ปลาใหญ่ได้น้ำ

มีผลพลิกเบาๆ สรุปครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2004 ทยอยออกมาในเดือนกันยายนถึงตุลาคม ค่ายเทปยักษ์ใหญ่มีผลประกอบการกระเตื้องทั่วหน้า เป็นที่น่ายินดีกับผู้บริโภคเพราะเมื่อปลาใหญ่ได้น้ำอิ่ม การตัดตัวศิลปินที่ออกเพลง ลดสังกัดย่อยในค่าย หรือตามบี้ลิขสิทธิ์เพลง “คง” จะน้อยลงรายงานไป

หลังสามเดือนก่อน เคยรายงานเรื่องอุตสาหกรรมดนตรีโลกซบเซาตลอด 4 ปี (2000-2003) จนยักษ์ใหญ่ต้องประกาศ merge กัน เมื่อกลางปีนี้ คือ โซนี่ – บีเอ็มจี ขณะที่ อีเอ็มไอ ก็เห็นตัวอย่างและเริ่มทบทวนการรวมตัวกับวอร์เนอร์ ซึ่งเจรจายืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2000 แต่ตอนนี้ยังติดที่การขอผ่านความเห็นขอคณะกรรมการอียู ซึ่งดูแลให้การค้าดำเนินไปอย่างเสรี และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

โดยยอดชวนยิ้มในวงการดนตรีนั้น ยูนิเวอร์แซลบอกว่ายอดขายโตขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2004 และล่าสุดยังกวาดรายได้กับอัลบั้มคู่ ศิลปินผิวดำร้องริธึ่มแอนด์บลูส์สมัยใหม่ คือ เนลลี่ ที่ติดอันดับหนึ่งและสองพร้อมกันในคราวเดียว จากชุด Suit และ Sweat

ยอดขายของยูนิเวอร์แซลปีนี้เพิ่มขึ้น 18% เปอร์เซ็นต์ และกำลังเก็บเงินไม่ทัน เพราะระหว่างสัปดาห์ที่ 22 กันยายน ยูนิเวอร์แซลมีศิลปินติดห้าอันดับในหกอันดับแรก และในสัปดาห์เดียวกันนั้น ยังขายเพลงออนไลน์ได้ถึง 1.5 ล้านการดาวน์โหลด หรือสูงที่สุดในประวัติกาล

ปลายปีนี้ยูนิเวอร์แซลยังติดจรวดเตรียมพุ่งขึ้นอวกาศ เพราะมีอัลบั้มใหม่จากศิลปินระดับฝีมือดี และชื่อดังมากของโลก คือ ยูทู( U2), ชาเนีย เทวน (Shania Twain), เอ็มมิเน็ม( Eminem) และเกว็น สเต็ฟฟานิ(Gwen Stefani นักร้องวงโน เด้าท์(No Doubt) )

ทางด้าน เบอร์เทลส์มานน์ ซึ่งทำธุรกิจอื่นๆ ในรูปแบบของบริษัท อภิมหาบันเทิงครบวงจร คือสถานีวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ปีนี้ได้รวยอื้อจาก หนังสือบันทึก Bill Clinto’s My Life กับ Da Vnci Code ที่พิมพ์ในนามสำนักพิมพ์แรนด้อม เฮ้าส์ บริษัทในเครือที่เป็นยักษ์ใหญ่พ็อกเก็ตบุ๊ก โดยรายได้ทั้งเครือเพิ่มขึ้น 3.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8.1 พันล้านยูโร ( ประมาณ 10 ล้านดอลลาร์) บริษัทประกาศว่าจะใช้งบประมาณถึง 2 พันล้านยูโร (2 ล้านดอลลาร์) เพื่อทุ่มลงทุนต่อไป แต่ยังไม่กล้าคาดการณ์อะไร ในช่วงคริสต์มาสที่ตลาดยากวิเคราะห์

ส่วนของมิวสิค กรุ๊ป หรือ BMG ปีนี้ก็ดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากศิลปินแร็พผสมริธึมแอนด์บลูส์ ชื่อ อัชเชอร์ สาวป๊อปแดนซ์ บริทนี่ย์ สเปียร์และนักร้องสาวเสียงใส ดีโด้

บีเอ็มจี เป็นบริษัทส่วนบุคคล ครอบครัวจากเยอรมัน Bertelsmann Stiftung หุ้นกับนักลงทุนจากเบลเยียม Bruxelles Lambert และ the Mohn family ในส่วนธุรกิจดนตรี เคยเป็นค่ายเพลงอันดับสี่ของโลก และกลายเป็นค่ายเพลงอันดับหนึ่งของโลก หลังรวมกิจการด้านดนตรีกับ โซนี่ มิวสิคจากญี่ปุ่น ในชื่อใหม่ของ Sony BMG

สำหรับโซนี่ครึ่งปีแรกนี้ก็มีรายได้ 90 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนที่ขาดทุน เพราะปีนี้มีฟราน เฟอร์ดินานซ์ วงถ้วยรางวัลจากอังกฤษเสริมเข้ามา

วอร์เนอร์ มิวสิค ซึ่งเพิ่งมีการเปลี่ยนมือจากไทม์ วอร์เนอร์ มาอยู่ในมือนักลงทุน ประกาศผลกำไร 350 ล้านดอลลาร์ ในครึ่งปีแรก โดย 200 ล้านดอลลาร์มาจากการลดต้นทุน อีกส่วนมาจากศิลปินฮิต และที่กำลังขายดีอยู่ตอนนี้ คือ วงพั้งก์ ชื่อ กรีนเดย์ อัลบั้มใหม่ American idiot

“นายทุน” เจ้าของบริษัทซึ่งรวมรวบเงินจากมหาชนผ่านไฟแนนซ์มาทำธุรกิจดนตรี ตอนนี้ตื่นเต้นกับยอดขายกรีนเดย์ ถึงกับประกาศ “ข่าวร้าย” สำหรับนักฟังเพลงว่า ต่อไปบริษัทจะเน้นทำตลาดศิลปินน้อยตัวขึ้น โดยเลือกตัวที่ขายได้มากๆ แน่นอนทั้งโลกแทน

อีเอ็มไอ ยังไม่ออกข่าวครึ่งปีแรก หลังประกาศปลายปีงบประมาณเมื่อมีนาคม 2504 ว่ายอดตก 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ปลายปีนี้พนักงานค่ายเทปยักษ์ส่วนใหญ่ก็คงจะยิ้มออกกับโบนัสที่ก้อนโตขึ้น ชวนให้การร้องเพลงจิงเกลเบลล์ฉลองคริสต์มาสสดใสกว่าเดิม

ถึงแม้ว่าต่อจากนั้น สองหรือสี่ ในห้าค่ายเดิมยังต้องใจเต้นรอบทสรุปการ “แปลงสภาพธุรกิจ” หลังการ merge ที่เป้าหมายไม่ใช่รวมแล้วโต แต่เป็นไปในแนวรวมเพื่อตัดแต่งความเทอะทะ และสาขาต่างประเทศคงกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ

ขณะที่ปลาใหญ่ได้น้ำ แต่ปลาใหญ่เหลือเพียงสี่หรืออาจแค่สามตัว จะฟาดกันมันหยดในการแข่งขัน สถาณการณ์ที่ปกติเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะหมายถึงโปรโมชั่นลด แจก แถม เพื่อชิง Top Positioning แต่เมื่อการแข่งขันถูกนำมาใช้ในธุรกิจประเภทขาย “ศิลปะ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” การแข่งขันอาจเป็นผลเสียมากกว่า

เพราะเมื่อกำไรส่วนหนึ่งต้องนำไปโปรโมชั่นลด แจก แถม อาจมีการตัดต้นทุน “่ไม่จำเป็น” ในทรรศนะของนักการตลาด ถ้าไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภค ต้นทุนไม่จำเป็น เช่น การลงทุนทำสินค้าแปลกใหม่ หรือการรับ distribute ขายเพลงที่ขายยาก ตลาดเล็ก ซึ่งกำไรไม่คุ้มแรง “โปรโมต”

ศิลปินก็อาจหลุด” ไปตั้งสังกัด “ปลาสร้อย” ลงทุนทำเพลงกันเองมากขึ้นด้วย โอกาสดีนี้ อาจเป็นของ ดิสตริบิวเตอร์ “ปลาซิว” โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ นอกอังกฤษ อเมริกา

การตั้งค่ายคอยซื้อผลงานหลุดมือจากค่ายใหญ่ เพื่อนำมาจัดจำหน่ายในประเทศไทยอาจเป็นงานที่น่าสนใจสำหรับพนักงานค่ายเทปที่ใจเต้นว่าการเมริชกิจการจะส่งผลถึงตนเมื่อไร

ประตูหน้าที่ปิดปัง สำหรับการเป็นลูกจ้างบริษัทข้ามชาติ อาจเปิดประตูสวนหลังบ้านกว้างใหญ่ เขียวชอุ่มและร่มรื่น ในการเป็นเจ้าของบริษัทค้าเพลงเล็กๆ ที่ทำกำไรให้ตัวเอง

ดั๊ก มอร์ริส CEO กับอนาคตยูนิเวอร์แซล

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปีก่อน ยูนิเวอร์แซลก็เหมือนปลาใหญ่ค่ายอื่นๆ ที่ต้องดิ้นรนหาน้ำลึก แต่แผนการตลาดของยูนิวเวอร์แซลนั้น ลงทุนสูงกว่าใคร คือโครงการ JumpStart ที่เป็นการเฉือนราคาซีดีลงไปเหลือเพียง 9 ดอลลาร์สหรัฐหรือน้อยกว่านั้น (จากเดิม 13-18 ดอลลาร์) แต่โครงการนี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากร้านค้า (เพราะกำไรน้อย) และไม่มีค่ายเพลงอื่นทำตาม ถึงแม้บริษัทจะมีเงินอัดฉีดด้วยการให้งบโฆษณาแก่ร้านค้าก็ตาม

ถึงปิดครึ่งปีที่ยอดดีและเริ่มมีกำไรนี้ ยูนิเวอร์แซลบอกว่า เพราะตอนนี้แผนการตลาดพวกนั้นเริ่มวิ่งแล้ว แถมอีกว่า ในช่วงปลายปีนี้ บริษัทวางแผนตัดต้นทุนอีก 300 ล้านดอลลาร์ โดยกะเฉือนงบประมาณด้านการตลาดและการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ เพื่อให้กำไรดีขึ้น

ผู้บริหารยูนิเวอร์แซล คือ แซค โฮโรวิทซ์ ประธานคณะบริหารกลุ่ม ยูนิเวอร์ แซล กล่าวในวาระนี้ให้ผู้บริโภคคลายกังวลใจว่า “ในขณะที่ตัดต้นทุนต่างๆ เราพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ตัดต้นทุนด้าน A&R (artist and repertoire/ ศิลปินและธุรกรรมดนตรี)”

ยูนิเวอร์แซล ปีนี้ ถึงแม้ สูญเสียไลเฮอร์ โคเฮน มือดีไป แต่ ทีมบริหารก็แข็งแกร่งกว่าค่ายใด นำโดย ลูกหม้อเก่า นายดั๊ก มอริส ประธานดำเนินงานและซีอีโอ กับ จิมมี่ ไอโอไวน์ คู่ใจเขาที่ดูแล สังกัดอินเตอร์ สโคป นอกจากนนั้นยังมีแม่ทัพย่อย แอนโทนิโอ รีด จากสังกัด อริสต้า เร็คคอร์ด ที่มาดูแลสังกัดไอส์แลนด์ เดฟ แจม และยังมีทีมอดีตผู้บริหารจากค่ายอีเล็คทรา คือ ซิลเวีย โรน, อดีตผู้บริหารโซนี่ นายทอมมี่ ม็อทเทลล่า, อดีตผู้บริหารกลุ่มอีพิก พอลลี่ แอนโทนี่

ปัญหาคือ ดั๊ก มอร์ริส จะหมดสัญญาการทำงานกับยูนิเวอร์แซลในปีนี้ และมีข่าวว่า บริษัทแม่ฝรั่งเศสเจรจาให้อยู่ต่อโดยเสนอ 70 ล้านดอลลาร์ สำหรับการทำงาน 5 ปี แต่ถึงเดือนต้นตุลาคม เจ้าตัวยังไม่ตัดสินใจ

เป็นไปได้ว่า หากดั๊ก มอร์ริส ไม่ยินยอมแล้ว ไวเวนดี้ ฝรั่งเศส อาจหยิบแฟ้มขายยูนิเวอร์แซล มิวสิค มาดูอีกครั้ง เพราะกิจการอื่นๆ ในนามยูนิเวอร์แซล อเมริกา ขายให้เอ็นบีซีไปหมดแล้ว

ดั๊ก มอร์ริส นั้นยังสนิทสนมกับ สตีฟ จ็อบส์ เจ้าของบริษัทแมคอินทอช และร่วมมือกันอย่างดีในการผลักดันธุรกิจดนตรีออนไลน์ ไอ-จูนส์ ( ITunes) ของแอปเปิลปีที่ผ่านมา

หมอดูธุรกิจ ทำนายต่อว่า ถ้ายูนิเวอร์แซลประกาศขายจริงๆ คนขอซื้ออาจไม่ใช่ใครแต่อาจเป็นดั๊ก มอร์ริส จับมือกับสตีฟ จ็อบส์ ที่เริ่มติดใจธุรกิจดนตรี

ปี 2004 Not an ordinary music business year

เดือนมกราคม
ไลเออร์ โคเฮน( Lyor Cohen) CEO ของไอส์แลนด์ เดฟ แจม( Island Def Jam Group) หนึ่งในสังกัดทำเงินตลอดกาลของค่ายยูนิเวอร์แซล ถูกวอร์เนอร์ มิวสิค ซื้อตัว

เดือนมีนาคม
เอ็ดการ์น บรอนฟ์แมน จูเนียร์ หนุนหลังโดยบริษัทเงินทุนหลายแห่ง ระดมเงิน ซื้อกิจการวอร์เนอร์ มิวสิค ที่มีศิลปินเช่นมาดอนน่า กรีน เดย์ จากไทม์ วอร์เนอร์ อิงค์ หลังก่อนหน้านี้ ไทม์ วอร์เนอร์ อิงค์ เวียนเจรจาจะรวมกับอีเอ็มไอ อังกฤษ แต่ตกลงกันไม่ได้เกือบสามปี

ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ปรับแผนเงินอัดฉีดให้ร้านค้าอีกครั้ง หรือที่เรียกว่า co-op payments ซึ่งเป็นการให้งบประมาณค่าโฆษณา ที่ร้านค้าไม่จำเป็นต้องใช้หมด เพื่อชดเชยกับการขายซีดีราคาถูกที่กำไรน้อยลง ตามแผน Jump Start ที่ลดราคาเหลือแผ่นละเพียง 9 ดอลลาร์ นับเป็นการตัดราคาซีดีครั้งใหญ่ที่สุดที่บริษัทพยายามทำมานานหลายเดือน แต่ไม่สำเร็จ

เดือนพฤษภาคม
ไวเวนดี้ ยูนิเวอร์แซล (Vivendi Universal) บริษัทแม่ในฝรั่งเศส ได้ขายธุรกิจบันเทิงส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ให้สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีของอเมริกา แต่ยังเหลือแผนกดนตรีที่ “ขอคิดดูอีกหน่อย”

เดือนสิงหาคม
โซนี่(ญี่ปุ่น) และ บีเอ็มจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ รวมกิจการทางด้านดนตรีกันกันทำให้กลายเป็นบริษัทยอดขายอันดับหนึ่งในธุรกิจดนตรีทันที

เดือนกันยายน
ข่าวว่าไวเวนดี้ (ฝรั่งเศส) บริษัทแม่อยากต่อสัญญาอีกห้าปี กับนายดั๊ก มอริส อายุ 65 ปี CEO ที่ทำงานให้ยูนิเวอร์แซล มิวสิค สำนักงานใหญ่มานานสี่สิบปี และมีผลงานดีเด่นทำค่ายติดอันดับหนึ่งมาหลายปีแล้ว แต่ตัวนายดั๊ก ขอเวลาคิดนาน

เดือนตุลาคม
โซนี่ ญี่ปุ่นประกาศถอน Copyright-Control ระบบนี้ทำให้เพลงจากซีดีสามารถก๊อบปี้ลงคอมพิวเตอร์ได้เพียงครั้งเดียว และยังต้องต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการก๊อบปี้ด้วย โซนี่พยายามใช้ระบบนี้มาสองปี และติดบน 800 อัลบั้มในญี่ปุ่น รวมถึงเริ่มติดตั้งในซีดีต่างประเทศ เมื่อต้นปีนี้ ไม่นานก่อนการรวมกิจการกับบีเอ็มจี

วอร์เนอร์ มิวสิค ประกาศจะคืนเงินให้นักลงทุนถึง 350 ล้านดอลลาร์ เพราะเงินที่รวบรวมมาซื้อ และปรับกิจการบริษัท 2.6 พันล้านดอลลาร์มีเหลือ หลังควบคุมต้นทุนต่างๆ