่อชีวิตของผู้บริโภค และปรับวิสัยทัศน์ของบริษัทไปสู่แนวทางการทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น 1) ‘Mobility Solutions’ การเสริมบริการโซลูชั่นสำหรับการเดินทางส่วนบุคคล จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ 2) ‘Zero Emission Target’ การสร้างสรรค์และคิดค้นต้นแบบล้ำสมัยสำหรับรถที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมยุคใหม่ และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ 3) ‘The Sustainability Culture’ การที่แบรนด์รถยนต์มีส่วนร่วมในการแชร์ความรู้และสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับ ความเป็นอยู่ของชุมชนและสังคม ศิลปะและวัฒนธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อม และความตื่นตัวต่อสถานการณ์โลกเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของคนเมือง และสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับสิ่งที่แบรนด์จะนำเสนอต่อผู้บริโภคในโลกอนาคต
4. จุดยืนด้านความเป็นตัวตนและจิตวิญญาณของแบรนด์ (SPIRIT AND SOUL)
ในยุคสมัยที่อะไรก็ไม่แน่นอนและวิกฤตในด้านต่างๆ ผู้คนหันมามองหาความหมายและที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อก้าวสู่อนาคตข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการสื่อสารแบรนด์ที่เข้าถึงจิตใจของผู้บริโภค ไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ทางด้านเหตุผล จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนานและมีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น 1) ‘The Human Spirit’ แบรนด์รถยนต์เริ่มสื่อถึงจิตวิญญาณของแบรนด์ ด้วยการสื่อสารที่พูดถึงคุณลักษณะที่น่าชื่นชมต่างๆของมนุษย์ เพื่อปรอบประโลมเรื่องราวด้านลบที่ผู้บริโภคต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน 2) ‘Brand Heritage’ การสื่อสารแก่นแท้และความเป็นมาของแบรนด์ เป็นวิธีที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมายในภาพกว้าง 3) ‘Connections to Culture’ การสร้างจุดเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภค โดยการนำสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีความหมายอันลึกซึ้งต่อผู้บริโภคมาใช้ในสื่อสาร ซึ่งเป็นวิธีที่หลายแบรนด์ปรับเข้าหาตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่ เช่นประเทศจีนและอินเดีย
5. สร้างสรรค์มิติประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัส (PIONEERS IN INTERACTIVITY)
เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนตร์นั้นถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แบรนด์รถยนต์จึงเป็นผู้นำในการใช้นวัตกรรมทางด้านใช้สื่อดิจิตอลในการโฆษณา เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้บริโภคเช่นเดียวกัน
ในยุคสมัยนี้ มุมมองระหว่างสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่เช่นดิจิตอลมีการผสมผสานกันอย่างแยกออกไม่ได้ ทำให้ 1) ‘Integrated Campaigns’ การสื่อสารไอเดียหลักผ่านสื่อที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อที่จะจับความสนใจของผู้บริโภคได้ 2) ‘Larger-Than-Life’ การเปลี่ยนการโต้ตอบกับสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน มาสร้างเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานน่าตื่นเต้นเพื่อสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค 3) ‘Mobile Engagement’ การเชื่อมโยงรถยนต์เข้ากับแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนโดยเน้นการสร้างความสนุกสนานและสื่อสารถึงประโยชน์ที่จับต้องได้จริงพร้อมผสานความเป็นโซเชียล เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับและแบรนด์อย่างต่อเนื่อง