จากหนังสือการ์ตูน สู่สติกเกอร์ไลน์ การเดินทางของการ์ตูนไทยที่ผันตัวจากโลกใบเก่ามาสู่โลกดิจิตอล เป็นกรณีศึกษาให้กับคนไทยที่อยากขาย “สติกเกอร์ผ่านไลน์” ควรทำอย่างไร
ขายหัวเราะ ถือเป็นการ์ตูนไทยแห่งที่ 2 ที่นำคาแรกเตอร์การ์ตูนขายผ่าน “สติกเกอร์ช็อป” ของไลน์ แชตแอปพลิเคชั่นยอดฮิต มีผู้ใช้ในไทยทะลุ 26 ล้านราย
หลังจากเปิดให้โหลดได้แค่ 5 วัน (เปิดให้โหลดในวันที่ 6 มีนาคม) สติกเกอร์ขายหัวเราะ มียอดดาวน์โหลดทะลุ 1 แสนครั้ง เกินเป้าหมายที่วางไว้ สันติ เลาหบูรณะกิจ ผู้จัดการทั่วป บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น คาดหมายไว้ว่า จะต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน แถมยังติดอันดับ 1 ในสติกเกอร์ขายดีของไลน์ นับว่าเป็นก้าวแรกที่ไม่ธรรมดา
สันติ เล่าว่า ที่จริงแล้ว ขายหัวเราะได้ปรับตัวเองเข้าสู่โลกดิจิตอลมาได้หลายปีแล้ว โดยเริ่มจากการทำให้เป็นอีบุ๊กส์ “แทนที่จะเป็นแค่ไฟล์พีดีเอฟ เราก็ใส่คลิปเสียง ใส่แอนิเมชั่นเข้าไป ขายราคาถูกลง 30% บางทีก็มีโปรโมชั่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ถึงวันหนังสือออกก็ให้โหลดอัตโนมัติ”
นอกจากนั้น “วิธิตา แอนิเมชั่น” บริษัทในเครือซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของบรรลือกรุ๊ป ทำหน้าที่ “ดิจิไทซ์” แปรสภาพการ์ตูนขาย ให้อยู่ในแพลตฟอร์มของดิจิตอลมีเดียต่างๆ ทั้งรายการทีวี ทำแอปพลิเคชั่น และการทำโมบายคอนเทนต์ เพื่อให้การ์ตูนขายหัวเราะใกล้ชิดกับผู้อ่านตลอดเวลา
เมื่อ “ไลน์” ได้สร้างปรากฏการณ์ “แอปพลิเคชั่น แมสเสจจิ้ง” ผ่านโมเดลการส่งสติกเกอร์ ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี มียอดผู้ใช้ 26 ล้านราย เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ไลน์หันมาให้เข้าถึงรสนิยมของคนไทยให้มากขึ้น โดย “การ์ตูน” ของไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของไลน์ในการสร้าง Content ไทยลงไปในไลน์ จึงเกิดการร่วมมือกับ “อินิทรี” ซึ่งเวลานี้ได้ขยายธุรกิจจากการพัฒนาเกมมาเป็น Content Aggregator เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ในการผลักดันสติกเกอร์การ์ตูนขายหัวเราะขายผ่านไลน์
ภัทธีรา อภิธนาคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินิทรี ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) ได้เล่าถึงความเป็นมาในการจับมือร่วมกันระหว่างไลน์และวิธิตา แอนิเมชั่น “ส่วนตัวจะรู้จักกับทางผู้บริหารไลน์ ซึ่งทางผู้บริหารไลน์ในประเทศไทยและที่เกาหลีก็ได้มาปรึกษากับอินิทรีว่า พอจะทำอะไรได้บ้าง และด้วยอินิทรีมียูสเซอร์ที่ใช้งานอยู่ 17 ล้านคน เลยมองว่าทั้งเกมเมอร์ หรือคนทั่วไปในตอนนี้ก็มีไลน์อยู่แล้ว การออกสติกเกอร์ก็เป็นสิ่งที่คนรู้จัก และการทำ Cross Promotion กับไลน์ก็เป็นสิ่งไม่ยาก ก็เลยเกิดความร่วมมือกัน
และส่วนตัวก็รู้จักกับคุณสันติ เลาหบูรณะกิจ ผู้จัดการ วิธิตา แอนิเมชั่น อยู่แล้ว เลยเป็นพาร์ตเนอร์กันช่วยผลักดันให้สติกเกอร์ขายหัวเราะออกสู่ตลาด
โดยก่อนหน้าที่จะออกสติกเกอร์ขายหัวเราะ ได้มีการทดลองตลาดโดยการปล่อย LINE Camera ที่มีแสตมป์ชุดขายหัวเราะไว้ตกแต่งภาพ และเมื่อได้รับฟีดแบ็กที่ดีพอสมควร จึงผลักดันให้สติกเกอร์ขายหัวเราะได้ขายบนไลน์ ซึ่งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างรวดเร็วมาก เริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม และปล่อยสติกเกอร์ขายหัวเราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และล่าสุดก็ปล่อยสติกเกอร์หนูหิ่นบนระบบแอนดรอยด์
บทบาทของทางอินิทรีอยู่ในรูปแบบของการโปรโมตให้เป็นที่รับรู้ในหมู่เกมเมอร์ที่อินิทรีถืออยู่ในมือถึง 17 ล้านคน รวมถึงเป็น Content Applicator ในการดูภาพรวมทั้งหมดของรูปแบบสติกเกอร์ โดยทางวิธิตาจะออกแบบสติกเกอร์ และส่งต่อให้อินิทรีดูคอนเซ็ปต์โดยรวมว่าผ่านหรือไม่ผ่าน จากนั้นค่อยประสานงานกับทางไลน์อีกที ซึ่งคาแรกเตอร์ที่ออกแบบมาต้องกระชับ และตรงใจสไตล์จริงๆ
สันติ ขยายความเรื่องนี้ว่า กระบวนการทำสติกเกอร์ต้องใช้เวลานาน ไลน์จะดูตั้งแต่ประวัติของเรา ส่วนตัวสติกเกอร์เมื่อออกแบบมาแล้ว ทางไลน์ในญี่ปุ่นจะมีการตรวจสอบหรือ “คิวซี” หลายรอบ “งานเขาจะมีกรอบการทำงานเป๊ะๆ เลย เช่นขนาดต้องแค่ไหน ไม่ใช่อะไรก็ได้ เพราะเป็นงานที่ต้องสากล”
“ไลน์จะไม่มาก้าวก่ายในความเป็นหัวขายหัวเราะ เรารู้จักตัวเองดีที่สุด เช่นมุกตลกหลายอย่างที่เขาไม่เข้าใจ เรื่องเมียหลวงเมียน้อย ซิ่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถึงแม้จะไม่เข้าใจเขาก็ไม่มายุ่ง เขาจะแนะนำเรื่องรายละเอียด เล่นโพสท่า สีที่ใช้ เป็นเชิงแนะนำ จากประสบการณ์ที่เขาเจอว่าแบบไหนสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ”
สาเหตุที่เลือกของ “พี่ต่าย” เป็นรุ่นกลางๆ กลางเก่ากลางใหม่ และมีความ “ครบเครื่อง” เรื่องมุกตลกที่หลากหลาย เข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม
สันติมองว่า ความสำเร็จของสติกเกอร์ขายหัวเราะมาจาก การที่คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการ์ตูนขายหัวเราะอยู่แล้ว พอมาเห็นในไลน์ก็คิดถึงอยากโหลดไว้ และราคาไม่สูง 40 ลาย 30 บาท ใช้ได้ตลอดไม่มีหมดอายุ “การ์ตูนโดราเอมอน ดรากอนบอล เรายังโหลด และนี่เป็นของไทยเอง ทำไมจะไม่โหลด”
ส่วนการโปรโมตก็มีส่วนช่วย นอกจากการทำประชาสัมพันธ์ การโปรโมตผ่านสื่อออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ “สังคมไทยเป็นสังคมไวรัล” ทีมงานครีเอทีฟจึงได้คิดทำคลิปสนุกๆ ล้อเลียน 5 พฤติกรรมคนใช้ไลน์ และแฝงด้วยสติกเกอร์ขายหัวเราะ เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสสติกเกอร์ขายหัวเราะขึ้นมา
คนไทยมีสิทธิ์ออกสติกเกอร์ไลน์แค่ไหน
แน่นอนว่าเมื่อมีสติกเกอร์ฝีมือคนไทยอยู่บนร้านค้าสติกเกอร์ในไลน์ อีกทั้งไลน์ยังเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้วาดสติกเกอร์ของตนเอง แล้ววางขายบนร้านค้าสติกเกอร์ไลน์ได้ ย่อมเปิดโอกาสให้กับศิลปินนักวาดภาพชาวไทยไม่น้อย ซึ่งทางภัทธีราได้ให้ความเห็นว่า
“จริงๆ คนไทยมีฝีมือในการออกแบบค่อนข้างเยอะ แต่ขาดการส่งเสริม ขาดช่องทางการนำเสนอ และขาดการทำ Mass Marketing เลยไม่ได้ถูกผลักดันให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ในการที่ไลน์เข้ามาตอนนี้ก็เป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มคนอย่างรวดเร็ว อยากให้นักวาดการ์ตูนและเจ้าของคาแรกเตอร์มองว่า มันเป็นโอกาสในการที่จะผลักดันตัวที่ออกแบบ และเป็นช่องทางให้เกิดการรับรู้
ไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่นักวาดการ์ตูนไทยสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ก่อนการเข้าถึงลูกค้าค่อนข้างจำกัด วันนี้ไลน์ทำให้เข้าถึงทุกทาร์เก็ตกรุ๊ปได้ อยากให้นักวาดการ์ตูนมองว่าตรงนี้เป็นช่องทาง แต่ควรคิดแผนการให้ครอบคลุม ไม่ควรมองแพลตฟอร์มแค่ไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ควรมองด้วยว่ามีโปรดักต์อย่างอื่นที่จะทำการตลาดส่งเสริมอย่างไรได้บ้าง อย่างขายหัวเราะและหนูหิ่นมีหนังสือการ์ตูนที่จะทำการตลาดร่วมกันได้
ส่วนสันติมองว่า การที่คนทั่วไปจะทำสติกเกอร์ขายในไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากไลน์จะเลือกการ์ตูนที่มีประวัติศาสตร์ มีฐานแฟนค่อนข้างเยอะ แต่จากการที่ได้รับฟังข่าวว่าไลน์เปิด “ครีเอเตอร์ มาร์เก็ต” ขึ้นมา สะท้อนว่าไลน์เริ่มให้ความสนใจศิลปินเดี่ยว เป็นคนทั่วไปที่มีฝีมือ ได้มีช่องทางในการขายสติกเกอร์ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมาก่อน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนไทยที่จะได้มีโอกาสจากช่องทางใหม่ๆ เหล่านี้
นักเขียนการ์ตูนไทยฝากความหวังกับไลน์
จากการที่สอบถามนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ไฟแรงของไทย เกี่ยวกับการทำสติกเกอร์ไลน์ออกขายนั้น พบว่า หลายคนให้ความสนใจ เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกเขายังไม่รู้รายละเอียดและขั้นตอนการทำแค่นั้นเอง
ผู้สนใจคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า “ทำสติกเกอร์ลายหนึ่ง ขาย 30 บาท แบ่งกับไลน์คนละ 15 บาท และดูจำนวนคนใช้ไลน์ตั้งกี่ร้อยล้านคน ขอแค่ขายให้ได้ 1 ล้านคนก็พอ ก็ได้ 15 ล้านบาทแล้ว”
ซันเต๋อ ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล นักวาดภาพหนุ่มไฟแรงผู้มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ เจ้าของแฟนเพจชื่อ SUNTUR ที่มียอดคนกดไลค์กว่า 120,000 คน ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า “การที่ไลน์เปิดให้ทำสติกเกอร์เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นช่องทางเผยแพร่งานได้กว้างขึ้น เดี๋ยวนี้ไลน์อยู่กับคนไทยแทบจะทุกวัน ผมก็อยากทำ และเดี๋ยวนี้เห็นงานคนไทยเยอะขึ้นมากๆ มีหลากหลายสไตล์ อาจจะเป็นเพราะมีสื่อโซเชียลมีเดียเยอะมาก และมีอิทธิพลมากเช่นกัน ทำให้ได้เห็นงานเยอะ และฝีมือแต่ละคนก็ไม่แพ้ต่างชาติ
ซันเต๋อเป็นอีกคนหนึ่งที่จะมีผลงานสติกเกอร์ไลน์กับแบรนด์ธนาคารแบรนด์หนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้แบรนด์จะนิยมให้นักวาดภาพประกอบวาดคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนใส่สติกเกอร์ไลน์ ที่จะให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดเพื่อแลกกับ Official Account ในการให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงผู้ใช้ ซึ่งแต่ละแบรนด์พยายามเลือกคนที่ยังไม่เคยทำ เพราะไม่อยากได้ลายเส้นซ้ำกัน
เหตุผลที่แบรนด์นิยมจับมือกับนักวาดภาพประกอบให้วาดสติกเกอร์ไลน์นั้น ในมุมมองซันเต๋อแล้ว มองว่า ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงกำลังฮิตก็ได้ ภาพประกอบมันเข้าถึงคนง่ายกว่า ดูง่ายเข้าใจง่าย แล้วสามารถบวกได้กับทุกโปรดักต์ สมัยนี้แบรนด์ก็อยากได้สติกเกอร์ที่แมสมากขึ้น แบบทุกคนเข้าใจ เลยนิยมใส่คำพูดและก็โลโกของแบรนด์ลงไป
และพูดถึงโอกาสของนักวาดภาพประกอบในเมืองไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว ซันเต๋อมองว่า ต่างประเทศจะให้โอกาสกับอาชีพนี้มากกว่า ทั้งในด้านรายได้ หรือที่ให้ปล่อยของมีมากกว่าไทยเยอะ อย่างไปที่ประเทศฮ่องกง เขาให้ทั้งลานหน้าห้างสำหรับโชว์งานเลย แต่ถ้าเป็นที่ไทย มันจำเป็นต้องเป็นการตลาด ต้องมีแบรนด์มาสนับสนุน
แต่เชื่อว่าการทำสติกเกอร์ไลน์ออกขายนั้น สามารถทำให้ผลงานของนักวาดภาพประกอบไทยไปไกลมากขึ้น คนที่ไม่รู้จักก็อาจจะกดส่งสติกเกอร์ไปให้อีกหลายคน มันเหมือนเขาส่งต่องานให้คนอื่นต่อๆ ไปเรื่อยๆ