“Concert Marketing”

ลานหน้า Cheeze Studio ร้านถ่ายรูปกึ่งโมเดลลิ่งวัยรุ่นของแม็ทชิ่งฯในสยามเซ็นเตอร์ยุคตกแต่งใหม่คึกคักอีกครั้ง ด้วยทีมแดนเซอร์หนุ่มหล่อกับเสียงเพลงเร้าใจมาดึงดูดวัยรุ่นโดยเฉพาะสาวๆให้มารู้ข่าวคอนเสิร์ตใหญ่ต้นปี 49 ของอดีตบอยแบนด์ขวัญใจวัยรุ่นเมื่อเกือบสิบปีก่อน “backStreetboys” ภายใต้ชื่อคอนเสิร์ตเต็มๆ ว่า “Scotch Forever Young Presents … backStreetboys Live In Bangkok 2006”

บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ ผู้จัดการทั่วไปของ Matching Entertainment ระบุว่าคอนเสิร์ตก็คือสื่อโฆษณาชนิดหนึ่ง ไม่ใช่แค่โลโก้ที่สปอนเซอร์จะได้ติดพ่วงกับป้ายคอนเสิร์ต แต่รวมถึงกิจกรรมร่วมกัน โปรโมชั่นส่งเสริมการขายเช่นเกมชิงบัตรคอนเสิร์ต ทั้งหมดเพื่อสร้างแบรนด์ของสปอนเซอร์ และแลกเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายระหว่างศิลปินและสินค้า

Scotch ผู้ผลิตรังนกและซุปไก่ เป็น 1 สินค้าที่ให้ความสำคัญกับ Music Marketing ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้กับคอนเสิร์ตจากนอกหลายรายการในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่านี่คือ กลยุทธ์แบรนด์ และเข้าถึงลูกค้าวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่

วรวิมล กรรมารางกูร ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาดบริษัท S & Son Trading ผู้จำหน่ายรังนกสก๊อตอธิบายว่า สก๊อตมุ่งเข้าหากลุ่มเป้าหมายหนุ่มสาวซึ่งก็เป็นกลุ่มที่สนใจเพลงและความบันเทิง นอกจากนี้ backStreetboys เป็นบอยแบนด์ที่ดังมาสิบปี “อายุไม่น้อยแล้ว แต่ยังร้องเต้นให้สาวกรี๊ดได้อยู่” นับว่าเป็นศิลปินตัวแทนนำเสนอคุณค่าผลิตภัณฑ์ได้ดี เช่นเดียวกับหลายรายที่เคยจัดไปเช่น Mariah Carey, Kenny G

เบียร์ Asahi สปอนเซอร์อีกราย ใช้โปรโมชั่นให้บรรดาสาวเชียร์เบียร์จัดกิจกรรมแจกบัตรคอนเสิร์ตนี้ตามเคาน์เตอร์เบียร์อาซาฮีที่ผับ และร้านอาหารต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่ง อภิราม โปษกฤษณะ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท B&A Distribution ผู้จำหน่ายเบียร์อาซาฮี เชื่อมโยงว่าจะเป็นการดึงดูดลูกค้าหนุ่มสาวที่สนใจความบันเทิงต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของอาซาฮี ให้เข้ามารู้จักเบียร์อาซาฮีได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับทางรังนกสก๊อตที่ให้ลูกค้าส่งฝาก็ส่งชิงบัตรคอนเสิร์ตได้

คลื่นวิทยุ Seed 97.5 FM เป็นพันธมิตรที่เข้ามารับหน้าที่โปรโมตคอนเสิร์ต โดย ตุ้ย ธีรภัทร สัจจกุล ผู้บริหารคลื่นก็มองว่าแฟนๆ backSreetboys เป็นหนุ่มสาวกลุ่มเดียวกับ Seed FM ที่จะทั้งโปรโมต จัดเกมแจกบัตรให้คนฟัง ทั้งดึงแฟน backStreetboys มาฟังคลื่น และแนะนำ backStreetboys สู่ผู้ฟังไปพร้อมกัน และในสปอตโฆษณาคอนเสิร์ตทุกครั้งก็จะมีชื่อและโลโก้ของ Seed FM พ่วงไปด้วย

ธุรกิจคอนเสิร์ต 200 ล้านบาท

การจัดคอนเสิร์ตต่างประเทศในไทย เฉลี่ย 10 คอนเสิร์ตต่อปี มีวงเงินรายได้เฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อคอนเสิร์ต รวมทั้งปีก็ราว 200 ล้านบาท มีผู้จัด 3 รายใหญ่คือ Matching, BEC Tero, และ BNT

เหตุผลที่มุ่งจัดแต่ศิลปินต่างประเทศและไม่นับรวมคอนเสิร์ตของศิลปินไทยเข้ามาด้วย ก็เพราะค่ายเพลงต้นสังกัดเช่น แกรมมี่ อาร์เอส จะเป็นผู้จัดเองทั้งหมดและก็มุ่งยอดขายแผ่นเป็นหลัก

ยอดจำนวนคอนเสิร์ตและเงินหมุนเวียนเคยมากกว่านี้ในยุคก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วก็มาตกฮวบซึมในช่วงวิกฤต 2540 -2542 จากนั้นก็ค่อยๆ โตขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน

ประเทศที่มี Concert Marketing คึกคักที่สุดในเอเชียคือประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ เป็น “concert hub” แห่งเอเชีย เฉลี่ย 20 คอนเสิร์ตต่อปี มากกว่าไทยถึง 2 เท่า อย่าง backStreetboys ที่มาเล่นในไทยครั้งนี้ก็ไปเล่นในสิงคโปร์ด้วย รองลงไปคือ ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย