ฟรีทีวีถอยไป…เมื่อ “ทีวีดาวเทียม” กลายเป็นอาวุธสำคัญของม็อบการเมืองของไทย ล่าสุดม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และระบอบทักษิณ ได้เกิดการจับมือระหว่างช่องทีวีดาวเทียม สร้างปรากฏการณ์ “เน็ตเวิร์ก ทีวีดาวเทียม” ขึ้นมาในโลกของการสื่อสาร ไม่เพียงแต่ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสของบริษัท Exact ค่ายผู้ผลิตละคร ละครเวที เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่อดรนทนไม่ไหว ถึงกับโพสต์ข้อความลงในอินสตาแกรม เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีข้อความว่า “ผิดวิสัยสื่อมวลชนจริงๆ สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของประเทศวันนี้ แต่สื่อ Free TV ของประเทศไม่นำเสนอ…เลิกปิดหูปิดตาประชาชนกันเถอะ” สะท้อนชัดเจนถึงความรู้สึกหมดหวังที่มีต่อสื่อฟรีทีวี ที่ไม่ไยดี หรือให้ความสำคัญกับสถานการณ์ทางการเมือง แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้คนออกมาชุมนุมกันมากมาย ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงครั้งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่มีคนเดินทางมาร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนินเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ภาพจากมุมสูงที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงเป็นข่าวนำบนหน้า 1 สามารถพิสูจน์ได้ แต่ฟรีทีวียังคงนำเสนอรายการ ละคร เกมโชว์ ปกติ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เลือกที่จะ “เซ็นเซอร์” ตัวเอง ไม่ให้เวลากับการนำเสนอข่าว ปิดหูปิดตาประชาชน แม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะคุกรุ่นเพียงใดก็ตาม “ไม่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร คนจะไปชุมนุมมากแค่ไหน ฟรีทีวียังคงเสนอรายการตามเดิม เกมโชว์ ละคร เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง หวังพึ่งไม่ได้เลย” นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งในโลกออนไลน์ ที่หมดหวังกับการทำหน้าที่ของฟรีทีวี ส่งผลให้การรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย และได้พัฒนามาจนถึงการขับไล่ระบอบทักษิณ หลังจากที่รัฐบาลประกาศไม่ยอมรับผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะมี “โซเชียลมีเดีย” อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งกรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด และเฟซบุ๊กเองก็ได้กลายเป็นช่องทางในการสื่อสารสำคัญ จนกลายเป็น “ปรากฏการณ์ของม็อบการเมือง” ครั้งล่าสุดแล้ว อีกเครื่องมือที่สำคัญไม่แพักัน คือ “ทีวีดาวเทียม” ยังเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญกับม็อบการเมืองครั้งนี้ เนื่องจากอีกปรากฏการณ์หนึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายแห่ง จากหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน ทั้งเวทีถนนราชดำเนินของประชาธิปัตย์, เวที คปท. ที่ปักหลักอยู่สะพานมัฆวานฯ เวทีกองทัพธรรม ที่ยืนหยัดอยู่แถวสะพานผ่านฟ้า โดยได้มีการถ่ายทอดผ่านทีวีดาวเทียม เวทีของประชาธิปัตย์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีช่อง “บลูสกาย” และ “ทีนิวส์” เป็นสองช่องที่ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนช่องเอเอสทีวี ถ่ายทอดสดเวที คปท. สลับกับรายการข่าวของสถานี และมี 13 สยามไท ถ่ายทอดจากเวทีนี้เช่นกัน ส่วนกองทัพธรรม มีช่องเอฟเอ็มทีวี และช่องสุวรรณภูมิ ส่วนค่าย นปช. มีช่องทีวีดาวเทียม เอเชีย อัพเดต ช่องดีเอ็นเอ็น ถ่ายทอดสดเวทีม็อบเสื้อแดง จากสนามกีฬาราชมังคลาฯ เป็นหลัก ปรากฏการณ์ของทีวีดาวเทียมกับม็อบการเมือง เริ่มต้นมาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบพันธมิตร ขับไล่รัฐบาลทักษิณในปี 2549 ได้นำช่องทีวีดาวเทียม “เอเอสทีวี” ถ่ายทอดสดการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง มีการออกอากาศทั้งทีวีดาวเทียม และช่องทางออนไลน์ สร้างปรากฏการณ์ “ม็อบเรียลลิตี้” ที่มีคนดูติดตามทั่วประเทศ นับจากนั้นโมเดลของทีวีดาวเทียมเอเอสทีวีก็ถูกใช้เป็นต้นแบบของการสร้างสื่อทีวีดาวเทียมเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ นปช. เมื่อครั้งชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา ในปี 2553 ก็มีช่องทีวีดาวเทียม พีเพิ่ล ชาแนล เป็นช่องทางถ่ายทอดสดการชุมนุม ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเปลี่ยนสถานะมาอยู่ฝ่ายค้าน ได้ให้กำเนิดทีวีดาวเทียม “บลูสกาย” เพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสาร และกระบอกเสียงให้กับตัวเอง โดยใช้โมเดลคล้ายกับกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้จากค่าโฆษณา การรับสมาชิกข้อความสั้น การจัดกิจกรรมกับผู้ชม และการขายสินค้า รวมถึงการจัดเวที เดินหน้าผ่าความจริงไปตามสถานที่ต่างๆ ที่เปรียบได้กับการเดินสายจัดอีเวนต์ ที่ได้ประโยชน์ทั้งเรื่องของการเมืองและการตลาดให้กับทีวีช่องบลูสกาย ที่ต่อมาได้เช่าสัญญาณจากดาวเทียมไทยคม 5 เพื่อออกอากาศในระบบซีแบนด์ ควบคู่กับระบบเคยูแบนด์ ทำให้การรับชมแพร่หลายยิ่งขึ้น การชุมนุมของม็อบราชดำเนินเพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อเนื่องมาจนถึงการขับไล่ระบอบทักษิณ ที่ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ช่องบลูสกายได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธสำคัญ ที่ใช้ถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ช่อง “บลูสกาย” มาแรงแซงหน้าขึ้นครองเรตติ้งอันดับ 1 ไม่ต่างจากช่องเอเอสทีวีเคยครองเรตติ้งอันดับ 1 ในช่วงม็อบพันธมิตร ในปี 2549 มาแล้ว อีกหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญของม็อบการเมืองครั้งนี้ คือ การเกิดของ “เน็ตเวิร์ก ทีวีดาวเทียม” ที่เป็นการร่วมมือระหว่างช่องทีวีดาวเทียม อันประกอบไปด้วย ช่องบลูสกาย ยังได้ไปจับมือกับช่องทีวีดาวเทียมอื่นๆ จัดตั้ง “ราชดำเนินเน็ตเวิร์ก” โดยมีช่องบลูสกาย ช่องทีนิวส์ ช่องเอฟเอ็มทีวี ช่อง 13 สยามไท ร่วมกันถ่ายทอดสด และนำรายการจากช่องบลูสกายไปเผยแพร่อีกต่อ เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างช่องบลูสกายและเอเอสทีวี ได้นำรายการบลูสกายมาออกอากาศในบางช่วง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ควบคู่ไปกับถ่ายทอดสดเวที คปท. ที่นำเสนอเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ชมได้รับข่าวสารอย่างครบถ้วนที่สุด นอกจากนี้ อีกสาเหตุสำคัญ คือ “สื่อฟรีทีวี” เองไม่ให้น้ำหนักกับการนำเสนอข่าวการชุมนุม ก็ยิ่งทำให้ทีวีดาวเทียมกลายเป็นสื่อทางเลือกของคนดูทั่วไป เพราะหาดูไม่ได้จากฟรีทีวีทั่วไป อย่างที่ ดั่งใจถวิล อนันตชัย นายกสมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า สาเหตุที่สื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากในม็อบทางการเมืองครั้งนี้ เพราะสื่อฟรีทีวีไม่ทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองเท่าที่ควร ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่า จากพฤติกรรมของคนในยุคนี้ ที่มีการโพสต์และแชร์ตลอดเวลา นอกจากนี้ “มีเดียมอนิเตอร์” โดยมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ ได้นำเสนอผลการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนของฟรีทีวีและทีวีดาวเทียม กับการนำเสนอข่าวการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในประเด็นอารยะขัดขืน ผลปรากฏว่า ช่องข่าวทีวีดาวเทียมให้พื้นที่ข่าวการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในประเด็นอารยะขัดขืนมากกว่าข่าวในฟรีทีวี โดยช่อง 5 ให้เวลาข่าวการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นี้ ในสัดส่วนที่น้อยที่สุด แต่ทุกช่องเน้นการรายงานตามสถานการณ์การชุมนุม โดยแหล่งข่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ที่คัดค้านมาตรการอารยะขัดขืน ขณะที่ความเห็นประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมมีสัดส่วนน้อย การศึกษาในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมด้วยการพิจารณา 3 วาระ ในรวดเดียว ได้ก่อให้เกิดการชุมนุมคัดค้านจากหลายกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน จนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยต้องทำจดหมายถึงสื่อมวลชน ผู้ประกอบการสื่อ และผู้ดำเนินการจัดการชุมนุม ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไป ตรงมา ปราศจากอคติ เปิดพื้นที่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยที่ผู้บริหารองค์กรสื่อควรสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่ออย่างไม่แทรกแซง กดดัน และไม่ทำให้สื่อมีอาการเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship) กับขอให้ผู้จัดชุมนุมทุกกลุ่มให้สื่อทำหน้าที่อย่างอิสระ และไม่ทำให้สื่อถูกเข้าใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกับผู้ดำเนินการชุมนุม ทั้งนี้ มีเดียมอนิเตอร์ได้เลือกศึกษาสื่อโทรทัศน์ทางช่องฟรีทีวี ประกอบไปด้วย ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง 11 และช่องไทยพีบีเอส และช่องข่าวทีวีดาวเทียม ประกอบไปด้วย ช่องเนชั่น, สปริงนิวส์ และวอยซ์ทีวี ระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน ที่เป็นช่วงที่มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศมาตรการอารยะขัดขืน เพื่อต่อต้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎร ผลการศึกษาพบว่า สถานีทีวีที่นำเสนอข่าวสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าวมากที่สุด คือ สปริงนิวส์ ให้เวลา 21 ชั่วโมง 53 นาที รองลงมา คือ ช่องเนชั่น (13 ชั่วโมง 9 นาที) ช่องไทยพีบีเอส (9 ชั่วโมง 50 นาที) ช่องวอยซ์ทีวี (8 ชั่วโมง 50 นาที) ช่อง3 (5 ชั่วโมง 5 นาที) ช่อง 7 (2 ชั่วโมง 41นาที) ช่อง 9 (2 ชั่วโมง 32 นาที) ช่อง 11 (2ชั่วโมง 16 นาที) และช่อง 5 (1 ชั่วโมง 28นาที)
เห็นได้ชัดว่า เมื่อสื่อทีวีไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น หรือเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้ทีวีดาวเทียมกลายเป็นสื่อคู่ม็อบการเมือง และจะมีเรตติ้งมาแรง ชนิดที่สื่อทีวีต้องหันมาทบทวนตัวเอง