Get Fresh in Movie Business : MOVIE LOCATIONS
เดือนมีนาคม ปี 2546 Yves Marmion โปรดิวเซอร์ หนังฝรั่งเศสทุนสร้างสูง เลือกถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ใช้งบลงทุนราว 180-200 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า เพราะเป็นที่เดียวที่สามารถขอปิดถนนหลายสาย รวมการถ่ายทำกว่า 40 โลเกชั่น หลังจากเดินทางไปที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง
นี่ถือเป็นตัวอย่างแรกที่ประสบความสำเร็จจากการที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกสามัญ ของสมาคมกรรมการภาพยนตร์นานาชาติ (Association of Film Commissioners International) เมื่อเดือนมกราคมปีก่อน หลังจากปรับปรุงระบบให้เป็น “One-Stop Service” จากระยะเวลาที่นานเป็นสัปดาห์เหลือขั้นตอนอนุมัติเพียง 2-3 วัน โดยสมาชิกสมาคมนี้ได้รับการยืนยันจากภาครัฐ ว่าผู้สร้างภาพยนตร์จากต่างชาติว่าจะได้รับความสะดวกจากภาครัฐในด้านการถ่ายทำ ประเทศในภูมิภาคเดียวกับไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และมาเลเซีย
ปัจจุบันหน่วยงานที่รับหน้าที่ดูแลคือสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อกับ หน่วยงานภาครัฐ เช่น ฉากปิดถนน ที่ต้องประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร ซึ่งความสะดวกในการถ่ายทำจึงเป็นแรงจูงที่สำคัญต่อการเข้ามาถ่ายทำในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวีซ่า อุปกรณ์นำเข้าและออก การสร้างฉากในพื้นที่สาธารณะ การถ่ายทำในเขตป่าสงวนหรือโบราณสถาน
ที่แล้วมามีผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทยปีละ 450 เรื่อง ทำเงินเข้าประเทศปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท จำนวนนี้ประมาณ 850 ล้านบาท มาจากภาพยนตร์เรื่องยาวและรายการโทรทัศน์ อีก100 ล้านบาทเป็นภาพยนตร์สารคดี และมิวสิกวิดีโอ และ 250 ล้านบาทมาจากภาพยนตร์โฆษณา
“Movie Town” ได้กลายเป็นช่องทางเชิงรุกในธุรกิจใหม่ เพื่อทำให้เกิดการใช้พื้นที่แบบครบวงจร โดยจะนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก เป็นมุมมองการลงทุนในด้านภาพยนตร์ใหม่ที่ผู้ลงทุนต่างยืดอกรับหวังจะให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของเอเชียในด้านการถ่ายทำ
BOI สร้างแรงจูงใจให้ไทย
จากความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เมื่อเดือน 11 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงมีนโยบายเชิงรุกสร้างแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสร้างเขตอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือกิจการ “Movie Town”
การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้สร้างโดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด 8 ปี และยกเว้นภาษีอากรขาเข้าสำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ในโครงการ “Movie Town” นั้น รวมถึงการถ่ายทำทั้งแบบภายใน ภายนอกสตูดิโอ และอื่นๆ เช่น การตัดต่อทำสเปเชี่ยลเอฟเฟกต์ คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น และการทำซาวน์แล็บ ซึ่งเป็นขั้นตอนการโพสโปรดักชั่นทั้งหมด เป็นข้อกำหนดที่ BOI มีให้กับเขต ที่เห็นสมควรส่งเสริมกิจการ โดยอยู่ภายในเขตอำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรม เพื่อผลักดันวงการ “แอนิเมชั่น” ของไทยในทางอ้อมไปพร้อมๆไปกับภาพยนตร์
ภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคล 5 ปี ทุกเขต และยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรอีกด้วย ซึ่งอัตราภาษีเดิมอยู่ในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์
เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติแห่งแรกในประเทศไทย คือ “กันตนา”
กันตนา : ผู้สร้าง Movie Town แห่งแรกในประเทศไทย
การได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้าง “มูฟวี่ทาวน์” เป็นแห่งแรกในเมืองไทย มาจากการขยายตัวของงานภายในกันตนาเอง ที่ต้องมีฉากเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์และละครของกันตนา ปัญหาการขาดสถานที่เก็บ และเจตนารมณ์ของประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ผู้ก่อตั้งที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ต้องการเห็นโรงเรียนสอนการบันเทิงครบวงจรสมบูรณ์ รูปแบบ “One Town One Stop Service” ของกันตนาจึงเกิดขึ้น ประกอบด้วยสถานที่ผลิต ถ่ายทำ แล็บพิมพ์ฟิล์ม จนไปถึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 800 ไร่ ที่ อ. ศาลายา นครปฐม
ฉากของเมืองจำลองถูกสร้างจนเสร็จสิ้นไปทั้งหมดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือการพัฒนาและตกแต่งพื้นที่ภายในโครงการให้ดูสมจริงมากยิ่งขึ้น โดยเมืองภาพยนตร์ของกันตนาแห่งนี้เป็นที่รองรับการถ่ายทำละครทุนสร้างสูงสุดของกันตนาอย่างเรื่อง “กษัตริยา” จนไปถึงภาพยนตร์ย้อนยุคที่กำลังออกอากาศอย่างเรื่อง “วัยซนคนมหัศจรรย์” ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการย้อนไปในอดีตของเหล่าเด็กในพอศอนี้ และได้รับอนุมัติจาก BOI เรียบร้อย
ฉากเบื้องหลังภายในละครสมัยอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นฉากพระที่นั่งศรีสรรเพชร ฉากพลับพลา ท้องพระโรง หรือหมู่เรือนไทยต่างๆ นอกจากนั้นยังมีงานสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อมาเป็นอาคารต่างๆ ภายในโครงการ เช่น อาคารสำนักงาน จำลองจากวังบูรพาภิรมย์ สถานีรถไฟของจังหวัดอุตรดิตถ์ สถานีรถไฟแม้นศรี บ้านหมอบรัดเล ส่วนอาคารเรียนในมหาวิทยาลัยออกแบบในสไตล์ไทยล้านนา
“ที่เราทำมูฟวี่ทาวน์ไม่ได้หมายความว่ากันตนาจะทำหนังมากขึ้น หนังยังคงทำเหมือนเดิม ปีละเรื่อง หรือ 2 ปีเรื่อง”ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการของกันตนา กรุ๊ป กล่าว
กันตนาลงทุนกับฉากขนาดใหญ่สมจริงด้วยวัสดุจากเหล็กผสมไฟเบอร์เพื่อให้มีอายุการใช้งานมากขึ้น หากกันตนาไม่ลงทุนสร้างฉากเอง จะมีปัญหาในเรื่องการเช่าและจัดหาสถานที่ โดยเฉพาะฉากที่เป็นวัด เป็นวัง หรือท้องพระโรง นักแสดงอาจจะต้องเดินทางไกลถึงเชียงใหม่ หรืออยุธยา และต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย บทเรียน ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เอง เป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นกันตนา มูฟวี่ทาวน์
“การไปเช่าแต่ละที่ถ่ายก็ยาก ค่าเช่าก็แพง จะไปรื้อหลังคาเพื่อให้ภาพมุมสูงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นฉากของเราก็รื้อฝาอะไรได้หมด ความสะดวกมันเยอะ สร้างแล้วไม่รื้อ เราก็เก็บไว้” ศศิกรกล่าว
วันนี้งานการสร้างฉากเมืองจำลองเสร็จไปแล้วด้วยเงินลงทุนนับ 100 ล้านบาท ในขณะที่อีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้วางมาสเตอร์แพลนไว้ กันตนาต้องหว่านเม็ดเงินการลงทุนไปอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
เหตุผลหนึ่งในการระดมเงินจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพื่อที่จะนำมาลงทุนในโครงการดังกล่าวให้เป็นสัมฤทธิผล
มูฟวี่ทาวน์ แบ่งการดำเนินงานทั้งสิ้นออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 ใช้พื้นที่ 250 ไร่ เริ่มก่อสร้างในปี 2546 เป็นการสร้างฉากและเมืองจำลอง เฟสที่ 2 เริ่มงานในปี 2547 สร้างสตูดิโอขนาดยักษ์ 4 โรง พร้อมจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างฟิล์มแล็บ ซาวน์แล็บ ในพื้นที่ 50 ไร่ และเฟสที่ 3 ปี 2548 ก่อสร้างมหาวิทยาลัยกันตนา ในพื้นที่ 100 ไร่ และสำนักงานบริษัทกันตนา ในพื้นที่ 78 ไร่
กันตนามูฟวี่ทาวน์ วางตัวเป็น Local Location สำหรับรองรับงานภายในกันตนาเอง และฉากโบราณในประเทศ โดยมีพื้นที่เฉพาะด้านการพิมพ์ฟิล์มให้กับภาพยนตร์กว่า 200 เรื่องที่เข้ามาทำในประเทศ อันถือเป็นธุรกิจหลักในสาขาภาพยนตร์ที่ทำรายได้ให้กันตนา จนถึงการขยายธุรกิจแอนิเมชั่นที่กันตนากำลังบุกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และมีมหาวิทยาลัยกันตนาที่รองรับการสอนที่เริ่มทำมาก่อนหน้านี้ให้สมบูรณ์
Studios International เส้นทางจากอเมริกา
“Studios International” เป็นกลุ่มทุนรายใหม่จากอเมริกา ที่มีแผนการสร้างมูฟวี่ทาวน์ขนาดใหญ่ 192 ไร่ ในประเทศไทย หวังผลักดันให้กลายเป็นฮอลลีวู้ดของเอเชียรายต่อไป จากคำสัมภาษณ์ของ Tony To และ Patrick Murphy ผู้ก่อตั้ง Studios International ซึ่งทำหน้าที่ร่วมสร้างและร่วมกำกับในภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง “Band of Brothers” ได้คาดว่า หากแผนที่วางไว้สำเร็จ จะดึงเหล่าผู้สร้างจากฮอลลีวู้ดเดินหน้ามาไทย เริ่มด้วยภาคต่อของ“Band of Brothers” ซีรีส์ดังที่จะมีขึ้นในปีหน้า โดยเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างไทยและอเมริกัน ซึ่งชาวอเมริกันที่ร่วมทุนด้วยก็คือ Steven Spielberg ผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด กับผลงานการกำกับเรื่อง Band of Brothers
โครงการภายในประกอบด้วยพื้นที่สำหรับถ่ายภาพยนตร์ พื้นที่สำหรับอุปกรณ์ตัดต่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือแอนิเมชั่น รวมทั้งพื้นที่สำหรับการศึกษาที่ได้ “University of Southern California” สถาบันมีชื่อด้านภาพยนตร์ระดับโลกมาตั้งอยู่ภายในโครงการ คาดว่าจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ รวมถึงเป็นการดึงนักเรียนต่างชาติในภูมิภาคให้เข้ามาศึกษาด้านนี้ในประเทศไทยมากขึ้น
Patrick Murphy ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ Studios International กล่าวว่าในขณะนี้โครงการ Movie town อยู่ระหว่างการติดต่อหาผู้ลงทุนร่วมในรูปแบบต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะเป็นกันตนา, แม็ทชิ่ง หรือแม้แต่ Npark โดยจะงบประมาณการลงทุนรวมคาดว่าประมาณ 3 พันล้านบาท และกำลังอยู่ในช่วงขออนุมัติตั้งเป็นเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์จาก BOI
โครงการนี้ถือเป็นความพยายามของรัฐบาล เพื่อต้องการดึงฐานการถ่ายทำของฮอลลีวู้ดมาที่เมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศในระดับหลายพันล้านบาทต่อปี จากการจ้างงานภายใน การผลิตอุปกรณ์ประกอบฉาก การสร้างองค์ความรู้ที่ต่อเนื่อง
หากไม่มีอะไรผิดพลาดโครงการเริ่มเดินเครื่องได้ภายในปลายปี เพื่อให้ทันรับกับโปรดักชั่นของแบนด์ออฟบราเดอร์ภาคต่อที่ร่วมกำกับโดยทอม แฮงค์ และมีสปีลเบิร์กร่วมทุนสร้าง ในภาพยนตร์ซีรีส์ทางช่อง HBO โดยจะเปลี่ยนสมรภูมิรบมาที่เอเชียแปซิฟิก และคาดว่าจะสร้างเสร็จและยกกองเข้ามาถ่ายทำได้เดือนตุลาคมปีหน้า
STUDIOS BANGKOK วางตัวเป็น International Location สำหรับผู้สร้างต่างประเทศ ทั้งด้านการถ่ายทำและการศึกษา
Matching : The Landmark of Productions
Matching Movie Town เกิดจากการรวมเอาความฝัน และความเป็นไปได้ในช่องทางธุรกิจที่เป็นปลายทางของ ธุรกิจหลักด้าน “Production House” เบอร์หนึ่งของเมืองไทย จนก้าวไปสู่แนวทางของการเป็น Hub ระดับภูมิภาคด้านการถ่ายทำ
บริษัท Matching Movie Town จำกัด ตั้งขึ้นเมื่อมิถุนายน 2003 เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการในแง่มุมต่างๆ โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มได้เมื่อปลายปี 2004 ส่วนที่ตั้งโครงการยังไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ค่อนข้างจะเข้าถึงได้สะดวก ใกล้กรุงเทพฯ รวมระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 3-4 ปีจะแล้วเสร็จ แบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกเป็นการสร้างสตูดิโอ และแวร์เฮาส์สำหรับอุปกรณ์เครื่องมือ รวมถึงแล็บด้านโพสโปรดักชั่นเพื่อที่จะสนับสนุนธุรกิจหลัก ในขณะที่เฟสต่อๆ มาจะเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างด้านวัฒนธรรม และสิ่งก่อสร้างที่เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยว
“กำลังสรุปขั้นตอนสุดท้าย เพราะมีตัวแปรที่เกี่ยวกับตัวเงินด้วย โครงการน่าจะเริ่มได้ปีหน้า ในเฟสแรกนับไปอีกปีกว่าๆ ก็น่าจะเสร็จ ถ้าเราทำอะไรก็จะมีการวางแผนการตลาดที่ชัดเจนและต่อเนื่องต่อไป” สมชาย ชีวสุทธานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน) กล่าว โดยตั้งงบประมาณการลงทุนในระดับพันล้าน
“เริ่มจากความเป็นไปได้ทางธุรกิจก่อน แล้วสานฝันที่เราอยากเห็นในเมืองไทย สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงแต่เมืองไทยยังไม่มี แถบเอเชียแถวนี่ค่อนข้างจะขาดตรงนี้อยู่ ความสามารถและศักยภาพของคนไทยผมเชื่อว่าจะทำได้ และราคาไม่แพงถ้าเปรียบเทียบกับการทำที่มีสเกลเท่านี้ในต่างประเทศ”
Matching Movie Town วางตัวเป็น Professional Studio สำหรับงานโฆษณา จนถึงงานระดับฮอลลีวู้ด โดยเป็นความหวังของผู้ก่อตั้งจะให้เป็นโครงการขนาดยักษ์ทั้งในเชิงท่องเที่ยว และรวบรวมโปรเจกต์ในจินตนาการไว้อย่างครบถ้วน
“คิดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินเยอะมาก ผมไม่ได้มองแค่ว่ามันอยู่แค่ปี 5 ปี แต่อยากให้ตรงนี้อยู่ได้แบบ Long-term คือถ้าผมไม่อยู่แล้ว มันก็จะอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง”
ไฟ…พร้อม! กล้อง…พร้อม! Movie town…พร้อม!
“แอ็กชั่น” !!
Chronology
ความเป็นมา “กิจการภาพยนตร์” ในประเทศไทย
ปี 2507 รัฐบาลประกาศยอมรับให้กิจการสร้างภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง ในพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม
ปี 2512 รัฐบาลให้สิทธิบัตรส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้สร้างที่มีทุนจดทะเบียนในรูปบริษัทไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
ปี 2513 “คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” ได้รับการก่อตั้ง
ปี 2531 เกิดระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พ.ศ. 2533
ปี 2544 ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เพราะเห็นว่าในขณะนั้นประเทศในแถบภูมิภาคเดียวกับประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่มีคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศนำเงินเข้ามาใช้สถานที่ในประเทศของตนเป็นสถานที่ถ่ายทำ และได้มีการแข่งขันเชิญชวนคณะถ่ายทำดังกล่าวค่อนข้างสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและช่วงชิงทางการตลาดอันจะส่งผลต่อการลงทุน การสร้างงาน การกระจายรายได้ การประชาสัมพันธ์ประเทศ และส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีคณะถ่ายทำเข้ามาถ่ายทำในประเทศสูงขึ้นเป็น 5 เท่าเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ปี 2545 จากการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการใหม่ กำหนดให้ส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์(สำนักกิจการภาพยนตร์) โอนไปสังกัดสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีชื่อหน่วยงานว่า “กลุ่มประสานกิจการภาพยนตร์” และได้ยกเลิกคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ปี 2546 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมกรรมการภาพยนตร์นานาชาติ (Association of Film Commissioners International)