JWT ฟันธง 10 เทรนด์ผู้บริโภค ที่ต้องจับตาในไทย

เจ. วอลเตอร์ธอมสันอินเทลลิเจนซ์ หน่วยธุรกิจที่ปรึกษาและคาดการณ์ ภายใต้ เจ. วอลเตอร์ธอมสันอินโนเวชั่น กรุ๊ป ได้คาดการณ์ 100 เทรนด์แห่งอนาคตในปี 2016 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ และข้อมูลเชิงลึกล่าสุด เกี่ยวกับแนวโน้ม และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังดำเนินไปในปี 2016 
 
เพื่อให้สอดคล้องกับการนำมาใช้ ในไทย ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการ และปรัชวัน เกตวัลห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการสื่อสาร เจดับบลิวที ประเทศไทย ได้คัดเลือกมา 10 เทรนด์ที่โดดเด่น และเหมาะสมกับผู้บริโภคคนไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้กับลูกค้า นำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนตลาด หรือสร้างแบรนด์ ให้ทันกับกระแส และความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งไม่เคยหยุดมองหาและต้องการสิ่งใหม่ๆ มาเติมเต็มความต้องการและสร้างสีสันเรื่องราวให้ชีวิตอยู่เสมอ
 
1. ไอคอนของคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบฉบับเจน ซี (Gen-Z’s Responsible Icons) และภาพการประชดประชันที่เผยถึงยุคหลังฮิปสเตอร์ (Post-Hipster Visual Irony)
 
ในขณะที่ผู้คนในยุคมิลเลนเนียมชื่นชมไอคอนที่โด่งดังจากเรียลลิตี้ทีวี แต่คนเจนซี(Gen-Z) หรือเจเนอเรชั่นซีกลับต้องการไอคอนที่แตกต่าง เพราะพวกเขามีความตระหนักรู้ หัวก้าวหน้า และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูงและเติบโตมาในยุคที่มีการยอมรับความหลากหลายของผู้คนมากขึ้น
 
สำหรับในประเทศไทย เจเนอเรชั่นซี ที่ใช้โอกาสรอบๆ ตัวนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไป และสร้างชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จ เช่น “จัสมิน” พิมรา สีดอกบวบ ไอดอลสาวมุสลิม เศรษฐีรุ่นเยาว์เจ้าของเครื่องสำอางฮาลาล “พิมมารา” (PIMMARA) แบรนด์ยอดนิยมของสาวมุสลิมในภาคใต้ เจ้าแรกของประเทศไทย
 
“ม๊าเดี่ยว” อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ นางแบบเพศที่สองและสไตลิสต์แห่งโลกโซเชียลที่แทรกการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานออกมาในงานสร้างสรรค์ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่บ้านเกิดของตนไปถึงต่างประเทศ
 
นอกจากนี้ ในไทยเองยังได้นำกระแสฮิปสเตอร์มาประชดประชันเช่นกัน อาทิ “ยายบัว Hipster” คุณแม่วัย 70 ปีที่มาเป็นนางแบบให้ลูกสาวได้กดชัตเตอร์ภาพถ่ายเก๋ ๆ ที่แฝงไว้ด้วยความน่ารัก ดูแล้วต้องยิ้มตามในเฟซบุ๊ก Fiadar Photography หรือผลงานชุด “ลุงชัยเป็นคนชิคๆ” ที่มีการแชร์กันมากมายในโลกโซเชียล ซึ่งเอาคุณลุงชาวนามาเซ็ทถ่ายทำในอิริยาบถตามไลฟสไตล์ของฮิปสเตอร์ในแบบชวนขำ
 
2. มหาวิทยาลัยออนไลน์ (Online University)
 
การเรียนรู้ออนไลน์กำลังได้รับความนิยมและท้าทายการศึกษาแบบเดิม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อส่งเสริมการจัดระบบการเรียนรู้ให้นักเรียนแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งต่างๆ ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ อินเทอร์เน็ต แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ฯลฯ ที่ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนได้ โดยที่ผ่านมาหลายๆ หน่วยงานการศึกษา สร้างแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ เช่น ถามครู.com เว็บให้ความรู้การสอบบรรจุครู เว็บ LangFight.Com ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนทำขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรม
 
3. การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sportspitality)
 
แบรนด์สุขภาพชั้นนำเริ่มขยายโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อตอบรับความนิยมรักษาสุขภาพและมุ่งไปที่เรื่องของการท่องเที่ยว ทำให้โรงแรมไม่สามารถมองฟิตเนสเป็นแค่บริการเสริมอีกต่อไปแต่ต้องผสานเข้าไว้กับธุรกิจ เพื่อสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ
 
ในไทยเองก็มีโรงแรมอย่าง Absolute Sanctuary เกาะสมุย ที่เน้นจุดขายจากจุดเริ่มต้นอย่างเรื่องของโยคะ โดยผสมผสานโรงแรมที่ตกแต่งสไตล์โมรอคโคเข้ากับโปรแกรมการบริการที่เน้นเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพและโรงแรมระดับหรูอื่นๆ อย่าง ชีวาศรม, พอยต์ ยามู บาย โคโม, โซเนว่า คีรี, คามาลายา ก็มีบริการฟิตเนสโปรแกรมนำเสนอด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนี้ บริการล่องเรือท่องเที่ยวของ Silver Cruise ผสมผสานการออกไปท่องโลก กับโปรแกรม Wellness อย่างโยคะยืดเส้น พิลาทีส ออกกำลังกายในน้ำฟิตเนสแบบ Technogym เมนูอาหารสุขภาพ และการให้คำปรึกษาสุขภาพบนเรือตลอดจนสปา
 
4. เทรนด์ความต้องการของลูกค้าอาวุโส (Global Ageless Society)
 
ถ้าเป็นเรื่องการตลาดและแบรนด์แล้ว ทั่วโลกรวมทั้งในไทยต่างให้ความสนใจในการคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุวัยเกษียณ หรือกลุ่ม Baby Boomer เนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายที่มากขึ้น ในไทยเองยังมีสินค้าและบริการที่ออกมาตอบสนองคนกลุ่มนี้ ธุรกิจประกันชีวิต ไลน์ออกแชตแอปพลิเคชั่น สื่อสารกับกลุ่ม Baby boomer และได้ใกล้ชิดกับเด็กรุ่น GenX ในขณะที่อีกหลายแบรนด์เองยังไม่ทำ เพราะกังวลเกี่ยวกับการทำตลาดกลุ่มนี้แล้ว จะทำให้แบรนด์ดูสูงวัยตาม ทั้งๆ ที่โอกาสทางธุรกิจของคนกลุ่มนี้มีอยู่มาก ทั้งจำนวน และกำลังซื้อ
 
5. เทรนด์จังค์ฟู้ดเพื่อสุขภาพ (Natural Junk)
 
แบรนด์ต่างๆ เริ่มให้ความสนใจการนำเสนออาหาร Junk Food ที่ใช้ส่วนผสมธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักมากขึ้น เพื่อช่วยทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงเวลาที่ทานอาหารที่ดูจะไม่ค่อยดีกับร่างกายมากนักและตอบรับกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
 
คนไทยเองหันมานิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพขึ้น และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพนี้ ร้านและสินค้าในเมืองไทยได้เริ่มนำ Natural Junk มาปรับใช้  
 
6. การยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล (Freckles)
 
กระแสโซเชียลมีเดียได้สนับสนุนให้ผู้บริโภครุ่นใหม่ชื่นชมในปัจเจกนิยมของตนเองและความงามของคนที่มีความแตกต่างไปจากมาตรฐานความงามสมบูรณ์แบบในยุคก่อน
 
ในส่วนของเมืองไทยเองก็เช่นกัน การยอมรับในตัวตนที่แตกต่าง และถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเองออกมาจนเป็นที่ยอมรับในโลกโซเชียลในเมืองไทย เช่นน ม๊าเดี่ยว – อภิเษฐ์ เอติรัตนะ : Net Idol จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สร้างสรรค์แฟชั่นจากของพื้นบ้าน ที่หาได้ในท้องถิ่น แต่ถ่ายทอดออกมาให้เป็นงานแฟชั่นที่ลงตัวด้วยองค์ประกอบ 
 
นินิว เพชรด่านแก้ว : สาวประเภทสองอารมณ์ดีจากราชบุรีที่โด่งดังจากการเล่าเรื่องราวสุดตลกผ่านคลิปที่เธออัดขึ้นเองลงโซเชียลมีเดีย มะเฟือง เด็กมัธยมปลายผู้รังสรรค์ทำคลิปสั้นเรียกเสียงฮาจนมีคนดูคลิปเธอผ่าน Vine กว่า 6 ล้านครั้ง เคธี่ – ณัฐิยา ยศรุ่งเรือง : โด่งดังสุดๆ จากการพากย์เสียงเลียนแบบที่เรียกเสียงฮาสนั่นโลกโซเชียล
 
7. แหล่งรวมแบรนด์ Startup(Startup Stores)
 
ด้วยกระแสที่คนรุ่นใหม่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเองและผลักดันให้แบรนด์ค้าปลีกยอมแบ่งพื้นที่ในร้านค้าของตัวเองเพื่อให้แบรนด์ Startup เหล่านั้นได้ลองวางขายสินค้า เพื่อเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรมและดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้าร้านอีกด้วย
 
ในเมืองไทยเองก็เช่นกันผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มอายุต่างหาช่องทางในการทำธุรกิจของตัวเอง และหนึ่งในเทรนด์ของธุรกิจในปัจจุบันคือศูนย์รวมร้าน Startup อย่าง The Selected ที่สยามเซ็นเตอร์ หรือร้านรวมของมือสองที่คัดเลือกมาแล้วอย่างดี อาทิ ร้าน (Un) Fashion
 
และเมื่อธุรกิจได้ขยายตัว ธุรกิจสิ่งที่ตามมา คือ การจัดส่งส่งของที่ต้องคำนึงถึงการสร้างความไว้วางใจจากลูกค้าให้เกิดขึ้น ธุรกิจ SME มากมายต่างซื้อใจลูกค้าด้วยความมั่นใจและความสะดวกสบายในการจัดส่งสินค้าถึงมืออย่างรวดเร็วด้วยการบริการของแมสเซนเจอร์ส่งของรูปแบบใหม่ๆ อย่าง Grab Bike หรือ ATT Bangkok ที่ให้บริการฝาก – รับของตามเส้นให้บริการของ BTS
 
8. การทำงานที่เน้นการดูแลสุขภาพของพนักงาน (Work wellness)
 
หลายองค์กรพยายามเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงานด้วยการจัดหาเครื่องออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ มาไว้ในบริษัท ในประเทศตัวอย่างบริษัทที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของพนักงาน และจัดให้มีฟิตเนสภายในองค์กร เช่น ดีแทค สร้างลูวิ่ง และพื้นที่ให้พนักงานออกกำลังกายบนอาคาร GMM Grammy มีฟิตเนสสำหรับศิลปินและพนักงานCP มี “CPF Fitness Center” Google Thailand AIS มีมุม “Chill Out Zone”
 
9. การเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัย (Stimulated adulthood)
 
เด็กยุคนี้ถูกกระตุ้นให้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก่อนวัย จากกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ชีวิตและการทำงานแบบผู้ใหญ่ เด็กในยุคเจเนอเรชั่นซีแสดงออกถึงความอยากเป็นผู้ใหญ่เร็วเกินไป อาจมีแนวโน้มว่าเด็กในยุคถัดไปจะยิ่งโตเร็วกว่าเด็กในยุคนี้
 
ในไทย สวนสนุก KidZania ในกรุงเทพฯ ได้จำลองศูนย์บริการดูแลรถยนต์เพื่อให้เด็กๆ ได้ทดลองตรวจสภาพน้ำมันรถและล้อรถ รวมถึงเรียนรู้ด้านการให้บริการด้านเครื่องยนต์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดคาราวานทัวร์สำหรับเด็ก โดยให้เด็กๆ ได้ทดลองเป็นนักล่าไดโนเสาร์ หรือนักบรรพชีวินวิทยาน้อย ซึ่งจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงกับทีมวิทยากรมืออาชีพในบรรยากาศแวดล้อมของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งสำคัญของประเทศไทย
 
10. ประสบการณ์การทานอาหารแบบตื่นเต้นท้าทาย (Extreme dining) ประสบการณ์การทานอาหารที่ออกแบบตามความต้องการพิเศษของลูกค้า (Hyper-personalized dining experiences)
 
ประสบการณ์การทานอาหารแบบใหม่ล่าสุดที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะกำลังได้รับความนิยม และเป็นกระแสที่น่าสนใจสำหรับเมืองไทยซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจที่หลากหลาย
 
ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายแห่งได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์การทานอาหารที่ออกแบบตามความต้องการพิเศษของลูกค้าบรรดาพ่อครัวต้องปรับกลวิธีในการเอาชนะใจลูกค้าโดยการเติมแต่งรายละเอียดของแต่ละจานให้มีความเฉพาะตัวเพื่อให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อสร้างประสบการณ์การทานอาหารที่น่าประทับใจยิ่งขึ้น เพราะสิ่งที่ตามมาคือ ผู้บริโภคจะแชะแล้วแชร์ไปบนสื่อสังคมออนไลน์