คำบอกเล่าของเจ้ายุทธจักรการออกแบบแสง

งาน Designers’ Saturday ที่ผ่านไป British Council เจ้าภาพได้เชิญ Ian Moore สถาปนิกจากออสเตรเลียเจ้าของผลงาน Altair Apartment ที่เพิ่งได้รางวัล World Architecture Award มาพร้อมกับ Arnold Chan ผู้ออกแบบไลท์ติ้ง (Lighting Designer) ผู้มีส่วนทำให้อาคารหลายแห่งโดดเด่น จนโด่งดังไปทั่วโลก

เพราะงานออกแบบไลท์ติ้งยังค่อนข้างใหม่สำหรับวงการสถาปัตยกรรมของไทย POSITIONING จึงขอนำเสนอเรื่องของการออกแบบไลท์ติ้ง พร้อมกับนำเคล็ดลับของ Arnold มาเล่าสู่กันฟัง

Lighting Design Does Matter !!

วันนี้ ฟังก์ชันของไลท์ติ้ง (lighting) ไม่ใช่แค่การให้แสงสว่าง ไลท์ติ้งที่ดีจะช่วยสร้างเอกลักษณ์ และบุคลิกที่เด่นชัดให้กับอาคาร และบ่อยครั้ง ไลท์ติ้งถูกมองเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นหนึ่งของห้องหรืออาคารนั้นไปแล้ว งานไลท์ติ้งดีไซน์มีบทบาทมากขึ้นต่อสถาปัตยกรรม และงานออกแบบภายใน จนสถาปนิกบางคนบอกว่า “งานสถาปัตยกรรมจะถูกต้องและดูดีขึ้นมากหากไปได้ดีกับไลท์ติ้ง”

สำหรับบทบาทของไลท์ติ้งดีไซเนอร์ คือช่วยทำให้สถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายในมีสภาพแสงที่เหมาะสม และสร้างบรรยากาศให้ตึกดูสวยงาม น่าสนใจ และโดดเด่น Arnold กล่าวว่า “งานของเราไม่เหมือนสถาปนิกหรือนักออกแบภายใน เพราะงานของเราต้องไม่ทำให้ใครสังเกตได้ว่าเราทำอะไรไปบ้าง แต่ต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ฉันรู้สึกดีกับที่นี่ หรือฉันสนุก เธอดูดีจัง และเราไปที่นั่นกันอีกดีกว่า” ไลท์ติ้งที่ดีต้องเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายใน”

Arnold ออกแบบไลท์ติ้งให้กับหลายอาคาร ซึ่งมีหลากไสตล์ เช่น โรงแรม ร้านค้าปลีก ร้านอาหารหรือผับบาร์ อาร์ตแกลเลอรี่ และบ้านพักอาศัย เราจะพาตระเวนไปแอบดูเทคนิคไลท์ติ้งเก๋ๆ ของ Arnold จากผลงานที่โดดเด่นของเขา ซึ่งมีกระจายอยู่ในหลายแห่งทั่วโลกทีเดียว…

– Lighting & Hotels

St. Martin Lane Hotel ออกแบบโดย Phillip Starck ถือเป็นโรงแรมที่ให้ความสำคัญกับไลท์ติ้งมาก และใช้ไลท์ติ้งเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม และการออกแบบภายใน

Arnold ใช้วิธีจัดไลท์ติ้งที่หัวเตียงของห้องนอน และห้องอื่นๆ ในโรงแรม ด้วยเทคนิค colourwash ที่ Isometrix ของเขาคิดขึ้นมา ด้วยเทคนิคนี้ แสงจะเปลี่ยนสีด้วยการหมุน kaleidoscope โดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสงสีต่างๆ จากสเป็กตรั่มแสงที่มีถึง 120 สี แล้วไปตกกระทบที่ผนังห้องสีขาว ซึ่งแขกสามารถเลือกสีให้ตรงกับอารมณ์ของตัวเองในขณะนั้นได้ด้วย

Lobby ของ Delano Hotel ออกแบบโดย Phillip Starck ที่นี่ Arnold ใช้แสงสร้าง “ความเป็นดราม่า” ให้กับสถาปัตยกรรมตามที่สถาปนิกต้องการ โดยเทคนิคที่ใช้คือ การให้แสงไฟสาดส่องมาจากเบื้องหลังของลูกค้า หรืออย่างทางเดินเข้า lobby ก็ให้แสงเหมือนแคตวอล์ก ทั้งนี้เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกโดดเด่น ในบริเวณนี้

– Lighting & Restaurant–Pub/Bar

เทคนิคของไลท์ติ้งที่ดี คือทำให้ลูกค้ารู้สึกดี ดูดีขึ้น และกระตุ้นให้ลูกค้าอยากใช้จ่ายหรือใช้เวลาในร้านมากขึ้น Arnold บอกเคล็ดลับว่า “ในร้านอาหาร ควรจะให้เงามากพอๆ กับการให้แสง”

โดยเฉพาะไลท์ติ้งในผับบาร์ เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเซ็กซี่ ลึกลับ และน่าค้น โดยเลือกให้แสงที่ทางเข้า เพื่อทำให้เห็นว่าใครกำลังเข้ามา หรืออะไรกำลังเกิดขึ้น ให้แสงที่โต๊ะเพื่อทำให้โต๊ะเป็นเสมือนเวที และทำให้หน้าลูกค้าผ่องขึ้น ขณะที่บริเวณอื่นอาจให้แสงเพียงเล็กน้อย

– Lighting & Building

Canal headquarters โดย Richard Meier&Partners ในตอนกลางวัน Arnold พยายามให้แสงน้อยที่สุดเพื่อทำให้ตัวตึกดูขาวบริสุทธิ์ตามคอนเซ็ปต์ของสถาปนิก แต่ในยามค่ำคืน ใช้ไลท์ติ้งทำให้อาคารดูเหมือน “โคมไฟดวงใหญ่” ด้วยเทคนิคการแสงสว่างฟุ้งออกมาจากภายใน มากกว่าการเอาไฟไปติดไว้ภายนอกอาคาร นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้เห็นรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์ภายใน และชั้น (layer) ของสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนด้วย

– Lighting & Boutique Retail

ไลท์ติ้งก็ต้องทำให้เสื้อผ้านั้นดูเหมือนงานศิลปะ ดูสวยงาม มีคุณค่า และน่าเป็นเจ้าของ โดยแสงสีที่จะให้จะต้องเข้ากับสี และทำให้ลวดลายของเสื้อผ้าดูโดดเด่นขึ้น ขณะเดียวกันไลท์ติ้งที่ดียังต้องทำให้นักช้อปรู้สึกดี ดูมีสง่า และเชื่อว่าตัวเองเหมาะกับเสื้อผ้าที่โชว์

นอกจากนี้ ไลท์ติ้งควรทำให้ร้านค้าดูสะอาดตา น่าเดิน และไม่สับสน

– ไฟหรือดวงไฟ ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะบนเพดานหรือฝาผนัง แต่อาจมาจากพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ก็ได้
– การใช้แสงดวงเล็กๆ จากแสงเทียน หรือดวงไฟเล็กๆ จำนวนมากๆ จะให้ความรู้สึกของการเฉลิมฉลองได้
– ถ้ามีทางเดินยาว ไลท์ติ้งที่เหมือนการจัดแสงของเวทีหรือแคตวอล์กจะช่วยทำให้ผู้ที่เดินเข้ามาดูน่าสนใจ และทำให้เกิด sense of arrival คือ คนที่เข้ามาใหม่จะรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ และได้รับการเอาใจใส่
– texture ของตะเกียงสามารถสร้างลวดลายให้กับเงา (texture of shadow) ที่น่าสนใจบนผนังได้

Profile

Arnold Chan อายุย่าง 48 ปี เกิดในฮ่องกง ศึกษาด้านสถาปนิกจาก London’s Architectural Association Arnold เริ่มงานด้านไลท์ติ้งโดยบังเอิญจากการเป็นฟรีแลนซ์ให้กับบริษัทไลท์ติ้งสัญชาติอิตาลี คือ iGuzzini จากนั้นจึงไปเรียนด้านนี้เพิ่มเติมอย่างจริงจัง จนกลับมาตั้งบริษัท Isometrix Lighting and Design ในปี 2537

ผลงานที่ผ่านมาเช่น Grand Opera de Lyon และ Maison du Japon ใน Paris Live TV ใน London Calvin Klein ใน Tokyo Joseph Menswear, Sloane Avenue และ Kenzo ใน London ร้าน Louis Vuittonใน Paris ร้าน Versace Couture ใน Milan Versace Jeans Couture ใน London โรงแรม Club Med ใน Bora Bora โรงแรม Four Seasons ใน Bali

Did You Know?

1.Designers’ Saturday จัดมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี ซึ่งจัดเป็นประจำ โดยยึดเป็นประเพณีพบปะกัน เหตุที่เป็นวันเสาร์เพราะมักเป็นวันหยุดหรือทำงานครึ่งวันของดีไซเนอร์
2.ในกรุงเทพฯ ของเราก็มีผลงานของ Arnold ด้วยเหมือนกัน เช่น โรงแรม Metropolitan และบ้านจิราธิวัฒน์