Reflection : ศิลปะกับโรงแรมไร้กรอบ

เมื่อพื้นที่ (space) ทางสถาปัตยกรรมเดิมๆ ถูกปรับปรุงให้เกิดสุนทรียะผ่านผลงานศิลปะของศิลปินผู้ออกแบบ ก็ได้ทำให้อพาร์ตเมนต์เก่าๆ กลางซอยอารีย์กลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะ อันแสดงเอกลักษณ์และเสรีภาพของการไร้กรอบแห่งจินตนาการ เพื่อสร้างคุณค่าให้พื้นที่ จนเกิดความสมดุลทั้งความรู้สึกและประโยชน์ใช้สอย

อนุสรณ์ เงินยวง เจ้าของโปรเจกต์อันแสนจะแหวกแนวแต่ฉูดฉาดนี้ใช้คำว่า “kitsch” ที่มักหมายถึงสไตล์ไร้รสนิยมที่มีแบบอย่างต่างจากคลาสสิก มีสีสันจัดจ้านร่วมสมัย ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของป็อบอาร์ตแบบใหม่ ที่เน้นเรื่องของการเข้าถึงและจับต้องได้

“Reflection : Room in Bangkok” เป็นแนวคิดที่น่าสนใจอันหนึ่ง ในการปรับปรุงงานสถาปัตยกรรมจากอาคารหลังเก่า โดยให้ศิลปินเข้ามาตกแต่งตามความต้องการและจินตนาการของตัวเองในแต่ละห้อง จึงเป็นการสร้างคำนิยามให้กับพื้นที่แบบใหม่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่จากคำว่า “ศิลปะ”

อนุสรณ์เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของโรงแรม เริ่มต้นขึ้นเมื่ออนุสรณ์เห็นความมีเสน่ห์บางอย่างบนพื้นที่ในซอยอารีย์ เขารู้สึกถึงความอบอุ่นและสนุกบางอย่างในพื้นที่แห่งนี้ทั้งกลางวันและกลางคืน

“ตอนที่เห็นป้ายบอกขาย ก็เลยรีบมาซื้อ แต่ไม่ได้คิดว่าจะมาทำอะไร คืออยากจะอยู่แถวนี้ ตอนแรกที่ซื้อมาแล้ว ก็คิดว่าจะทำอพาร์ตเมนต์ แต่คิดว่าถ้าทำไปเรื่อยๆ มันจะไม่คุ้ม คิดว่าจะทำยังไงกับมันให้มันมีรายได้มาคัพเวอร์ เราก็มีของอยู่แล้ว เราก็มีสไตล์ มีเพื่อนศิลปินเยอะแยะ ก็ได้เพื่อนมาช่วย ก็เลยคิดเอาศิลปะมารวมกัน ทำเป็นแบบนี้”

แม้ว่าการเริ่มต้นสำหรับเขาไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเปลี่ยนรูปแบบจากอพาร์ตเมนต์ค่อนข้างจะใช้เวลา และมีปัญหาจุกจิกมาก ทั้งจากผู้คนที่อยู่มาก่อน ซึ่งก่อนเริ่มการปรับปรุงการก่อสร้างใหม่ก็ต้องให้เวลาเขาย้ายสถานที่ อีกทั้งเมื่อได้ทำงานกับศิลปินอีกเกือบ 20 คนที่มีรายละเอียดแตกต่างกันตามแต่ละสไตล์ของงาน

ปัจจุบันนิตยสารต่างๆ ภายในประเทศให้ความสนใจ มีรายการโทรทัศน์ต้องการใช้พื้นที่ในการถ่ายทำรายการ ซึ่งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ “ตอนนี้พอได้เห็นรูปตึกเก่าเนี่ยจำไม่ได้เลยนะ ถามลูกน้องว่านี่รูปอะไรเนี่ย เขาก็บอกว่ารูปตึกเก่าไงพี่ เราก็ตกใจ (หัวเราะ)”

อนุสรณ์เลือกวาง positioning โดยไม่นิยามพื้นที่ว่าเป็นโรงแรมเลยซะทีเดียว เขาสมมุติว่าที่แห่งนี้เป็นบ้านขนาดใหญ่ที่ให้หลายๆ คนได้มาอยู่ด้วยกัน เขาจึงเลือกชื่อ “Room in Bangkok” เนื่องจากพื้นที่จะสัมผัสกับศิลปะที่เป็นอารมณ์และโทนแบบส่วนตัว การเป็นแค่โรงแรมที่พักหลับนอน จึงไม่ใช่ความหมายของพื้นที่แห่งนี้ เขาเห็นหลายคนที่พักที่นี่มักจะอยู่กันหลายวัน เนื่องจากสถานที่นี้เหมือนแกลเลอรี่ศิลปะที่อยู่ได้ด้วยการเรียนรู้ ใช้เวลาในการซาบซึ้ง

“แล้วแต่จะเรียก บูติกโฮเต็ลบ้าง ฮิบบ้าง หรือว่าอาร์ตบ้าง แต่จริงๆ มันก็คือศิลปะ เพราะมีพวกศิลปินที่เขามากันมากกว่า”

การทำงานกับศิลปินอนุสรณ์ยอมรับว่าเหนื่อย และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเยอะมาก “อย่างในห้องนี่ปวดหัวเลย เพราะแต่ละห้องมันก็เหมือนกับชื่อเสียงของเขาไง มันก็เหมือนกับเอาจิตวิญญาณเขามาใส่ ถ้าเกิดเขาทำอะไรออกไปมั่วๆ มันก็ทำให้ชื่อเขาเสีย เพราะชื่อเขาก็ยังอยู่ มันไม่เหมือนกับรูปที่แขวนกันแค่เดือนเดียว แต่อันนี้มันเหมือนกับ Public ใครไปมาเขาก็จับต้อง มองเห็นได้ เขาก็จะมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น และแต่ละคนเขาก็มีงานส่วนตัว ก็เลยกลายเป็นเรื่องของเวลาอีก ในห้องเราจะเปิดให้ศิลปินเต็มที่เลย เปิดห้องเข้าไปแล้วจะรู้สึกกลายเป็นโลกของเขา”

“เราไม่กลัวว่าศิลปินเขาอาจจะติสต์เกินไป เพราะนี่คือสิ่งที่เราต้องการ เวลาทำเราก็จะมาโคกัน แต่เราต้องตอบตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไร หรือว่าต้องการแค่ให้เหมือนโรงแรมทั่วไป”

สิ่งที่เกิดขึ้นจากรูปแบบโรงแรมนี้ ได้สะท้อนบางอย่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์ของผู้พักปัจจุบัน “คนตอนนี้เขาชอบอะไรที่มันสัมผัสความรู้สึกได้ ชอบอะไรที่เป็นเบสิก อย่างโรงแรมใหญ่ก็อาจจะดู “untouchable” บ้าง อย่างนั้นมันไม่ใช่ศิลปะในความคิดของเรา มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ”

ราคาค่าที่พักต่อห้องต่อวัน ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวจากผลการเปลี่ยนแปลงโดยใช้งานศิลปะและการตกแต่ง

Standard Price (Baht) *include Breakfast
Size
(S) 1,900
(L) 2,400
(Suite) 5,900