บริษัท เอ็มอินเตอร์แอ็คชั่น จำกัด บริษัทที่ปรึกษาสื่อสารการตลาดดิจิตอลในเครือกรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้ทำวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับ 100 กลุ่มตัวอย่าง ในภาคกลาง เหนือ ตะวันออก และอีสาน พบว่า “ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหน้าใหม่ในประเทศไทย” หรือ New Internet Users เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ทำได้ง่าย และสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลง ส่งผลให้การบริโภคสื่อเปลี่ยนไป หันมาเสพสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น และลดการบริโภคสื่อดั้งเดิม วิทยุ ทีวี สิ่งพิมพ์
เปิดซิงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกกับสมาร์ทโฟน
• เปิดซิงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกกับสมาร์ทโฟน
• กลุ่ม new internet user เป็นกลุ่มคนที่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน
• ไม่เคยมีประสบการณ์ใช้อินเตอร์เน็ตมาก่อน ไม่เคยใช้อีเมล หรือเล่นเว็บ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากำลังใช้อินเทอร์เน็ตอยู่
• ส่วนใหญ่เข้าใจว่า โทรศัพท์มือถือมีไว้เล่นเฟซบุ้ค เล่นไลน์ แต่ไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต
• และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ทใช้ผ่าน Application ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน
ไม่เน้นโชว์ ขอคุ้มค่า
• คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพค้าขาย มีรายได้ไม่แน่นอน ระมัดระวังเรื่องการใช้เงิน สมาร์ทโฟน จึงเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์มากกว่า จะแสดงสถานะ หรือความทันสมัย
• มือถือสมาร์ทโฟนที่กลุ่มนี้เลือกซื้อจะอยู่ที่ราคาประมาณ 1,000 -2,000 บาท และซื้อผ่านร้านขายมือถือเป็นส่วนใหญ่ และนิยมใช้เครื่องมือสอง
• แบรนด์ของสมาร์ทโฟนที่เลือกใช้ จะเป็นเฮาส์แบรนด์ของโอปะเรเตอร์มือถือ เช่น ลาวา ของเอไอเอส จะได้รับความนิยมค่อนข้างมาก
เลือกใช้งานแพ็กเกจมือถือแบบอินเตอร์เน็ตรายวัน และรายสัปดาห์ มากกว่ารายเดือน ค่าใช้จ่ายในการใช้โทรศัพท์ลดลง จากที่เคยเสียเดือนละประมาณ 500บาท เหลือเดือนละ 200-300 บาท
• ไลน์ เฟซบุ้ค และยูทิวย์ เป็น 3 แอปพลิเคชั่นยอดนิยม
ติดหนึบสมาร์ทโฟน เครื่องมือช่วยทำมาหากิน
• ผลสำรวจพบว่า การหันมาใช้สมาร์ทโฟน ไม่ได้ใช้เพื่อความบันเทิง แต่เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ช่วยหาลูกค้า และขายของได้มากขึ้น
• เปลี่ยนจากใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโทร มาใช้เพื่อรับส่งข้อมูล และเล่นอินเทอร์เน็ต
• มักจะเลือกไปใช้บริการ ที่ให้บริการไวไฟฟรี และเลือกใช้Wifi ฟรี ตามสถานที่ต่างๆ
• ซึ่งเวลานี้มีแพร่หลาย ร้านทำผม ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร
• เสพย์ติดสมาร์ทโฟน ใช้เกือบตลอดทั้งวัน เพราะช่วงเวลาทำงานไม่แน่นอน เวลาพักผ่อนยาวนานกว่าคนทำงานประจำ พฤติกรรมที่สำคัญ ลืมกระเป๋าสตางค์อยู่ได้ แต่ลืมมือถือต้องรีบกลับบ้านไปเอา หรือ เช็คเฟซบุ้คตลอดเวลา
พฤติกรรมหลายจอนะจ้ะ
• คนกลุ่มนี้ใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลา แต่จะยังคงดูทีวีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงหัวค่ำ ละครหลังข่าว เพราะถือว่าเป็นเวลาของครอบครัว จะดูข่าว และละคร อัพเดทเรื่องราวต่างที่เห็นมาจากสื่อโซเชียล
ดูหนัง และ ฟังเพลงจากยูทิวบ์ อ่านข่าวจากเฟซบุ๊ก
• การเสพสื่อวิทยุ และทีวี ลดลงอย่างชัดเจน หันไปดูหนัง ฟังเพลง ดูละคร และซีรีส์ จาก YouTube แทน เพราะเลือกคอนเทนท์ได้ตามใจชอบ ไม่มีโฆษณามาคั่น ไม่ต้องฟังดีเจพูด
• หันไปอ่านข่าวจากเฟซบุ้คแทนหนังสือพิมพ์ เพราะมองว่า ทันเหตุการณ์ และรวดเร็วกว่าโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์
ติดต่อเพื่อนเก่า ลดค่าใช้จ่าย
• ใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ควบคุมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ เช่น ใช้ไลน์ คุยกับครอบครัว ลูกหลาน เพื่อนฝูง แทนใช้โทรศัพท์
• หน่วยงานราชการ ชุมชน เพื่อนร่วมงาน ใช้ Line Group chat สื่อสาร แทนการถ่ายเอกสารเพื่อติดประกาศ ลดค่าใช้จ่ายได้
• ติดต่อเพื่อนเก่า นอกจากความสะดวกแล้ว ยังมีความสนุก และคุณค่าทางจิตใจ
ช่องทางใหม่ทำเงินและใช้เงิน
• มองเห็นประโยชน์จากการใช้สมาร์ทโฟนช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โพสท์รูปขายสินค้า ติดต่อลูกค้า
• เวลาซื้อสินค้า และบริการออนไลน์ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ ยังไม่คุ้นกับการทำธุรกรรมทางการเงินทางอินเทอร์เน็ต เลือกใช้การโอนเงินทาง ATM
• จากการซื้อ-ขายของผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่เป็นในรูปแบบการซื้อขายง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก และคนกลุ่มนี้จะไม่ซื้อของออนไลน์ที่มีราคาเกิน 500 บาท
แนะแบรนด์จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ต้องทำไง
• ต้องสร้างความคุ้นเคย ผ่าน “เนื้อหา” ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ที่เขาสนใจ เช่น ใช้ภาษาเป็นกันเอง เข้าใจง่าย ภาษาท้องถิ่น จะช่วยทำให้แบรนด์เกิดการจดจำ และเข้าถึงได้ง่าย เช่น การออกสติ๊กเกอร์ภาษาท้องถิ่นของดีแทค
• ตามกระแสให้ทัน ด้วยการใช้ เรียลไทม์ มาร์เก็ตติ้ง เป็นอีกวิธีเพื่อทำให้แบรนด์ถูกพูดถึงในกระแสสังคมเวลานั้นๆ
• ต้องเป็นของแท้ และโดดเด่น นอกจากเนื้อหาดีแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ และควรให้ผู้บริโภคเป็นผู้ทำเนื้อหาเอง หรือ User Generated content จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าออกจากแบรนด์
• ต่อให้ติด แบรนด์สามารถทำตัวเป็นตัวกลาง ให้เพือน และครอบครัวสนิทกันมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เปิดพื้นที่และโอกาสทางการค้าให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น
รูปแบบการสำรวจ
ผลวิจัยชิ้นนี้ เอ็มอินเตอร์แอ็คชั่น ใช้การสำรวจแบบสัมภาษณ์เจาะลึกกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน100 คน ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ถึงพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต