เอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) เผยผลวิจัยพบว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน ทว่าเมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตออฟทิงส์หรือการที่อุปกรณ์ต่าง ๆ มีความฉลาดเฉลียวและติดต่อเชื่อมโยงกันได้จนมีบทบาทอย่างยิ่งในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things- IIoT) ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นยุค IIoT จะสามารถผลักดันให้เกิดผลผลิตมูลค่า 14.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี แนวโน้มของผลได้ที่อาจจะเกิดขึ้นก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรธุรกิจหรือรัฐบาลต่าง ๆ จะเตรียมรองรับหรือปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวางได้หรือไม่
รายงานเรื่อง Winning with the Industrial Internet of Things ของเอคเซนเชอร์ ประเมินว่า ยุค IIoT จะช่วยทำให้ตลาดที่พัฒนาแล้วขยายตัวดีเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการเกิดบริการดิจิทัลใหม่ ๆ รวมถึงมีโมเดลธุรกิจใหม่ที่ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อันชาญฉลาดที่เชื่อมต่อกันได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม รายงานบ่งชี้ว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับก็ยังไม่แน่นอน ข้อมูลจากการสำรวจผู้นำธุรกิจ 1,400 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้มี 736 คนเป็นซีอีโอขององค์กรนั้น แสดงให้เห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของความไม่แน่นอนเป็นเพราะร้อยละ 73 ของบริษัทต่าง ๆ ยังไม่ได้มีแผนงานชัดเจนมารองรับธุรกิจ IIoT มีเพียงร้อยละ 7 ของผู้บริหารที่สำรวจกล่าวว่า ได้พัฒนายุทธศาสตร์โดยวางแผนการลงทุนไว้รองรับด้วย
รายงานฉบับนี้ยังพบว่า การขาดความมุ่งมั่นพัฒนา IIoT ส่วนใหญ่เป็นเพราะการสร้างกระแสรายได้ใหม่ ๆ เข้ามานั้น ทำได้ยาก ทั้ง ๆ ที่กว่าร้อยละ 57 ของผู้บริหารในองค์กรต่างเห็นว่า รายได้ใหม่ ๆ คือโอกาสที่ดีที่สุดที่ IIoT จะนำมาให้ แต่ผู้บริหารเพียงร้อยละ 13 คิดว่าองค์กรของตนจะได้ประโยชน์จากแนวทางใหม่นี้อย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นใช้ IIoT ไปเพื่อพัฒนาผลิตภาพของพนักงาน และลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน (ผู้บริหารระบุถึงปัจจัยดังกล่าว ร้อยละ 46 และ 44 ตามลำดับ) และถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรมากที่สุด
นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทยกล่าวว่า ยุคของ IIoT จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน แต่ศักยภาพของ IIoT ยังไปได้ไกลกว่านี้ ทว่าองค์กรต้องทำอะไรมากกว่าเพียงแค่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กรเท่านั้น องค์กรควรให้ความสำคัญกับคุณค่าของข้อมูล เพื่อให้สามารถสร้างตลาดและกระแสรายได้ใหม่ ๆ เข้ามา หมายความว่าองค์กรต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง เช่น ทำงานกับคู่แข่ง สร้างพันธมิตรกับอุตสาหกรรมอื่น ออกแบบโครงสร้างขององค์กรใหม่ และลงทุนในทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ”
ปัจจัยสนับสนุนไม่เพียงพอ ทำให้บางประเทศไม่พัฒนาไปเท่าที่ควร
เอคเซนเชอร์วิเคราะห์เศรษฐกิจของ 20 ประเทศหลัก ๆ พบว่า มีหลายประเทศที่ขาดปัจจัยรองรับ IIoT ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อยู่ในอันดับ ต้น ๆ ที่มีปัจจัยรองรับ ส่วนสเปน อิตาลี รัสเซีย อินเดีย และบราซิลอยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีปัจจัยสนับสนุนน้อย ได้แก่ การมีโครงสร้างพื้นฐานจำกัด การขาดความรู้ความเชี่ยวชาญที่จำเป็น การสนับสนุนจากสถาบันต่าง ๆ ที่จะมาผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ รายงานฉบับนี้แนะนำว่า ธุรกิจต่าง ๆ ควรร่วมมือกับภาครัฐในการหาแนวทางปรับปรุงปัจจัยรองรับ เพื่อเอื้อให้มีการลงทุนใน IIoT มากขึ้น และทำให้มีการใช้ IIoT อย่างกว้างขวาง
“IIoT มีประสิทธิภาพในการยกระดับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศอุตสาหกรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่การขาดปัจจัยรองรับ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เป็น เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนา ดังนั้นธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องร่วมมือกับผู้วางนโยบายเพื่อทำให้มีปัจจัยรองรับที่จำเป็นต่อการพัฒนาเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งไม่เพียงผลักดันพลังความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้ประกอบการ ที่จะมาสรรค์สร้างและนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องสามารถพัฒนาความสามารถในการแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเสาะหาแหล่งลงทุนในส่วนต่าง ๆ ของโลกด้วย”
ผลกระทบเชิงบวกต่อแรงงานในอนาคต
รายงานวิจัยเผยว่า ร้อยละ 87 ของผู้บริหารเชื่อว่า IIoT จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการจ้างงานสุทธิ รายงานอีกชิ้นหนึ่งที่สอดคล้องกัน จัดทำโดยเอคเซนเชอร์และการประชุมเศรษฐกิจโลก (Accenture and the World Economic Forum) บ่งชี้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลทางบวกต่อแรงงานในอนาคต โดยจะช่วยเพิ่มพูนทักษะเดิมของพนักงาน และทำให้สามารถทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ด้วย เช่น พนักงานฝ่ายขุดเจาะอาจควบคุมการทำงานจากระยะไกลได้ ทำให้สามารถทำงานร่วมกับวิศวกรและนักวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มความแม่นยำและผลิตภาพของการขุดเจาะได้
“ยุค IIoT จะทำให้พนักงานทุกคนใช้ข้อมูลและความรู้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องผลิตภาพ แต่เป็นการใช้ข้อมูลเพิ่มคุณค่าให้แก่พนักงานในแนวทางใหม่ IIoT จึงไม่ใช่เพียงการพัฒนาตัวงาน แต่ยังช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ทุก ๆ ฝ่ายสามารถร่วมมือกันทำอย่างใกล้ชิด และสร้างงานประเภทใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย” นนทวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
3 วิธีที่จะช่วยเร่งให้เกิด IIoT ในวงกว้าง
เอคเซนเชอร์แนะองค์กรวางแผนเพื่อกำหนดขอบเขตการนำ IIoT มาใช้ ดังนี้:
· คิดโมเดลของอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ โดยองค์กรต่าง ๆ จะต้องร่างโครงสร้างขององค์กรใหม่ วางแนวทางความร่วมมือใหม่ ออกแบบการปฏิบัติงานใหม่ ตัวอย่างเช่น บริษัทด้านเคมีเกษตร อาจร่วมมือกับผู้ขายซอฟต์แวร์ ผู้ให้ข้อมูลสภาพอากาศ และธุรกิจดาวเทียม ในการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ณ สถานที่หนึ่ง ภายใต้สภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ ส่วนบริษัทผู้ผลิตอาจต้องกระจายส่วนงานออกไป เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น สินค้าที่สามารถพิมพ์แบบสามมิติได้ ควรไปอยู่ในจุดที่ใกล้กับลูกค้า
· ใช้ข้อมูลให้เกิดคุณค่ามากที่สุด ซึ่งรวมถึงการวางมาตรการต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยและการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าการแบ่งปันข้อมูลระหว่างองค์กรจะทำได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้ ยังควรมีโมเดลการเงินใหม่ ๆ เข้ามารองรับการจ่ายเมื่อใช้ (Pay Per Use) หรือการนำเสนอบริการต่าง ๆ
· การเตรียมพร้อมรองรับงานในอนาคต ด้วยเพราะความสามารถเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น จึงต้องมีสภาพการทำงานที่กระจายตัวออกไป เอื้อให้มีการแบ่งกันตัดสินใจ ให้พนักงานด่านหน้ามีอำนาจมากขึ้น องค์กรจำเป็นต้องมีโครงสร้างใหม่ที่ช่วยให้พนักงานของตนสามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ร่วมกับพนักงานในองค์กรพันธมิตร
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Industrial Internet of Things (IIoT) ของเอคเซนเชอร์ได้ที่ www.accenture.com/IIOT