วอร์ตัน สคูล แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พร้อมด้วยศิษย์เก่าของสถาบันกว่า 92,000 คนจากทั่วโลก ร่วมจัดการประชุมระดับโลกที่กรุงเทพฯ (Wharton Global Forum Bangkok) ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2558 นับเป็นการรวมตัวของผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการชั้นนำของโลก เพื่อร่วมอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของเอเชีย ในหัวข้อ “เอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน” สอดร้บกับการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเร็ว ๆ นี้
เอเชียเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจมากที่สุดและเป็นภูมิภาคที่มีการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหลักของโลกมาตลอดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อนาคตของเอเชียจึงมีบทบาทสำคัญต่อโลก การประชุมระดับโลกของวอร์ตันที่กรุงเทพฯ (Wharton Global Forum Bangkok) ครั้งที่ 47 จึงจัดประชุมในหัวข้อเรื่อง “เอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน” ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ โดยมีคณาจารย์และนักวิชาการจากวอร์ตัน สคูล เหล่าศิษย์เก่า รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคเข้าร่วมอภิปรายเพื่อนำเสนอมุมมองและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจที่มีผลกระทบเกี่ยวเนื่องกันทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการอภิปรายเชิงเศรษฐศาสตร์แบบบูรณาการในประเด็นที่สำคัญ อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อุตสาหกรรมพลังงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว กระบวนการตัดสินใจ และการบริหารจัดการคนเก่งสำหรับองค์กร
ดร. เจฟฟรีย์ การ์เร็ต คณบดี วอร์ตัน สคูล กล่าวว่า “ในฐานะสถาบันการศึกษาระดับสากล เรามีความยินดีสำหรับการจัดประชุมในหัวข้ออนาคตของเอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและเป็นอิสระ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของการประชุมระดับโลกของวอร์ตัน สคูล โดยในยุคที่เศรษฐกิจโลกมีการเปิดเสรีมากขึ้นขณะเดียวกัน พลวัตของเอเชียก็มีบทบาทมากขึ้น การจัดประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายจะร่วมในการอภิปรายถึงอนาคตของเอเชียที่สอดคล้องกับพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้”
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นศิษย์เก่าวอร์ตัน สคูล ปี พ.ศ. 2513 และประธานกิตติมศักดิ์การจัดงาน Wharton Global Forum Bangkok กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นสมาชิกหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นศูนย์กลางด้านการผลิต การค้าและการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ตอบรับต่อแนวทางการเปิดเสรีทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การจัดประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อโลกาภิวัตน์และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเอเชีย”
ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าวอร์ตัน สคูล ปี พ.ศ. 2535 ประธานศิษย์เก่าวอร์ตัน สคูล แห่งประเทศไทย และประธานการจัดงาน Wharton Global Forum Bangkok กล่าวว่า “คณะกรรมการจัดงานประชุมและศิษย์เก่าจากวอร์ตัน สคูล ทั้งหมดในประเทศไทย มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ วอร์ตัน สคูล ตัดสินใจเลือกกรุงเทพฯ เป็นสถานที่จัดงานประชุมระดับโลก เพื่อต้อนรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และนับเป็นโอกาสอันดีที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างศิษย์เก่าวอร์ตัน สคูล จากทั่วโลก คณาจารย์ ผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนจากนานาประเทศ ซึ่งจะได้มาร่วมอภิปรายประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการ อันจะนำไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ๆ อีกนานัปการ และนับเป็นเกียรติอย่างสูงที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมากล่าวปาฐากถาเปิดงานประชุมนานาชาติอันสำคัญครั้งนี้ด้วย”
ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นศิษย์เก่าวอร์ตัน สคูล ปี พ.ศ. 2523 และประธานคณะกรรมการดำเนินงาน Wharton Global Forum Bangkok กล่าวว่า “การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียอย่างรวดเร็วนำไปสู่การเปิดโอกาสที่สำคัญขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ต้องขับเคี่ยวและรับมือกับประเด็นใหม่ ๆ การประชุมเรื่องเอเชียในยุคที่โลกไร้พรมแดน จึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
สำหรับหัวข้อย่อยในการประชุม ได้แก่ โครงสร้างขั้นพื้นฐานของอาเซียน อนาคตของการท่องเที่ยวอาเซียน พลังงานทดแทนในเอเชีย เมียนมาร์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การจัดการและการบริหารวิสาหกิจครอบครัว นวัตกรรมทางออนไลน์และออฟไลน์ และการบริหารจัดการคนเก่งในเอเชีย เป็นต้น
ทั้งนี้ พิธีเปิดการประชุมโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วย ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นองค์ปาฐกของการประชุม จากนั้นจะเป็นการเสวนา นำโดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน นายไซม่อน เทย์ ประธานสถาบันระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (SIIA) และตัน ศรี ดาโต๊ะ ดร.เซติ อัคตาร์ อาซิซ ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งมาเลเซีย ดำเนินรายการโดย นายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการบริหาร เดอะเนชั่น ตลอดจนการสัมมนาหัวข้อต่างๆ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขา อาทิ นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ บมจ.เอสพีซีจี นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นต้น
ด้านนักวิชาการจากวอร์ตัน สคูล อาทิ ราฟฟี อามิต ศาสตราจารย์ภาควิชาการจัดการ เดวิด เบล ศาสตราจารย์วิชาการตลาด เมาโร กุยเล็น ศาสตราจารย์ภาควิชาการจัดการระหว่างประเทศ ริชาร์ด มาร์สตัน ศาสตราจารย์ภาควิชาการเงิน รศ. ฟิลิป นิโคลส์ รองศาสตราจารย์ภาควิชากฏหมายและจริยธรรมทางธุรกิจ และ ศาสตราจารย์ ไดอาน่า ซี. โรเบิร์ตสัน
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ www.whartonbangkok15.com
เกี่ยวกับการประชุมระดับโลกวอร์ตัน (The Wharton Global Forum)
การจัดประชุมระดับโลกวอร์ตัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ได้จัดขึ้นที่ศูนย์กลางระดับนานาชาติที่มีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยการประชุมของวอร์ตันเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองอันทรงคุณค่าด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งการประชุมระดับโลกของวอร์ตันได้จัดในเอเชียรวม 19 ครั้ง ในยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง รวม 15 ครั้ง ลาตินอเมริกา รวม 11 ครั้ง และอเมริกาเหนือ 1 ครั้ง
เกี่ยวกับวอร์ตัน สคูล (The Wharton School)
วอร์ตัน สคูล แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2424 ในฐานะวิทยาลัยด้านธุรกิจแห่งแรก โดยได้รับการยกย่องในระดับสากลว่า เป็นสถาบันที่สร้างสรรค์ผู้นำและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องครอบคลุมในทุกสาขาหลักของการศึกษาด้านธุรกิจ ด้วยความพร้อมในด้านประชาคมนานาชาติในวงกว้างและเป็นหนึ่งในสถาบันด้านธุรกิจที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดทำให้วอร์ตันสามารถสร้างแนวปฏิบัติเชิงสังคมและเศรษฐศาสตร์ในทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้ วอร์ตันมีนักศึกษาสาขาบริหารธุรกิจในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาโทสำหรับผู้บริหารระดับสูง และปริญญาเอก รวม 5,000 คน และมีผู้เข้าร่วมในหลักสูตรอบรมระดับผู้บริหารในแต่ละปีกว่า 9,000 คน โดยมีศิษย์เก่าที่ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิถึง 92,000 คน