Academy Fantasia ปี 2 “เรียลลิตี้เมืองไทยต้องสนุก”

“เกด” เป็นหนึ่งในบรรดาแฟนคลับ “อคาเดมี แฟนตาเซีย” ที่ติดตามดูคอนเสิร์ตของเหล่าสมาชิก ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน มาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว

แม้สถานที่จัดคอนเสิร์ตจะไกลถึงถนนแจ้งวัฒนะ แต่กลับไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเธอแต่อย่างใด ด้วยความชื่นชอบในบทเพลง ในบางอาทิตย์เธอไม่ได้บัตรเข้าชม แต่ดูเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจสำหรับเธอ เพราะความที่คุ้นเคยดีกับทีมงาน

“มาจนเจ้าหน้าที่ในนี้เขาคุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ต้องมีบัตร เห็นหน้าก็ให้เข้าได้” เธอเล่า ก่อนจะหันกลับไปตะโกนทักทายกับบรรดาแฟนคลับที่เดินผ่านไปมาอย่างคุ้นเคยดี

“หลายคนก็มารู้จักกันในนี้ เห็นหน้ากันเป็นประจำ อย่างกลุ่มที่ใส่เสื้อสีชมพู มาเชียร์เปรี้ยว ส่วนสีเขียวมาเชียร์พัดชา ส่วนสีฟ้าเชียร์พาส” เธอเล่า

เกด เล่าว่า เป็นเพราะความชื่นชอบเสียงเพลง ทำให้เธอเลือกติดตามดูรายการ Academy Fantasia ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรายการเรียลลิตี้อื่นๆ แล้ว เธอมองว่ายังไม่มีรายการไหนดูสนุกเท่า

“AF ปีแรกไม่ได้ดี มาดูปีนี้ ดูแล้วก็ชอบ แต่ไม่ได้ส่ง SMS ไปเชียร์เบอร์ไหนเป็นพิเศษ แต่ดูเพราะรายการสนุก เป็นเรื่องของเพลงด้วย ชอบ ถ้าเป็นเรียลลิตี้อื่นๆ ดูแล้วไม่สนุก”

เกด เป็นเพียง 1 ในบรรดาแฟนคลับประเภท “ตัวจริงเสียงจริง” ที่นอกจากติดตามดูคอนเสิร์ตทุกสัปดาห์แล้ว เธอยังเข้าเว็บไซต์ ubc.co.th เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร และ chat กับแฟนคลับคนอื่นๆ เป็นประจำ

สำหรับยูบีซีแล้ว แม้ว่ารายการ Academy Fantasia ปีที่ 2 จะไม่โด่งดังถึงขั้นเป็น talk of the town เช่นเดียวกับผลตอบรับที่ได้ในปีแรกของการเปิดตัว แต่ก็สร้างความนิยมให้กับผู้ชมให้ติดตามชมได้ต่อเนื่อง
แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะถูกสั่นคลอนในเรื่องความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ว่ามีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนในหรือไม่ และในแง่ของคะแนนโหวต ซึ่งลือกันสะพัดโดยเฉพาะใน cyber society ว่า “ล็อกโหวต” ไว้แล้ว รวมถึงการตีความการโหวตกลับว่า เป็นการเล่นไม่ซื่อกับคนดู

ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา UBC รับรู้มาโดยตลอด องอาจ ประภากมล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงกับนำสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมแผนก Information System ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลหลักของบริษัท และยังทำหน้าที่รับและประมวลผลคะแนนโหวตของ AF เพื่อพิสูจน์และยืนยันความบริสุทธิ์

รูปแบบของ AF ในปีที่ 2 ที่เปลี่ยนแปลงไป มาจากข้อกำหนดที่อยู่ใน bible ตามข้อตกลงของรูปแบบรายการที่ทำไว้กับเจ้าของลิขสิทธิ์

“จริงๆ แล้วรายการ La academia ซึ่งเป็นต้นแบบจากเม็กซิโก เขาก็เป็นแบบนี้เป็น trick ที่มีอยู่ใน bible อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะหยิบมาใช้ตอนไหน season ไหน และเราได้กำหนดไว้ใน AF 2 ตั้งแต่ต้น หากสังเกตจะพบว่าระยะเวลาแข่งขัน 12 สัปดาห์ หากโหวต

ออกสัปดาห์ละ 1 คน เป็นไปไม่ได้ที่สัปดาห์สุดท้ายจะเหลือนักล่าฝันเพียงคนเดียว ดังนั้นช่วงกลางโชว์ก็จะมีระบบโหวตกลับ 3 คน เข้ามามีบทบาท และเชื่อว่าคนดูส่วนใหญ่ก็แฮปปี้นะ กับ gimmick ตรงนี้” อรรถพล ณ บางช้าง Director of Programming แก้ข้อกังขา

ต้องยอมรับว่า Academy Fantasia คือเกมโชว์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีกฎ กติกาของโชว์มาบังคับ แต่คนดูบางส่วนอาจหลงลืมไปว่า AF เป็นแค่เกมชีวิตจริง…Reality Show นั้นหาใช่ความจริง 100% “คนดูรายการเพื่อความบันเทิง เขายินดีจ่ายเงินค่าโหวตเพื่อความบันเทิงอยู่แล้ว”

การนำประกาศผลโหวตออก ก่อนคอนเสิร์ตจะมีขึ้นในช่วงวันเสาร์ เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง อรรถพลให้เหตุผลว่า “เพื่อความยุติธรรม เพื่อป้องกันการทุ่มโหวตในวันแสดงคอนเสิร์ต ถ้าเราต้องการทำรายได้จากตรงนี้ ก็เปิดผลโหวตโชว์ไปแล้ว ….ทุกวันนี้คนยังไม่เชื่อ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร…แต่ถามหน่อยว่าผมจะทำอย่างนั้นทำไม คน 1 คน กำหนดจะสนุกเท่ากับคนเป็นแสนๆ กำหนดได้เหรอ”
หน้าตา และความสามารถของสมาชิกในบ้าน AF ทั้ง 12 คน ในปีนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งเปลี่ยนแปลง ซึ่งอรรถพล บอกว่า เป็นเพราะระยะเวลาในการคัดเลือกมากขึ้น และผู้สมัครที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้โอกาสในการเลือกจึงมากขึ้นกว่าปีแรก

“ผมว่าสมาชิกทั้ง 12 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ไม่ใช่เก่งกาจและหล่อสวยอะไรมากมาย “ในมุมมองของผู้ผลิต อรรถพล เชื่อว่า AF2 ดังระเบิดในกลุ่มสมาชิก UBC แต่ก็เป็นการยากที่จะวัดว่าสมาชิกที่เพิ่มขึ้นมาจากรายการนี้รายการเดียวหรือไม่ เนื่องจากไปตรงกับช่วงเวลาการแข่งขันฟุตบอลลีก กว่า 900 แมตช์

ถึงแม้จะไม่ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนกับ AF ปีแรก แต่ก็ถือว่าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะมีช่องทางในการดูเพิ่มขึ้นจากการนำไปออกอากาศที่ ITV ทุกวันวันละครึ่งชั่วโมง

“chat หน้าจอเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 4 เท่า…สัปดาห์ที่มีคอนเสิร์ตคน 5,000 คนเดินทางมาดูรายการเราเต็มทุกๆ เสาร์ ซึ่งรายการ AF ยังเป็นรายการที่เจาะคนดูระดับแมส ตั้งแต่เด็กยันคนแก่หอบหิ้วกันมาดูคอนเสิร์ต”

จะว่าไปแล้ว แม้ว่า AF จะต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายตลอดเวลา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นรายการ Reality Show ที่พิสูจน์ความดังมาได้ถึง 2 ปีซ้อน แม้จะเจ็บตัวจากแรงเหวี่ยงของสังคมไปบ้าง แต่ก็คือตำนานบทหนึ่งของวงการโทรทัศน์เมืองไทย

Reality Show แบบไหนโดนใจคนไทย

หลังความสำเร็จของ Academy Fantasia รายการเรียลลิตี้ หลั่งไหลเข้าสู่เมืองไทย แต่ดูเหมือนว่า นอกจากรายการ Academy Fantasia แล้ว ไม่มีรายการ “เรียลลิตี้” ใดที่จะประสบความสำเร็จได้เท่านี้ เพราะ หลายสิบรายการไม่เป็นที่นิยมของคนดู บางรายการปิดดีลกับสปอนเซอร์ได้ตั้งแต่ต้น และบางรายการในต่างประเทศดังเป็นพลุแตก แต่กลับแป็กไม่เป็นท่าในเมืองไทย

“ต้องทำแบบไม่คำนึงว่าจะคุ้มทุนหรือไม่ ต้องไม่ให้สปอนเซอร์เข้ามาเป็นคนกำหนดทุกอย่าง จนกลายเป็นการยัดเยียดให้คนดู ดูแบบกระอักกระอ่วน ต้องให้ความสมดุลระหว่างสปอนเซอร์และรูปแบบเนื้อหารายการ…ผมไม่ได้ทำรายการ สปอนเซอร์ โชว์”

อรรถพลเชื่อว่าความสำเร็จของ AF มาจาก format รายการที่เน้นความสนุก เป็นเรื่องของโชว์ประกวดร้องเพลง ไม่ได้เน้น relationship ซึ่งส่อให้ตีความไปถึงเรื่องของ sex หรือความขัดแย้ง ความมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวสำหรับสังคมไทย และทำให้หลายรายการล้มเหลว

แต่ก็ใช่ว่า UBC จะสำเร็จทั้งหมด รายการสรรหาบุคลากร หรือ Human Resources ที่ยูบีซีผลิตขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นบทเรียนที่เหนื่อยเปล่าของ UBC

“ไม่เหมาะกับอุปนิสัยคนไทย เพราะโดยธรรมชาติของคนไทยไม่ชอบให้ใครมารู้เรื่องราวเกี่ยวกับตนตลอดจนรอบครัว และเจาะลึกเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ถ่ายทำไปได้ครึ่งหนึ่งผู้เข้าแข่งขันก็หนี คงเพิ่งจะมาคิดได้ว่าออกทีวีแล้วเจ้านายจะเห็น และข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งก็คือเลือกมาไม่ถูกเวลา เพราะต้นฉบับที่อาร์เจนตินารายการนี้ดังมาก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจคนโหยหางานกัน แต่ที่เมืองไทยยังไม่ถึงขนาดนั้น”

แต่ความสำเร็จของ AF ปีที่ 2 สร้างความมั่นใจให้กับยูบีซี ที่จะทำรายการ Reality Show รูปแบบใหม่ที่ UBC ซึ่งอาจเป็นรายการดังจากต่างประเทศ หรืออาจเป็นรายการที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง