Fact and Feeling ของ HR ยุคใหม่

ภาควิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เป็นหนึ่งในสถาบันไม่กี่แห่งที่มีการเรียนการสอนด้าน HR โดยตรง นอกจากการสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความชำนาญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร และงานวิจัยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน HCM Club ซึ่งเป็นการรวมตัวของเหล่าผู้บริหารงาน HR ในองค์กรชั้นนำอย่าง ชินคอร์ป ไมเนอร์กรุ๊ป เซ็นทรัลรีเทล ล็อกซเล่ย์ APM Group และอีกหลายองค์กร ก็เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือ Best Practices ด้าน HR ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจ

เมื่อทั้งสองฝ่ายจับมือกันจัดงานสัมมนาขึ้น ภายใต้หัวข้อ Fact and Feeling การถ่ายโอนองค์ความรู้จากงานวิชาการสู่ภาคปฏิบัติ การสะท้อนกลับจากนักปฏิบัติสู่นักวิจัย จึงเป็นไปอย่างออกรส จุดประสงค์หลักคือการนำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่นของว่าที่มหาบัณฑิต ด้าน HR จากศศินทร์ 3 ราย ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิก HCM Club อยู่ด้วย ได้แก่ พจนารถ ซีบังเกิด SVP-Head of HR&OD บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด (มหาชน), พัชรา โพธิ์ไพฑูรย์ Learning & Development Manager บริษัททีเอ ออเร้นจ์ จำกัด, และ มณฑิณี ว่องตระกูล HR Manager บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ไฮไลท์สำคัญคือการบรรยายของ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Lead Shepherd, APEC HRD Working Group ซึ่งเสนอมุมมองว่า สิ่งสำคัญ HR จะต้องรู้จังหวะ (Rhythm) ในการประสาน Fact หมายถึง ข้อมูลต่างๆ เข้ากับ Feeling ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด ซึ่งกระบวนการเริ่มต้นจากข้อมูล เมื่อถูกแปลงเป็นองค์ความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไป ในที่สุดก็จะเกิดภูมิปัญญา (Wisdom)

“ในแง่ของ Fact ต้องพิจารณาด้วยว่าข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลชนิดไหน ถูกต้องแม่นยำหรือไม่ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ที่ถูกต้องหรือไม่ ไม่ใช่หยิบข้อมูลดิบมาใช้โดยไม่ทำความเข้าใจ ด้านการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ต้องพิจารณาองค์ประกอบหลัก 4 อย่างคือ Methodologies, Environment, Opportunities, และ Communities ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าต้องใช้ทั้ง Fact-Feeling ด้วยกันอย่างสมดุล และให้คำนึงถึงทุนที่เป็น intangible asset ขององค์กร คือ Innovation, Knowledge, Culture, Emotion และ Creativity

และที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือหัวข้อ HRM Challenges 2004 ซึ่ง ผศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ซึ่งกล่าวว่า การพิจารณาใช้ Fact-Feeling อย่างไร อยู่ที่การวางเป้าหมายให้ชัดเจน โดยพิจารณาถึงแนวโน้มธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วย อาทิ การบริหารจัดการที่มุ่งเน้นผลงาน (Performance-based Management) และผลของการเปลี่ยนแปลงต้องสามารถตีค่าเป็นข้อมูลและตัวเลขได้ โดยผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ KPIs (Key Performance Indicators) และ BSC (Balance Scorecard) รวมทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยง การมีธรรมาภิบาล และการจัดการข้ามวัฒนธรรม

“สิ่งท้าทายสำคัญ คือ การสร้างความสามารถขององค์กร ส่วนหนึ่งต้องค้นหาความรู้นอกตำรา (Tacit Knowledge) ขององค์กรขึ้นมาให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ ต้องกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ผสมกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะมีในพวกลูกหม้อที่อยู่มานาน ส่วนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า HR ควรจับตาไปที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีส่วนในศักยภาพทางการแข่งขันขององค์กร โดยที่การบริหารนั้นจะต้องเป็นเชิงธุรกิจ คำนวณต้นทุน-กำไร วัด ROI ได้ ทำให้ HR เป็น Strategy Driver และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวองค์กร ที่สำคัญการจัดการ HR ต้องอิงข้อมูลจากการวิจัยหรือการทำเซอร์เวย์ให้มากขึ้นตลอดกระบวนการ ไม่ว่าจะ Recruit, Develop และ Retain คน”

ซึ่งการนำเสนอผลงานวิจัยในงานสัมมนานี้ก็น่าสนใจไม่น้อยและครอบคลุมกลุ่มธุรกิจต่างสาขากัน เรื่องแรก “ปัจจัยเอื้อของรูปแบบความเป็นผู้นำของผู้บริหารต่อบรรยากาศในการทำงานและผลการดำเนินธุรกิจ” ของพจนารถ ซีบังเกิด ซึ่งอยู่ในธุรกิจการเงิน จับประเด็นไปที่คุณสมบัติของผู้นำด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่พบว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างบรรยากาศการทำงาน กระตุ้นให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ถัดมาเป็นงานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยชี้วัดความพึงพอใจในงานสำหรับผู้บริหารธุรกิจผู้ให้บริการการสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทย” ของพัชรา โพธิ์ไพฑูรย์ ซึ่งอยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม พบว่าการพัฒนาระดับความรู้ความสามารถ (Development Growth) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลสำคัญต่อการดึงคนไว้กับองค์กรได้ ลบความเชื่อเดิมที่มักคิดว่าตนย้ายงานเพราะค่าตอบแทน

และงานวิจัยของมณฑิณี ว่องตระกูล ซึ่งอยู่ในธุรกิจประกันภัย ในหัวข้อ “การรักษาผู้พิจารณารับประกันภัย (underwriter) ในธุรกิจประกันภัยของไทย” เนื่องจากพบว่าธุรกิจนี้มีปัญหาสมองไหลมากที่สุด จึงทำวิจัยโดยการส่งแบบสอบถาม 500 ฉบับไปยังบริษัทประกันภัย 50 แห่ง ได้รับกลับคืนมา 39.4% พบว่า ประสบการณ์การทำงานกับองค์กร เป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุดต่อความมุ่งมั่นที่พนักงานจะมีต่อบริษัท

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลการวิจัยเหล่านี้ซึ่งเป็น Fact ที่ถูกวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้ว เมื่อ HR จะนำไปปรับใช้กับการทำงาน ก็ต้องวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับ Feeling ขององค์กรด้วย

Did you know?

หลักสูตร HRM (Human Resource Management) ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ มีทั้งหลักสูตรปริญญาโท (Master of Science Program) และประกาศนียบัตร (Graduate Diploma Program) โดยร่วมมือกับ Society for Human Resource Management (SHRM) แห่งสหรัฐอเมริกา สถาบันส่งเสริมวิชาชีพทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เก่าแก่มีอายุกว่า 50 ปี ในการวางหลักสูตรและส่งผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย