Berufacademy ภาพใหม่อาชีวศึกษา

เป็นที่รู้จักกันดีว่าเซเว่นอีเลฟเว่นทำหลักสูตรทวิภาคี มาตั้งแต่ปี 2537 มีนักเรียนระดับปวช. ผ่านโครงการนี้ออกไปแล้ว 7 รุ่น 758 คน ระดับ ปวส. 5 รุ่น 250 คน และที่กำลังศึกษาอยู่ทั้งสองระดับรวม 958 คน ในขณะที่ 7-eleven มีความต้องการกำลังคนประมาณปีละ 3,000 คน เพื่อรองรับแผนการขยายร้านปีละ 450 สาขาทั่วประเทศ

ด้วยเหตุจากความต้องการกำลังคนมากขึ้น ประกอบกับประสบการณ์การทำหลักสูตรทวิภาคีร่วมกับกรมอาชีวศึกษามานับสิบปี อีกทั้งได้ Rudolf Mann ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันจากองค์กร GTZ GmBH ที่มีประสบการณ์ตรงด้านสหกิจศึกษามาช่วยออกแบบหลักสูตร พร้อมกับในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท เทกโอเวอร์โรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนทบุรี มาปรับปรุงใหม่ ในที่สุด ซี.พี. เซเว่นฯ ก็ได้ฤกษ์ เปิดตัว สถาบันอาชีวศึกษาในชื่อ โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ เปิดสอนทั้งระดับปวช. และปวส. ใน สาขาธุรกิจค้าปลีก การบัญชี คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และช่างไฟฟ้ากำลัง โดยจะเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคม 2548 นี้

สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอนาคตจะเปิดระดับปริญญาตรี รองรับนักเรียนสาขาค้าปลีกที่จบ ปวส. แล้ว เพื่อต่อยอดอีก 2 ปี แล้วได้วุฒิปริญญาตรี มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอสามารถเป็นผู้จัดการร้านเซเว่นฯ ได้ การเปิดโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสหกิจศึกษาที่ผลิตคนป้อนธุรกิจโดยตรง โดยในอนาคตจะมีการจับมือกับองค์กรธุรกิจอื่นๆ เพื่อผลิตบุคลากรตามโควต้าความต้องการธุรกิจ ที่เมื่อจบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งสถาบันการศึกษาที่ทำแบบนี้ในเยอรมนีเรียกว่า Berufacademy

ด้าน พูนธนา มุสิกบุญเลิศ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนากระบวนการธุรกิจ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) และรองผู้อำนวยการโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ กล่าวเสริมว่า การแข่งขันในตลาดการศึกษาที่ปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนหลายแห่งและแข่งขันกันสูงนั้น โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์มีจุดที่แตกต่างจากโรงรียนอาชีวะอื่นตรงที่นักเรียนจะมีรายได้ระหว่างเรียน โดยเฉพาะในสาขาค้าปลีก ที่มีการปฏิบัติงานจริงที่ร้าน สัปดาห์ละ 4 วัน ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนตามปกติ ทั้งยังจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติไปพร้อมกัน และมีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้บริหารของ ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่นโดยตรง

“ข้อดีสำหรับบริษัทที่เข้าร่วมกับโรงเรียนก็คือ บริษัทได้ประโยชน์จากแรงงานที่มาฝึกปฏิบัติ อย่างน้อยนักเรียนจะอยู่ผึกงานไปอย่างต่ำจนกว่าจะเรียนจบ และเด็กที่จบไปจากที่นี่มีทักษะในการทำงานได้ทันที บริษัทไม่ต้องเสียงบฝึกอบรมอีก ทั้งจะได้พนักงานที่มีความผูกพันกับองค์กรดีกว่า ลดอัตราการออกจากงานเนื่องจาก Culture Shock แรงงานกลุ่มนี้จะอยู่กับบริษัทนานขึ้นเนื่องจากมีโอกาสก้าวหน้าสูง”

ปัจจุบันโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ ตั้งเป้ารับนักเรียนปีละ 1,100 คน ในอนาคตจะขยายเครือข่ายโรงเรียนไปในภูมิภาคเพื่อผลิตคนป้อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โรงเรียนอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ศึกษาภิวัฒน์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยใน บ. ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จก. (มหาชน) ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำงานเสริมนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ลักษณะเฉพาะของปัญญาภิวัฒน์
1. ใช้แนวคิดของ Competency เป็นสำคัญ มีวัตถุประสงค์ให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง ไม่ใช่แค่ได้ความรู้เท่านั้น
2. สอนโดยผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในสาขาอาชีพนั้นโดยตรง
3. ผู้เรียนจะได้ปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง เมื่อเรียนจบจะมีทักษะในการปฏิบัติงานได้ทันที
4. มีโอกาสได้ทำงานในสถานประกอบการที่โรงเรียนร่วมมือด้วย เช่น กลุ่มเซเว่นอีเลฟเว่น และบริษัทธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ
5. ให้ความสำคัญกับการวัดความสามารถในการปฏิบัติ นักเรียนต้องผ่านการสอบความพร้อม (Exit Examination) ก่อนจบ