มาแล้ว ! เอไอเอสรับซองประมูลคลื่น 900 MHz รายแรก

เอดับบลิวเอ็นเดินทางมารับเอกสารในการยื่นซองประมูลความถี่ 900 MHzครั้งใหม่แล้วรายแรก อ้างเอกสารเยอะต้องรีบนำไปศึกษา ขณะที่ ‘ฐากร’ มั่นใจ มีผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียว ยืนยันทุกขั้นตอนทำตามที่คสช.สั่ง
 
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ (คนกลาง) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. เวลา 13.20 น. นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ (คนขวาสุด) ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ตัวแทน จาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ได้เดินทางมารับเอกสารแสดงความจำนงค์ขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เป็นรายแรก หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ประกาศให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ ในวันที่ 27 พ.ค. นี้ และกสทช.ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลไปเมื่อวันที่ 12 เม.ย. โดยให้ผู้ที่สนใจมารับเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.ถึงวันที่ 17 พ.ค.
 
หลังจากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นคำขอในการขอเข้าร่วมประมูลในวันที่ 18 พ.ค.โดยผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต้องจ่ายเงินค่าซื้อซองการประมูลจำนวน 500,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและวางเงินหลักประกันการประมูลจำนวน 3,783 ล้านบาท รวมถึงยื่นซองในวันที่ 18 พ.ค.ด้วย
 
ทั้งนี้หากผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) 3 รายเดิม คือ เอดับบลิวเอ็น, บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และยืนยันในการใช้เอกสารเดิมเหมือนการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งที่ผ่านมา กสทช.ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะเอกสารครั้งที่แล้วถือว่าผ่านคุณสมบัติทุกประการ ดังนั้นการตรวจสอบเอกสารจะตรวจสอบเฉพาะเงินวางประกันการประมูลจำนวน 3,783 ล้านบาทเท่านั้น ว่าครบหรือไม่ แต่หากมีโอเปอเรเตอร์รายใหม่เข้ามากสทช.ต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค. และประกาศผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลในวันที่ 23 พ.ค.จากนั้นจะเปิดสาธิตการประมูลให้สื่อมวลชนและผู้เข้าประมูลดูพร้อมกันในวันที่ 25 พ.ค.และทำการประมูลในวันที่ 27 พ.ค.ที่จะถึงนี้
 
อย่างไรก็ตาม มั่นใจถึง 99.99% ว่าคงไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใหม่เข้าร่วมประมูล และมั่นใจถึง 95 % ว่า จะมีเพียงเอดับบลิวเอ็นเพียงรายเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมประมูล ดังนั้นเอดับบลิวเอ็น ต้องมาประมูลเพื่อเคาะราคายืนยันในราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 75,654 ล้านบาท ส่วนทรูนั้นคิดว่าคงไม่สนใจ เพราะทรูเองก็ได้ผลประโยชน์จากประกาศคสช.ครั้งนี้ด้วยในการขยายเวลาวันหมดอายุใบอนุญาตจากเดิมคือวันที่ 15 มี.ค 2573 เป็นหมดอายุพร้อมกันกับผู้ได้รับใบอนุญาตรายใหม่
 
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง เอไอเอส และ ทรู เกี่ยวกับการโอนย้ายเลขหมายซึ่งกำลังมีปัญหากันอยู่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการแก้เนื้อหาการเอาผิดที่แตกต่างกัน โดยทรูอ้างว่าทางเอไอเอสเขียนเบาไป ขณะที่ทางเอไอเอสอ้างว่า ทรูเขียนแรงไป ดังนั้น กสทช.ต้องดูรายละเอียดที่เหมาะสมที่สุด คาดว่าน่าจะลงนามกันได้ภายในสัปดาห์นี้โดยกสทช.จะเชิญนายอุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที มาร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ปัญหาการโอนย้ายเลขหมายไม่เกิดการฟ้องร้องกันไปมาอีก และมีการโอนเลขหมายกันอย่างโปร่งใส ไม่กั๊กกันไปมา
 
‘ขณะนี้กสทช.ไม่สามารถขยับเวลาอะไรได้เลย ต้องทำตามที่คสช.สั่งและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น หากจะมีการเลื่อน ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.ต้องนำเรื่องไปให้คสช.พิจารณา แต่ผมมั่นใจว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้ว กสทช.มีหน้าที่จัดประมูลให้เสร็จเรียบร้อยตามที่คสช.สั่งเท่านั้น’
 
ด้านนายสุทธิชัย กล่าวว่า มารับหนังสือครั้งนี้เพื่อนำไปให้ผู้บริหารพิจารณาและศึกษารายละเอียดโดยยังไม่ทราบอะไรมากไปกว่านี้ และไม่ทราบเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อเห็นชอบให้เข้าร่วมประมูลว่าจะจัดเมื่อใด