ผู้จัดการรายวัน 360 – “…การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในปัจจุบันอาจไม่หวือหวาดั่งอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นการเติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ โดยเฉพาะตัวเลข GDP ที่เปลี่ยนไปไม่ได้สร้าง New Low หากแต่เป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่การเติบโตแบบเดิม หรือที่เรียกว่า New Normal…”
คือคำกล่าวของ “รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ผู้ใช้เวลาเดินทางครบทั่วทั้ง 31 มณฑลในประเทศจีน เพื่อศึกษายุทธศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศจีน
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
สิ่งยืนยันคำกล่าวได้อย่างดีคืออัตราการเติบโตทาง GDP ของจีนในปี 2558 ซึ่งอยู่ในระดับ 6.9% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 25 ปี จึงทำให้ รศ.ดร.อักษรศรี มองว่า แม้เศรษฐกิจจีนอาจไม่แข็งแกร่งและผู้บริโภคมีพลังซื้อไม่สูงเทียบเท่าอดีต แต่ด้วยเหตุที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล เรียนรู้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทำให้เตรียมวิธีป้องกันและรับมือได้อย่างทันการณ์ จึงทำให้จีนยังคงถือเป็นตลาดสำคัญที่มีความน่าสนใจเข้าไปดำเนินธุรกิจต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของจำนวนผู้บริโภคระดับชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงซึ่งมีเป็นจำนวนสูงถึง 400 ล้านคน ในขณะที่ผู้บริโภคชั้นสูงระดับมหาเศรษฐี หรือ Super Rich มีมากถึง 80 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 1.35 พันล้านคน
แนะใช้ “ฮ่องกง – มาเก๊า” เป็นฐานธุรกิจเจาะตลาด
แม้ว่าจีนจะยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 15.6% ในปี 2558 แต่กลับเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 11.1% รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วน 11.2% เนื่องเพราะการดำเนินธุรกิจเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคในจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่ามีการแข่งขันสูง ทั้งระหว่างนักธุรกิจต่างชาติกับนักธุรกิจจีน นักธุรกิจต่างชาติกับนักธุรกิจต่างชาติ และนักธุรกิจต่างชาติกับนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนของอาหารและสินค้าเกษตรซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลกด้วยปริมาณ 140 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 200,370 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 17.4% ต่อปีในช่วงปี 2553-2557 ปรากฏว่ามาเลเซียเป็นผู้ส่งออกไปยังจีนเป็นอันดับ 1 ตามด้วยเวียดนาม สิงคโปร์ และไทย ตามลำดับ
“จากการศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจกับนักธุรกิจไทยจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในประเทศจีนพบว่า ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนโดยตรง แต่สามารถใช้ฮ่องกง หรือมาเก๊าเป็นฐานธุรกิจเพื่อเปิดตลาดไปยังเมืองต่างๆ ทั้ง 31 มณฑลในประเทศจีนได้เช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่มักไม่คำนึงว่าผลิตภัณฑ์ หรือธุรกิจนั้นมาจากประเทศใด เพราะให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพมากกว่า” รศ.ดร.อักษรศรี กล่าว
ปัจจัยสำคัญที่นักธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญมากคือเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งจำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ของ สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรคจีน (AQSIQ) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักเสมือนหน่วยงานสำคัญๆ ของประเทศไทยรวมกัน ทั้ง สมอ., อย., กรมประมง และอื่นๆ โดยสามารถสั่งแบนสินค้าจากประเทศต่างได้ หากสินค้ามีปัญหาปนเปื้อนจุลินทรีย์ วัตถุเจือปน ฉลาก บรรจุภัณฑ์ และใบรับรองที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันหากสินค้าใดที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวจะได้รับภาพลักษณ์ที่ดีและสามารถทำตลาดได้ในระยะยาว
“Netizen” พลังผู้บริโภคจีนยุคใหม่
จากยุทธศาสตร์ของประเทศจีนที่เน้นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยการบริโภคภายในประเทศจึงทำให้ปัจจุบันจีนเป็นตลาด e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีค.ศ.2020 หรือปีพ.ศ.2563 จะมีขนาดตลาดใหญ่เท่ากับตลาด e-Commerce ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส รวมกัน !
ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หรือ “Netizen” ของจีนจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยพบว่าจากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 1.35 พันล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 600 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน 500 ล้านคน โดยมีจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ 300 ล้านคน มีอัตราการบริโภคเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7.9%
“เว็บไซต์ taobao.com ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จุดกระแสการตื่นตัวด้านช้อปปิ้งออนไลน์ในจีน แต่ด้วยเหตุที่ยังคงมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ การขนส่งสินค้าล่าช้า และอื่นๆ จึงทำให้ปัจจุบัน tmall.com ในเครือ Alibaba Group เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นและถือเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยที่ต้องการใช้ช่องทางนี้เข้าถึงผู้บริโภคจีนชนชั้นกลางขึ้นไปที่ต้องการสินค้าคุณภาพและมีภาพลักษณ์ที่ดี”
แจงพฤติกรรมผู้บริโภคจีน
ภาพลวงตาหนึ่งของประเทศจีนคือความเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 1.35 พันล้านคน แต่ในความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเพียงตลาดเดียว หรือ Single Market แต่ถือเป็น Fragmented Market หรือตลาดที่มีความหลากหลายของผู้บริโภคในลักษณะ “1 มณฑล 1 ตลาด” โดยสามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคสำคัญๆ ของจีน 4 กลุ่มคือ
1.วัยเด็กและลูกคนเดียว : ผู้บริโภคกลุ่มนี้อยู่ในวัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่นตอนต้น เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อครอบครัว เพราะชาวจีนสมัยใหม่ให้ความสำคัญแก่บุตรมากเป็นพิเศษ สินค้าที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้แก่ ของเด็กเล่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หนังสือและอุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียน คอมพิวเตอร์ รวมถึงกลุ่มอาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว รวมถึงสินค้าที่มีของแถม
2.วัยหนุ่มสาวในเขตเมือง : อายุระหว่าง 18-34 ปี ส่วนใหญ่มีการศึกษา ทันสมัยและเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก สามารถรับสื่อในรูปแบบต่างๆ รับแนวคิดใหม่ๆ รู้จักผลิตภัณฑ์ต่างชาติค่อนข้างดีและมีความรู้ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง โทรศัพท์มือถือ ตลอดจนสื่อทันสมัย
3.วัยกลางคน : มีประสบการณ์การใช้ชีวิตทั้งในช่วงก่อนและหลังการปฏิรูป ทำให้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน โดยอาจจะเคยทำงานในชนบท หรือรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นกลุ่มต้องเคยสูญเสียรายได้ หรือต้องถูกเลิกจ้างจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จึงเป็นคนหัวเก่า มีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยม และต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดในสังคมจีนสมัยใหม่ ค่อนข้างประหยัด จึงไม่ชอบลองสินค้าใหม่และมักตัดสินใจซื้อสินค้าโดยพิจารณาราคาเป็นปัจจัยสำคัญ
4.วัยสูงอายุ : อายุ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวนประมาณ 10% ของประชากรจีนทั้งหมด ยังชีพโดยการพึ่งรายได้เงินบำนาญของรัฐบาล จึงมีพฤติกรรมการบริโภคอย่างประหยัด เรียบง่าย เน้นการใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพเป็นสำคัญ สินค้าที่เหมาะจึงเป็นกลุ่มสุขภาพทุกชนิด
แนะ 10 คุณสมบัตินักธุรกิจไทยบุกตลาดจีน
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวด้วยว่า แม้จีนจะยังคงเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจและโอกาสด้านการค้าการลงทุนสูง แต่ก็ถือเป็น “ตลาดปราบเซียน” ที่ทำให้นักธุรกิจหลายรายต้องประสบ “ความล้มเหลว” มาแล้ว ฉะนั้นหากนักธุรกิจไทยที่ต้องการประสบ “ความสำเร็จ” ในประเทศจีน จึงควรมีคุณสมบัติเบื้องต้น 10 ประการ ดังนี้
1. ต้องมีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และจุดแข็งในสินค้าและตลาดที่ตนดำเนินธุรกิจ หรือ “ต้องเก่งในบ้าน” ก่อนที่จะก้าวไปยังจีน โดยยังต้องมีความมั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ที่มีอยู่ในจีนมาก่อนหน้านี้แล้ว
2. ไม่มีปัญหาด้านการเงิน หมายถึงต้องมีเงินทุนมากเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
3. เลือกตลาดเป้าหมาย หรือเมืองต่างๆ ที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนได้อย่างถูกต้อง
4. มีเครือข่ายธุรกิจในรูปแบบ หรือลักษณะต่างๆ ในประเทศจีน อย่างน้อยที่สุดคือการมีบริษัทตัวแทนในการดำเนินธุรกิจ
5. ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะต้องมีความพร้อมที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่มีเพียงเงินทุนแต่ไม่เคยไปดูแลธุรกิจด้วยตนเอง
6. ผู้บริหารระดับสูงต้องมีความรู้ด้านภาษาจีนกลางเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ แต่หากยังมีความชำนาญไม่มากนักควรมีล่ามประจำองค์กร โดยมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้ใช้ล่ามนักศึกษาไทยในประเทศจีนซึ่งถือเป็นนักศึกษาต่างชาติที่มีเป็นจำนวนมากลำดับที่สามในประเทศจีน ทั้งยังสามารถไว้วางใจได้มากกว่าล่ามภาษาจีนจากประเทศอื่นๆ
7. ธุรกิจจำเป็นต้องมีสายป่านด้านการเงินในระยะยาวเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
8. ต้องเข้าใจสังคมท้องถิ่นและวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ “แบบจีน”
9. ต้องเข้าใจกฎระเบียบการค้าในประเทศจีน โดยควรมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจ
10. ไม่เชื่อใจใครง่ายๆ ในการดำเนินธุรกิจซึ่งถือเป็นข้อสำคัญมากที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจจากประเทศไทยต้องประสบความล้มเหลว โดยทุกเงื่อนไขทางธุรกิจที่มีการเจรจาตกลงกับนักธุรกิจจีนจำเป็นต้องมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจลงทุนในประเทศจีนควรติดต่อรายละเอียดและขอคำแนะนำจากหน่วยงานราชการต่างๆ ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในจีนซึ่งหลายเมืองและมณฑล เช่น สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ ประจำกรุงปักกิ่ง สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (เฉิงตู, กว่างโจว, ฮ่องกง, คุนหมิง, หนานหนิง, เซี่ยงไฮ้, เซี่ยเหมิน, ซีอาน) สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ประจำกรุงปักกิ่ง, นครเซี่ยงไฮ้ และนครกว่างโจว สำนักงานที่ปรึกษาศุลกากร (กรุงปักกิ่ง และนครกว่างโจว) สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร (กรุงปักกิ่ง, นครเซี่ยงไฮ้ และนครกว่างโจว) เป็นต้น