หยุดโลกสับสนด้วยเพลงโหลดส่วนตัว

เหนือกว่าความสำเร็จของโปรดักต์คือพฤติกรรมผู้ใช้ที่เปลี่ยนไป ผู้สันทัดกรณีหลายรายชี้เหตุความสำเร็จของ iPod ว่าไม่ใช่แค่ดีไซน์สะดุดตา หรือความน่าใช้แต่อย่างเดียว แต่เพราะผู้คนต้องการความอิสระในโลกที่วุ่นวาย ตามสไตล์ที่จะกำหนดชีวิตตนเอง

นี่คงไม่ใช่เรื่องใหม่ เรื่องแปลก เทคโนโลยีและโปรดักต์อื่นมากมายได้เคยเปลี่ยนพฤติกรรมยูสเซอร์มามากมายในอดีต และจะเปลี่ยนต่อไปในอนาคต ใครสามารถตีความและตามทันพฤติกรรมสังคมใหม่ แบรนด์นั้นก็พร้อมจะเป็นผู้นำตลาดในทันที

ไม่กี่ปีมานี้ โทรศัพท์มือถือ และสมอลทอล์ก ได้เปลี่ยนพฤติกรรมสังคมจนยอมรับว่า คนที่พูดกับตัวเองเดินไปตามถนนเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่หลายปีก่อนหน้าอาจถูกมองไม่ผิดอะไรกับคนบ้า หรือการที่อยู่ๆ มี ใครข้างๆ พูดลอยๆขึ้นมาแบบไม่เกี่ยวอะไรเลย กับเรื่องที่คุยกัน แสดงว่าหมอนั่นกำลังคุยโทรศัพท์

พฤติกรรมใหม่นี้สร้างธุรกิจมูลค่าหลายแสนล้านที่มีตั้งแต่ผู้ผลิตมือถือ ไปจนถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์ บริษัทที่ไม่มีใครรู้จักจากประเทศเล็กๆ อย่าง ฟินแลนด์ ได้กลายมาเป็นธุรกิจระดับโลกในชื่อ โนเกีย ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี

โดดเดี่ยวในเมืองใหญ่

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่มีคนมองว่า เครื่องเล่นเพลงแบบ iPod ได้ช่วยดึงชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนกลับคืนมา อีกทั้งยังเพิ่มความเป็นอิสระจากการคุกคามทุกอย่าง รวมทั้งเสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์มือถือ ที่ติดตามกดดันไปทุกหนแห่ง

“เสียงเพลงช่วยให้คุณยังสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนตัวตรงนั้นได้ และขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะเลือกฟังเพลงอะไรก็ได้ตามต้องการ” ดร.ไมเคิล บูล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ในอังกฤษ นักวิจัยด้านเพลงกับสังคมวัฒนธรรมคนเมืองได้ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้

“เหมือนกรอบคุ้มกันที่คอยปกป้อง คุณไม่รู้สึกอะไรเวลาที่เดินเบียดเสียดผู้คน ไม่วอรี่อะไรมากมาย คุณอยู่ในโลกใบเล็กๆ ที่เป็นส่วนตัว และสำหรับใครที่ฟัง iPod จะชวนคนอื่นคุยก่อนได้ยากมาก”

ในพื้นที่สาธารณะเบียดเสียดอย่างรถไฟฟ้า-ใต้ดิน ที่มีพื้นที่ความเป็นส่วนตัวน้อย เมื่อก่อนคนจะใช้หนังสือพิมพ์ หรือการ์ตูน สร้างโลกส่วนตัวขึ้น แต่เมื่อเข้ายุคดิจิตอล มีสองพฤติกรรมหลักที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเห็นได้ชัด

อย่างแรกคือพฤติกรรมเชิงรุกอย่างโทรศัพท์มือถือ และการคุยแบบไม่สนใจคนรอบข้าง หรือนั่งกดรับส่งข้อความ SMS อย่างตั้งอกตั้งใจ ส่วนอย่างที่สอง คือพฤติกรรมเชิงรับจากอาการของนักฟังเพลงจาก iPod หรือเครื่องเล่น MP3 สารพัดยี่ห้อที่กระหน่ำเสียงใส่หูตัวเองแล้วตัดขาดจากโลกรอบข้าง

และไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่สองพฤติกรรมหลักนี้ทำกำไรมหาศาลให้กับบริษัทที่ขายโปรดักต์ที่ตอบสนองความต้องการใหม่ที่ว่านี้

เหนือกว่า Walkman

เหมือน Walkman ในยุค 1980 ที่สร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมใหม่ขึ้นมา พร้อมด้วยการแจ้งเกิดของบริษัทโซนี่ แต่ความสำเร็จของวอล์กแมนในวันนั้นคงทำได้ไม่เท่าเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลอย่าง iPod หรือ Creative ในวันนี้

แทนที่จะเป็นเทปคาสเซตของวอล์กแมนที่จุได้แค่ 20-30 เพลง มาวันนี้ เพลงทั้งชีวิตคุณบรรจุพร้อมอยู่ในหน่วยความจำตั้งแต่ 1 กิกะไบต์ ไปจนถึง 60 กิกะไบต์ เคลื่อนที่ติดตัวไปไหนมาไหนได้ สิ่งที่เหลือที่จะต้องทำก็คือเสียบหูฟังเข้าไปแล้วปล่อยให้เพลงที่โหลดมาทำงาน ด้วยความจุมหาศาล และเพลงที่เลือกได้ตามใจชอบ หรือเลือกตามอารมณ์ในเวลานั้นทำให้ผู้ใช้พร้อมเสมอที่จะตัดขาดจากโลกภายนอกในที่สุด อย่างน้อยก็จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด ซึ่งกินเวลาอย่างน้อย 3- 6 ชั่วโมง

ในขณะที่วอล์กแมนในสมัยแรกจะหยุดทุกครึ่งชั่วโมงเพื่อกลับเทป หัวเทปที่เป็นส่วนเคลื่อนไหวทำให้กินไฟ และแบตเตอรี่

นอกจากนี้ iPod ยังเป็นวิธีการชิงเอาเวลาที่เสียไปในสังคมเมืองคืนมา เช่น เวลาน่าเบื่อสองหรือสามชั่วโมงเดินทางไป-กลับที่ทำงานแบบไม่รู้จบทุกวัน นานนับปีหรือหลายสิบปี

“ผมเคยเจอคนที่ยอมใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานขึ้น เพื่อจะได้ฟังเพลงให้มากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะถ้าคุณต้องเดินทางจากจุด A ไปจุด B ทุกๆ วัน ก็เบื่อที่จะมองออกไปนอกหน้าต่างรถแล้ว สถานที่รอบข้างตายสนิท เวลาที่คุณใช้เดินทางตายสนิท” ดร.บูล ชี้พร้อมเสริมว่า “และ iPod ก็เป็นวิธีการที่จะเรียกเอาเวลาส่วนตัวของคุณกลับคืนมาผ่านเสียงเพลง”

และนี่คงอธิบายได้บ้างว่า เพราะเหตุใดไตรมาสสุดท้ายของปี 2004 ที่ผ่านมา iPod ขายได้มากกว่า 3 ล้านเครื่อง ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Creative ขายได้ถึง 2 ล้านเครื่อง