Alcatel เลือก Langkawi เกาะขนาดใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซีย เปิดตัววิสัยทัศน์ “User-Centric Broadband Services” ที่จะใช้เฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น โดยอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์หลัก “Broaden Your Life” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ Alcatel ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน
งานเปิดตัววิสัยทัศน์ครั้งนี้ Alcatel ต้องการส่งข้อความไปยัง 2 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis) ที่ต้องการเจาะลึกข้อมูลทางด้านเทคนิค และสื่อมวลชน จากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลทางด้านการทำตลาด กลยุทธ์ จึงทำให้ต้องแยกวันการสัมมนาออกเป็น 2 รอบด้วยกัน คือวันที่ 30 กันยายน -2 ตุลาคม สำหรับ Industry Analysis และ 3-5 ตุลาคม เป็นรอบสื่อมวลชน
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ Alcatel เลือกเกาะ Langkawi เป็นสถานที่เปิดตัว คือ การเดินทางจากประเทศอื่นมายังเกาะแห่งนี้มีความสะดวกสบาย เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสงบ สวยงาม ไม่มีรถติด และที่สำคัญคือมาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งในแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีศักยภาพมากพอจะสานต่อวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากภาครัฐบาลค่อนข้างให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนด้านไอที
การประชุมสัมมนาเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ด้วยเนื้อหาที่อัดแน่นตลอด 2 วัน แต่เมื่อถึงเวลารื่นเริงในช่วงยามเย็น กลุ่มผู้บริหารที่มาร่วมงานนี้ก็ไม่พลาดที่จะโชว์ฝีมือทั้งร้อง ทั้งเล่นดนตรีสากลระดับมืออาชีพ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เพลิดเพลิน สนุกสนานไปตาม ๆ กัน สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้นกว่าเดิมโดยไม่ต้องไปสรรหาจากนอกโรงแรม ที่ตั้งอยู่ไกลตัวเมือง ถือเป็นการจัดงานแบบเบ็ดเสร็จด้วยการใช้ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ Alcatel มีอยู่
งานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Envisioning a User-Centric Broadband Future” เป็นการเผยวิสัยทัศน์ใหม่ที่เป็นผลมาจากการทำวิจัยล่าสุดของ Alcatel จาก 12 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้สำรวจทางอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย MSN ของ Microsoft ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามระบบออนไลน์จำนวน 2,779 คน, สำรวจจากกลุ่มผู้อ่านของ Far Eastern Economic Review จำนวน 1,901 คน และสำรวจแบบกลุ่มย่อย (Focus Group) ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มวัยรุ่น อายุ 18-24 ปี จำนวน 1,263 คนวัยเริ่มต้นทำงานอายุ 25-39 ปี จำนวน 923 คน และกลุ่มผู้ปกครองที่อาศัยในปักกิ่ง ประเทศจีน และโซล ประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 893 คน
จุดเริ่มต้นของการทำสำรวจครั้งนี้เป็นเพราะ Alcatel ต้องการทราบถึงความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับบริการของตัวเองให้เข้าสู่กลุ่มเป้าหมายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ผลการสำรวจผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 263 คน ชี้ชัดอีกว่า บริการ 2 อันดับแรกที่คนไทยมีความต้องการใช้บริการมากที่สุดแม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม คือ Home Security 43% และ Video Conferencing 32% และบริการที่ผู้ให้บริการเครือข่ายน่าจะเพิ่มเข้าไปในแพ็กเกจการใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการจ่ายเงินเพิ่ม ได้แก่ Internet Security 90%, Best Connection 87%, One Address Book 85% และ Entertainment 83%
Christian Reinaudo รองประธานกรรมการบริหาร และประธาน บริษัท อัลคาเทลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า การสำรวจทั้ง 3 ครั้งยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดในเอเชียพร้อมแล้วสำหรับบริการ “บรอดแบนด์” ที่ผู้ใช้สามารถกำหนดรูปแบบได้เอง ซึ่งผู้ใช้ในภูมิภาคนี้คาดหวังบริการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพเฉพาะตัว แต่ใช้งานได้ง่าย ดังนั้นกลุ่มผู้ให้บริการในภูมิภาคนี้จึงควรเร่งนำบริการในรูปแบบนี้มาให้บริการกับผู้บริโภคที่ให้ความสนใจ และพร้อมจะขอใช้บริการ
บริการและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยการใช้ User-Centric Broadband จะทำให้ผู้ให้บริการสร้างความได้เปรียบด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะตัวที่แตกต่างกันของผู้ใช้แต่ละรายหรือแต่ละองค์กร หลักการทำงานของ User-Centric Broadband จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเชื่อมโยงกันในระดับเครือข่าย ไม่ใช่ระดับอุปกรณ์สื่อสาร
เมื่อแต่ละเครือข่าย มีจุดที่มาเชื่อมต่อกันได้ จึงเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการที่สามารถใช้รหัสประจำตัวเพียงชุดเดียวในการเข้าใช้บริการเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นและมีบริการสื่อสารที่หลากหลายอยู่ภายใน ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่รองรับเทคโนโลยีบรอดแบนด์ เช่น โทรศัพท์บ้าน อุปกรณ์พกพา อย่างมือถือ หรือ พีดีเอ เป็นต้น
หากดูตามสถาปัตยกรรมของ User-Centric Broadband แล้ว ในส่วนของ consumer environment ได้กลายเป็นจุดอ่อนของ Alcatel ทันที เพราะการผลิตอุปกรณ์ที่เป็น consumer product เช่น โน้ตบุ๊ก พีดีเอ เครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ธุรกิจของ Alcatel อีกทั้ง Alcatel ก็ไม่คิดที่จะขยายธุรกิจไปในแนวนั้น เพราะมีผู้ผลิตรายอื่นที่ทำธุรกิจการสร้างอุปกรณ์สื่อสารได้ดีกว่า Alcatel อยู่แล้ว จึงใช้การร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับอนาคตร่วมกัน เข้ามาแก้จุดอ่อนของตัวเอง
Alcatel มีเป้าหมายชัดเจน ที่จะไม่ขยายธุรกิจไปในกลุ่มอุปกรณ์ consumer product นอกเหนือไปจาก โทรศัพท์มือถือ ที่ได้ร่วมกับบริษัท TCL COMMUNICATION TECHNOLOGY HOLDINGS LIMITED (“TCL COMMUNICATION”) ผลิตโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Alcatel ออกมาวางขายให้ได้เห็นบ้างในตลาด
Nick Hutton รองประธานฝ่ายการตลาด บริษัท อัลคาเทลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนมาใช้แนวความคิดใหม่แล้ว Alcatel จึงไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในระดับ Consumer มากนัก แต่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จักในหมู่ของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ หรือกลุ่มเป้าหมายใหม่ในระดับองค์กรแทน เพื่อสร้างรายได้จากกลุ่มเป้าหมายใหม่เหล่านี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการนำเสนอบริการครบวงจรภายใต้แนวคิดใหม่ ซึ่งสามารถสร้างบริการที่มีผลกับกลุ่ม consumer และ business โดยตรง
แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน มีความต้องการที่มีรูปแบบเฉพาะตัว จึงเป็นการยากที่จะให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทุกกลุ่ม หน้าที่ของ Alcatel ที่ทำได้ ณ เวลานี้ คือ การนำเสนอโซลูชั่นและประสบการณ์ความสามารถให้แก่ผู้ให้บริการ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และสามารถให้บริการบรอดแบรนด์ที่ผู้ใช้เป็นผู้กำหนดรูปแบบได้เอง ทั้งสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มลูกค้าองค์กร
นี่คือเป้าหมายของ Alcatel ที่กำลังพยายามทำอย่างสูงสุด เพื่อให้วิสัยทัศน์ใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนไปทั่วทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นจริงขึ้นได้ในเร็ววัน