สร้างแบรนด์ผ่าน Shop

ถึงแม้ว่า Acer Computer และ BenQ จะมีพื้นฐานมาจากรากเดียวกันคืออยู่ภายใต้ Acer Corporation มาก่อน แต่หลังจากที่ได้แยกบริษัทออกมาทำตลาดกันเองอย่างชัดเจน จึงทำให้แนวคิดการจับสินค้า แนวทางการทำตลาด สร้างแบรนด์ วิธีการเข้าถึงลูกค้ามีรูปแบบเฉพาะตัว

Shop เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยการันตีสินค้าในแบรนด์ของตัวเองให้มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งทางด้าน Acer Computer มีจุดประสงค์ในการสร้าง Shop ขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์บริการครบวงจรให้กับลูกค้าที่ใช้โน๊ตบุ๊กภายใต้ชื่อ Acer Notebook Professional Shop ซึ่งจะเน้นในแนวเทคโนโลยีเป็นหลัก ส่วนทางด้าน BenQ จะมีชื่อร้านว่า BenQ Shop จะมีลักษณะที่เน้นไปในแนวของ Fun & Play

Acer Notebook Professional Shop จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดโน๊ตบุ๊กโดยเฉพาะ โดยเริ่มโครงการระยะแรกก่อน 7 ราย และหลังจากนั้นจะทยอยตกแต่งร้าน และอบรมพนักงานเพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ตามแผน Acer จะเปิด Shop 50 แห่งภายในปีนี้ แบ่งเป็นศูนย์ในเขตกรุงเทพฯ 35 แห่ง และต่างจังหวัด 15 แห่งด้วยงบประมาณการลงทุน 12 ล้านบาท โดย Acer จะเป็นผู้ลงทุนเรื่องการตกแต่งร้านให้กับตัวแทนจำหน่ายเองทั้งหมด

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า การเปิดศูนย์ Acer Notebook Professional จะทำให้เอเซอร์สามารถดูแลและให้บริการได้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์เอเซอร์แล้วจะได้รับบริการที่ดี บริษัท Xcon จำกัด เป็นผู้รับหน้าที่การออกแบบ Shop ให้กับ Acer โดยจะใช้รูปพื้นที่ว่างในตัว a และตัว e ของแบรนด์ Acer ที่มีความโค้งมนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ

Acer Notebook Professional จะใช้เป็นสถานที่แสดงสินค้าในส่วนของโน๊ตบุ๊ก เป็นจุดขายสินค้าและให้บริการหลังการขาย รวมไปถึงเป็นที่ให้ลูกค้ามาวางเครื่องโน๊ตบุ๊กเพื่อส่งซ่อมได้อีกแห่งหนึ่ง

ทางด้าน BenQ Shop เปิดตัวขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่แสดงสินค้า และให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสได้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ ที่ชั้น 4 ฟอร์จูน ทาวน์ และชั้น 4 พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า

คริสโตเฟอร์ เชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบ็นคิว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของ BenQ จะเน้นที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการใช้งานในชีวิตประจำวัน จึงมีนโยบายพัฒนา BenQ Shop ให้ลูกค้าได้สัมผัส ทดลองใช้ โดยจะทำหน้าที่เป็น Experience Center ในการสร้างประสบการณ์ตรงระหว่างลูกค้ากับผลิตภัณฑ์ของ BenQ ในรูปแบบ Interactive อีกทั้งจะเป็นตัวช่วยสร้างความเข้าใจสินค้าบางประเภทที่อยู่ในระยะเริ่มต้นได้อีกช่องทางหนึ่ง

ในขณะเดียวกันก็เป็นร้านขายสินค้า เป็นตัวช่วยสร้างภาพลักษณ์ และให้บริการหลังการขาย โดยมีแผนจะเปิดปีนี้ 10 Shop ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งรูปแบบและลักษณะของ Shop จะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเงินทุนในการตกแต่งร้าน การนำสินค้าเข้าร้าน พันธมิตรจะเป็นคนจ่ายเงินเอง

การออกแบบ BenQ Shop จะมีลักษณะเป็นออแกนิก ที่เน้นความเป็นรูปทรงแบบธรรมชาติ มีความโค้งมน มีองค์ประกอบที่เป็นทรงกลมเหมือนพรายน้ำ โดยจะชูจุดเด่น Pattern ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผีเสื้อ ใช้สีม่วงสดใส ซึ่งเป็นสีของ BenQ มาเป็นพื้นฐานในการออกแบบ เน้นความโล่ง โปร่ง สบายตา ในแนวบูติก

การจัดวางสินค้าในแต่ละ Shop จะมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมลักษณะของกลุ่มผู้บริโภคย่านนั้น เช่น Shop ที่พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า จะเน้นการวางสินค้าในแนวไอที เช่น Joybook และอุปกรณ์เกี่ยวกับการจัดการเก็บข้อมูลเป็นต้น พื้นที่ร้านจะมีขนาดประมาณ 20-35 ตารางเมตร ขึ้นอยู่กับสถานที่นั้น แต่จะไม่ออกแบบให้ Shop มีขนาดใหญ่เกินไป ซึ่งการบริหาร BenQ Shop แต่ละแห่ง Partner ของ BenQ จะเป็นผู้ดำเนินการดูแลแต่ละ Shop เอง ภายใต้ข้อกำหนดของ BenQ

Shop จะมาสร้างความโดดเด่น ลักษณะเฉพาะตัวให้กับสินค้าตัวเอง ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งมาประกอบเข้ารวมกัน เพื่อช่วยแสดงตัวตนของแบรนด์นั้นให้ชัดเจน เพราะนั่นจะเป็นการขยายศักยภาพของตัวเองเข้าสู่การตอบสนองวิถีชีวิตแบบดิจิตอลของผู้บริโภคได้มากขึ้น