Licensing Songs in American Ears

คุณทราบหรือไม่ว่า บทเพลงที่คุณได้ยินตามที่สาธารณะต่างๆ ในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุ หรือบนสายการบิน หรือตามบาร์ตามร้านอาหาร…นั้นไม่ใช่ของฟรี…เจ้าของผู้ประกอบการต้องเสียค่าใบอนุญาตเพื่อเปิดเพลงเหล่านั้นให้คุณฟังเป็นรายวัน รายเดือน หรือรายปี…จากรายได้ที่ได้จากคุณนั่นเอง…

สถานีวิทยุค่ายใดก็ตามต้องการเปิดเพลงก็ต้องจ่ายค่าเปิดเพลง ร้านค้าร้านอาหารต้องการเปิดเพลงสร้างบรรยากาศให้แก่ลูกค้าก็ต้องจ่ายค่าเปิดเพลง จะใช้เพลงในการโฆษณาสินค้าก็ต้องจ่ายค่าเปิดเพลง มีบริษัททำของเล่น คิดประดิษฐ์ของเล่นที่เด็กกดปุ่มแล้วมีเสียงเพลง ก็ต้องจ่ายค่าใช้เพลง สถานที่ทำงานอยากเอาใจพนักงาน เปิดเพลงคลอเบาๆ ก็ต้องจ่ายค่าเปิดเพลง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งตามหลักนิติกรรมแล้ว ผู้ใช้เพลงในทุกกรณีในที่สาธารณะจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ จะมากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ ความดังของเพลง และองค์กรที่สังกัดโดยในแต่ละปีมีเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่บริษัทลิขสิทธิ์เพลงในอเมริกาและหมุนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นหลายร้อยล้านเหรียญฯ ทีเดียว…แต่ตามหลักพฤติกรรมอาจเป็นเรื่องยากมากที่จะมีใครมาตามกวดกันเป็นรายๆ ถ้าถูกจับได้ก็จะถูกฟ้อง และค่าปรับที่บางทีไม่คุ้ม อาจถูกเก็บย้อนหลัง เหมือนพวกหนีภาษี เข้าทำนองเดียวกัน…

กระบวนการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในอเมริกามีมานานเกือบร้อยปี
และมีองค์กรและรายละเอียดยิบย่อยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ กระบวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้เพลงในที่สาธารณะ หรือที่อเมริกันเรียกว่า “Public Performance Right” สำหรับสถานีวิทยุ และองค์กรหลักที่มีบทบาทหลักในกรณีนี้เท่านั้น

องค์กรตัวแทนเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือออกใบอนุญาตใช้เพลงที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกาคือ ASCAP (The American Society of Composers, Authors, and Publisher) ก่อตั้งเมื่อ 90 ปีก่อนใน New York เป็นการรวมตัวกันของนักประพันธ์เพลงทั้งดนตรีและคำร้อง และ Publisher หรือในที่นี้หมายถึง ค่ายเพลง เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มสมาชิก ภายใต้การนำของ Victor Herbert นักประพันธ์เพลงชื่อดังในสมัยนั้น

ASCAP เจ้าแห่งลิขสิทธิ์เพลง

สำหรับที่มาของการก่อตั้งองค์กรนี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีอยู่วันหนึ่ง Mr. Hetbert ได้ยินเพลงของเขาเปิดบรรเลงอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรมที่เขาไม่ได้รับค่าตอบแทนในการใช้เพลงของเขา แม้ว่าตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา (The American Copyright Law) จะห้ามไม่ให้ผู้ใดเปิดเพลงที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้ประพันธ์ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับการอนุญาต มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1897 แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังฝ่าฝืน Mr.Herbert จึงรวบรวมเพื่อนพ้องในวงการเพลง และเสนอประเด็นนี้ให้เป็นปัญหาระดับชาติ

ที่รัฐต้องออกมาตราการเข้มงวดในการปกป้องสิทธิของพวกเขา กระทั่งในปี ค.ศ.1909 กฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา ได้ขยายการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักประพันธ์เพลง โดยผู้ประพันธ์เพลงจะได้รับค่าลิขสิทธิ์จากยอดขายเพลง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของกลุ่ม Mr.Herbert และในที่สุด ASCAP ก็ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1914 โดยมีสมาชิกกลุ่มแรกเป็นนักประพันธ์เพลงชื่อดังอย่าง Johnny Mercer ผู้ประพันธ์เพลงให้แก่นักร้องอมตะอย่าง Frank Sinatra หรือ Leonard Bernstein นักประพันธ์เพลงบรอดเวย์ เป็นต้น ปัจจุบัน สมาชิกของ ASCAP ครอบคลุมเกือบทุกประเภทของเพลง เช่น Rock Hip-Hop Country-Western Folk Jazz R&B Symphony และ Latin เป็นต้น ASCAP ดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผลงานเพลงที่มีนักร้องชื่อดังเป็นผู้ขับร้อง เช่น Mariah Carey Madonna Stevie Wonder Dave Matthews และ Korn เป็นต้น

BMI : Business Using Music

BMI หรือ Business Using Music และค่ายเพลงดัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว หลังจากที่เริ่มมีข่าวลือเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์หรือค่าเปิดเพลงของ ASCAP คือไม่มีอัตราที่เป็นมาตรฐาน ปัจจุบัน ฺBMI มีสมาชิกคนเขียนเพลงร่วมๆ 300,000 ราย เช่น David Bowie Elton John Vince Gill Neil Young และ R.E.M. เป็นต้น ซึ่งนักร้องหรือวงดนตรีดังเหล่านี้เขียนเพลงเองด้วย ทำให้เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยมากกว่า นักเขียนเพลงผู้ทำงานเบื้องหลัง ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาก็ไม่ได้ขับร้องเอง แต่พวกเขาทำงานให้นักร้องดังอย่าง The Beatles Eric Clapton Gloria Estefan Mile David และ The Beach Boys เป็นต้น

SESAC

SESAC เป็นธุรกิจเล็กที่เก่าแก่รองจาก ASCAP โดยก่อตั้งเมื่อประมาณกว่า 70 ปีที่แล้ว โดยในอดีตเริ่มแรก เน้นที่กลุ่มนักประพันธ์เพลงชาวยุโรปและเพลงที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ หรือที่เรียกว่า “gospel music” ปัจจุบันครอบคลุมเพลงแนวอื่นๆ มากขึ้น ศิลปินดังที่ร้องเพลงที่เขียนโดยสมาชิกคนเขียนเพลงของ SESAC อาทิ U2 Ricky Martin Christina Aguilera และ UB40

อย่างไรก็ดี ทั้ง ASCAP BMI และ SESAC ทำหน้าที่เดียวกันคือ เป็นตัวแทนปกป้องสิทธิผลประโยชน์การใช้เพลงในที่สาธารณะ ให้แก่นักแต่งเพลง โดยเป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียมการเปิดเพลง เป็นตัวกลางเจรจาอัตราค่าจัดเก็บระหว่างสมาชิกของทั้งสามองค์กร กับฝ่ายธุรกิจที่ต้องการใช้เพลง

กระบวนการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงตามสถานีวิทยุของอเมริกา

การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงตามสถานีวิทยุของอเมริกาจะดำเนินการในรูปแบบของ “blanket license” คือ แต่ละสถานีจะจ่ายค่าธรรมเนียมผ่านตัวแทนทั้งสามข้างต้น โดย ASCAP และ BMI จะเก็บเป็นรายปีจากส่วนแบ่งรายได้ของแต่ละสถานี การเจรจาต่อรองมักทำในรูปแบบของกลุ่มใหญ่ และ SESAC จะเก็บตามขนาดของตลาด ปริมาณการใช้ และความสัมพันธ์ของลูกค้ากับ SESAC โดยส่วนใหญ่เป็นการเจรจาแบบทวิภาคี ซึ่งจะได้ราคาที่ดีกว่า ASCAP และ BMI

ล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ASCAP ได้เซ็นสัญญากับ The Radio Music License Committee (RMLC) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจวิทยุในอเมริกา เป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.246 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 6 ปี (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) เพื่ออนุญาตให้สถานีวิทยุที่อยู้ในกลุ่มสัญญา ซึ่งมีมากถึง 12,000 สถานี เปิดเพลงได้อย่างไม่มีจำกัดและสามารถเปิดบนอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ดีลนี้ถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมวิทยุในอเมริกา

จากที่กล่าวข้างต้นว่า ASCAP เก็บค่าธรรมเนียมจากรายได้ของสถานี ซึ่งสถานีวิทยุส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่เป็นธรรม เนื่องจากหลายสถานีที่เน้นการจัดรายการแบบ talk show ไม่ได้เปิดเพลงเป็นหลัก และมีคนฟังมาก ขายโฆษณาได้เยอะ แต่ต้องมาถูกหักรายได้เพื่อเสียค่าเปิดเพลงที่แทบจะไม่ได้เปิดเลย สำหรับข้อตกลงใหม่นี้ เป็นอัตราจ่ายคงที่ตายตัว (flat fees) ที่สถานีวิทยุต้องจ่ายในแต่ละปี โดยไม่ขึ้นอยู่รายได้ของสถานีแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ฟัง และจำนวนชั่วโมงที่เปิดเพลง ซึ่งหากเป็นช่องที่รายงานข่าวเป็นหลัก มีรายการเพลงคั่นไม่กี่ชั่วโมงก็จะจ่ายน้อยกว่าสถานีที่เปิดเพลงเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับรูปแบบของรายการ สำหรับประมาณการรายได้ค่าธรรมเนียมที่ ASCAP คาดว่าจะรับในแต่ละปีมีรายละเอียดแต่ละปีดังนี้

ตารางที่ 1

2004 : $176.450 million
2005 : $192.550 million
2006 : $208.650 million
2007 : $213.975 million
2008 : $222.700 million
2009 : $231.425 million

สำหรับดีล ระหว่าง RMLC กับ BMI ครั้งสุดท้ายหมดอายุเมื่อปลายปี ค.ศ.1996 จากนั้นก็มีการเจรจาต่อรองมาตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งล่าสุด ได้มีการเซ็นสัญญาจัดเก็บค่าธรรมเนียมโดยใช้รูปแบบเดียวกับ ASCAP และประมาณการรายได้ที่ BMI จะได้รับในช่วง 3 ของสัญญาฉบับนี้มียอดรวมเท่ากับ 576 ล้านเหรียญฯ โดยแยกเป็นรายปีดังนี้ (ดูตารางที่ 2 ประกอบ)

2004 : $176 million
2005 : $192 million
2006 : $208 million

ก่อนหน้าดีลนี้ เมื่อประมาณเกือบสองปีที่แล้วมีดีลทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้น ระหว่าง The Digital Media Association (DMA) และ The Recording Industry Association of America (RIAA) ทำให้ American Online Microsoft RealNetworks และ Yahoo ต้องจ่าย 0.0762 เซน หรือประมาณ 30 สตางค์ ต่อเพลงที่เปิดออนไลน์ และเพลงที่ดาวน์โหลดในรูปแบบของ MP3 ซึ่งสัญญาหมดอายุในปีนี้ และยังไม่มีรายงานข้อสรุปของการต่ออายุสัญญาหรือการเปลี่ยนแปลงอื่นของกลุ่มนี้

…ไม่มีของฟรีในโลกการฟังเพลงของชาวอเมริกัน จะจ่ายมากจ่ายน้อย หรือจะเป็นทางตรงทางอ้อม ผู้เสพเพลงในอเมริกาก็ต้องจ่ายอยู่ดี…