ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งด่วนชั้นนำระดับโลก เผยผลรายงานฉบับล่าสุดว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีหรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่วนใหญ่เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตในระดับนานาชาติ และตั้งเป้าเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นถึงร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้เป็นการค้นพบจากงานวิจัยที่จัดทำโดยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรืออีไอยู จากผลการสำรวจความคิดเห็นกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเอสเอ็มอีจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางธุรกิจจำนวน 480ตัวอย่างทั่วทุกมุมโลก แสดงให้เห็นว่าธุรกิจขนาดย่อมทั้งหลาย ยังคงประสบกับอุปสรรคในระดับสากลอยู่
การค้าขายระหว่างประเทศในแง่ของความสำเร็จในระยะยาว ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคด้านสถานการณ์ทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ วัฒนธรรมอันแตกต่าง และโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่มีไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความล่าช้าต่อการเติบโตในตลาดต่างประเทศทั้งหลาย ผลการสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาและที่เจริญก้าวหน้าแล้ว โดยมีตัวเลขของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศกลุ่ม G7 (ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมันนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา) ถึงร้อยละ 69 ที่กำลังทำธุรกิจระหว่างประเทศ และมีเพียงร้อยละ 46 จากผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา BRICM (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และเม็กซิโก) ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
การเอาชนะต่อสภาวะตลาดที่แตกต่างกันเป็นก้าวกระโดดไปสู่ความสำเร็จ
การค้าระหว่างประเทศนับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี คุณภาพของปัจจัยต่าง ๆ ในตลาดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะในส่วนของโครงสร้างภายใน เสถียรภาพทางการเมือง ต้นทุนการจัดการ ในการทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ รวมถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ผู้บริหารทุกคนได้ชี้แจงออกมาในผลสำรวจความคิดเห็น ที่ล้วนแล้วมีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจในตลาดการค้าใหม่ ๆ ความไม่เคยชินต่อตลาดต่างประเทศเป็นปัจจัยที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 84 โดยยังตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ความเข้าใจต่อภาษาและวัฒนธรรมของตลาดเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญถึงสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มักเห็นคนทำธุรกิจเอสเอ็มอีมักลงทุนในตลาดที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับประเทศของตน ผลการสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นถึงนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่มBRICM มักมองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศอื่น ในขณะที่นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม G7 ก็มักมองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศที่มีความก้าวหน้าแล้ว ดังตัวเลขที่แสดงไว้ว่า มีนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่มBRICM ร้อยละ 15 หาโอกาสทางธุรกิจในประเทศรัสเซีย จีน อินเดีย และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่มีนักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม G7 เพียงร้อยละ 3.6กำลังหาช่องทางธุรกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว
เคน อัลเลน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า “นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่ม BRICM มักประสบความสำเร็จทางธุรกิจในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะสามารถเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ของตลาดได้ดี และสามารถเสนอราคาที่ดีกว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่า หากคุณกำลังคิดจะลงทุนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงควรศึกษาถึงวิธีการเข้าสู่ตลาดที่กำลังเกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ ในขณะที่การคำนวณหามาตรการใหม่ ก็จะช่วยให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในตลาดการค้าระหว่างประเทศ จากประสบการณ์โดยตรงของดีเอชแอล เราตระหนักดีว่าบริษัทคู่ค้า และผู้ให้บริการทั้งหลาย โดยเฉพาะในแวดวงของลอจิสติกส์และการขนส่ง สามารถยืนหยัดและต้านรับต่ออุปสรรคทางด้านวัฒนธรรมและโครงสร้างขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างดี โดยสามารถตั้งราคาที่ได้เปรียบในการแข่งขันได้”
ในส่วนของการขยายโอกาสการเติบโต การหาพันธมิตรร่วมก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในธุรกิจเอสเอ็มอี โดยผลการศึกษาพบว่า นักลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศกลุ่มG7 มักคุ้นเคยที่จะคบค้ากับผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าต่อ และบริษัทที่มีเครือข่ายการติดต่ออยู่ก่อนแล้ว เพื่อเป็นการประหยัดงบในการลงทุนไปได้ในตลาดใหม่ทั้งหลาย ผลการศึกษายังระบุว่ามาตรการใหม่ที่ใช้ได้ผลในตลาดเหล่านี้ เช่นการทำธุรกิจโดยการประหยัดช่องสื่อสารแบบ piggybacking หรือการทำการค้ากับบริษัทที่มีช่องทางการติดต่อค้าปลีกอยู่ก่อนแล้ว เพื่อเข้าถึงตลาด sub-Saharan ในแอฟริกา เป็นต้น
ธุรกิจขนาดย่อมได้ผลในประเทศจีน แต่ใช้ไม่ได้ในทวีปแอฟริกา
แม้จะได้รับข่าวเกี่ยวกับการเติบโตในภูมิภาคแอฟริกาจากสื่อมวลชนทั่วโลก แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีในทวีปแอฟริกาก็ยังไม่เติบโตก้าวหน้ามากเท่าที่ควร โดยจากผลการสำรวจยังพบผู้ตอบคำถามทั้งจากกลุ่ม BRICM และ G7 ถึงร้อยละ 40 ที่ลงความเห็นว่ายังมองไม่เห็นแสงสว่างของธุรกิจเอสเอ็มอีในทวีปดังกล่าว ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ นับตั้งแต่ความผันผวนทางการเมือง หรือโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ยังล้าหลังล้วนแล้วแต่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของธุรกิจ เหลือพื้นที่ให้เพียงธุรกิจที่รัฐฯเป็นเจ้าของ หรือธุรกิจร่วมทุนขนาดใหญ่เพียงเท่านั้น ด้วยปัจจัยด้านเงินทุนที่สูงกว่า และการมีเส้นสายในแวดวงทางการเมือง ขณะเดียวกัน ในประเทศจีน ยังคงเป็นประเทศที่มีความเติบโตทางธุรกิจเอสเอ็มอีรุดหน้าไปอย่างมาก เนื่องด้วยขนาดของตลาด และนโยบายของรัฐบาลจีนที่ให้การเอื้ออำนวยต่อการเจริญก้าวหน้าของธุรกิจแขนงนี้ แต่ด้วยปัจจัยเดียวกันเหล่านี้ และความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ยังทำให้นักลงทุนทั้งหลายต้องศึกษาแนวทางการลงทุนในประเทศจีนอย่างไตร่ตรองถี่ถ้วน
“การเจาะเข้าสู่ตลาดใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ สำหรับนักลงทุนขนาดย่อมที่ต้องการทำธุรกิจในตลาดดังกล่าวโดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกา สำหรับบริษัทของเราที่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ที่เชี่ยวชาญในด้านลอจิสติกส์นั้น เราพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือนักลงทุนขนาดย่อมทั้งหลาย ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพที่มีอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก เพื่อแสดงให้พวกเขาได้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่ ก็สามารถสร้างความสำเร็จทางธุรกิจในตลาดสากลได้ด้วยเช่นกัน และด้วยการวางแผนการธุรกิจที่รอบคอบ ผนวกด้วยการออกแบบห่วงโซ่อุปทานหรือเครือข่ายลอจิสติกส์เป็นอย่างดี และการเข้าใจจุดแข็งของธุรกิจ จะทำให้นักลงทุนในธุรกิจขนาดย่อมสามารถฝ่าแนวอุปสรรคที่ขวางกั้น ไปสร้างจุดยืนที่เข้มแข้งให้กับตนเองในตลาดต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน” เคน อัลเลน กล่าวเพิ่มเติม
สามารถดูรายงานฉบับสมบูรณ์ที่จัดทำโดยอีไอยู ร่วมกับดีเอชแอล เอ็กซ์เพรสในชื่อBreaking borders: From Canada to China, barriers overshadow growth for expanding SMEs ได้ที่ http://www.economistinsights.com/countries-trade-investment/analysis/breaking-borders