ปั้นห้างหรู เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่

ใกล้คลอดเต็มที่  “เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่” โครงการระดับ “ลักชัวรี่ รีเทล ของกลุ่มเซ็นทรัล มีกำหนดเปิดในวันที่ 8 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ โครงการเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์  วัย 39 ปี  ที่รับงานระดับบิ๊กโปรเจค จึงต้องนัดแถลงข่าวเล่าความคืบหน้าให้สื่อมวลชนได้ฟังกัน

โครงการนี้ใช้เวลาเดินทางมาถึง 7 ปีเต็ม เริ่มต้นจากการซื้อที่ดินของสถานฑูตอังกฤษ ในปี 2549 ใช้เวลาอีก 4 ปี พัฒนาคอนเซปท์ ภายใต้แนวคิด “Infinite Possibilities” และใช้เวลาก่อสร้างอีก 3 ปี

ใช้เงินลงทุนบนพื้นที่ 144,000 ตารางไปแล้ว 18,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นที่ดิน 6,000 ล้านบาท โครสร้าง 7,000 ล้านบาท และเงินลงทุนตกแต่งภายในและร้านค้าต่างๆ อีกกว่า 5,000 ล้านบาท เมตร ถ้าคิดเป็นเงินลงทุนต่อตารางเมตร ถือว่าสูงที่สุดของห้างรีเทลที่เคยมีมา (คำนวนแล้ว ตกเฉลี่ยตารางเมตรละ 8 ล้านบาท) 

“เคยเห็นอาคารรูปแบบนี้มั้ย…”ชาติถาม  เรากำลังทำ สิ่งที่ไม่เหมือนใคร” เขาย้ำตลอดถึงการเป็น “นิว ลักชัวรี่ รีเทล” ไม่ใช่แค่สร้างตึกที่เป็นกล่องแล้วมีร้านค้ามาเปิด แต่ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ ในเรื่องของดีไซน์  เรื่องของการจัดวางร้านหรือแบรนด์ brand mix  ให้เกิดความลงตัว

“เรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะเราต้องยึดแบรนด์ที่เขามีปรัชญา และคอนเซปท์ของแบรนด์ใกล้เคียงกัน เช่น ร้านรองเท้าจะตั้งอยู่คู่กับแบรนด์กระเป๋าที่มีสไตล์ของดีไซน์เข้ากันได้” ชาติ งานนี้เลยต้องบินไปดูห้างสรรพสินค้าในหลายประเทศเพื่อนำมาปรับใช้

สำหรับ ร้านแบรนด์เนมที่ไม่เคยมาเปิดสาขาในในไทย หรือ มีสาขาแล้วแต่เปิดคอนเซปท์ใหม่ เวลานี้ได้มาแล้ว 200 ร้านค้า คิดเป็นสัดส่วน 35%  เกิดเป้าหมายเดิมตั้งไว้ 30%  ในจำนวนนี้ เป็นแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยเปิดในไทย 20%  หรือประมาณ 40 ร้านค้า เช่น Tom Ford,Christian Louboutin  สองแบรนด์แฟชั่นหรูจากฝรั่งเศส ที่ไม่เคยเปิดสาขาในไทยมาก่อน ส่วนอีก 15% เป็นแบรนด์ที่เคยมีสาขาในไทยแต่ใช้คอนเซป์ใหม่

แน่นอนว่า ลูกค้าที่มาอาจไม่ได้ช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมทั้งหมด  แต่เขาอาจจะมานั่งจิบกาแฟ ทานอาหาร “

ร้านอาหารของที่นี่จะมีสัดส่วน 30% มากกว่าห้างปกติ ที่จะมีสัดส่วน 25%  โดยเน้นร้านชื่อดังในต่างประเทศที่อยู่ในกระแสนิยม  ประเภทที่เป็น “Must have” เช่น ร้าน Paul จากอังกฤษ  เป็นร้านเสิร์ฟประเภท ออลเดย์บรันช์ มีสาขาในฮ่องกง สิงคโปร์  หรือ ร้านคินาตะ ซูชิจากเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น รวมถึง ร้านอาหารประเภทฮิปไบท์ เน้นอาหารทานง่ายๆ คนรุ่นใหม่ชอบ แต่งร้านเก๋ๆ

ส่วนโรงภาพยนตร์ The Embassy Diplomat Screens ใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท จำนวน 5 โรง เป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทเอ็กเซกคลูทีฟ ซีนีม่า คอร์ปอเรชั่น เน้นคอนเซปท์หรูหรา ที่นั่งออกแบบที่นั่งไม่เหมือนใคร  แต่ละโรงจะมีเลาจ์ของตัวเอง ราคาตั๋ว 1,000-1,500 บาท

ลงทุนขนาดนี้ เมื่อถามถึง “ค่าเช่า”ของห้างหรูระดับนี้  ชาติ บอก เขาเปลี่ยนวิธีคิดค่าเช่า จากเดิมที่คิดค่าเช่าตามขนาดของพื้นที่ร้าน มาใช้วิธีการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย หรือ GP  แต่ยังไม่เปิดเผยเปอร์เซ็นต์ โดยให้เหตุผลว่า “วิธีนี้เหมือนกับเราลงเรือลำเดียวกับแบรนด์ ถ้าเขาขายได้ ผมก็ขายได้ ที่สำคัญทำให้ผมรู้ยอดขายแต่ละร้านได้เลย ถ้าเขาไม่ถึงเป้าเพราะเรื่องอะไร เรื่องแบรนด์ หรือเรื่องการตลาด เราจะได้ปรับกลยุทธได้ทัน ถ้าใช้วิธีคิดค่าเช่าต่อตารางเมตร

ในวันที่ 8 พฤษภาคม วันแกรนด์โอเพนนิ่ง ใช้งบ 100 ล้านบาท เพื่อจัดงานใหญ่โดย เชิญสื่อนอก ทั้งสื่อมวลชน และบล็อกเกอร์จากต่างประเทศ  จากนั้นจะใช้งบอีก 200 ล้านบาท จัดอีเว้นท์การตลาด เพื่อสร้าง “โมเมนตั้ม”ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี

ชาติบอกว่า หลังเปิดตัวคาดว่าจะมีลูกค้าหมุนเวียน 5-6 หมื่นคนต่อวัน และคาดหวังว่าจะกระตุ้นให้สัดส่วนการช้อปปิ้งเพิ่มขึ้น 30%  จากเดิมอยู่ที่ 10% 

เปิดตัวครั้งนี้เป็นแค่เฟสแรกเท่านั้น ต้องรอเฟส 2 คือ ต้องรอโรงแรม ปาร์คไฮเอท กรุงเทพฯ ระดับ 6 ดาว ขนาด 222 ห้อง การก่อสร้างเสร็จในปีหน้า ส่วนจะงบจะบานปลาย หรือจะทอดยาวไปอีกหรือไม่ ชาติบอกยิ้มๆ ว่า “ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ของเซ็นทรัลจะไปเจออะไรมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่