ย้อนไปกว่า 20 ปีก่อนนี้ เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ “Bally”หนุ่มไทยรุ่นพ่อคงรู้จักดีว่า Bally เป็นแบรนด์รองเท้าระดับไฮเอนด์สำหรับสุภาพบุรุษมาดขรึม กุลธิดา นพจรูญศรี ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Bally เล่าที่มา “150 กว่าปีก่อน แบรนด์นี้เริ่มต้นจากรองเท้าผู้ชาย ซึ่งบรรดา luxury brand จะมีแบรนด์ไฮเอนด์ที่เป็นรองเท้าผู้ชายน้อยมาก คนก็เลยติดภาพเราอย่างนี้มาเรื่อย”
แต่วันนี้ หากก้าวเข้าช็อป Bally จะเห็นว่า Bally เริ่มแตกไลน์ไปสู่สินค้าหลากหลาย และเป็น “unisex brand” มากขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนมาดเคร่งขรึมไปสู่ความทันสมัยมากขึ้นตามกระแส metrosexual และสไตล์การแต่งตัวของหนุ่มทำงานรุ่นใหม่ที่ casual มากขึ้น อันเป็นการขยายฐานลูกค้าไปยังคนรุ่นใหม่ทั้ง 2 เพศ ทว่ายังยึดจุดยืนเดิมคือ ความเป็นแบรนด์พรีเมียม
“Positioning ในตลาดของเราน่าจะอยู่ต่ำกว่า Louis Vuitton และ Hermes เล็กน้อย อยู่ระหว่าง Celine, Ferragamo, Gucci, Prada แต่จริงๆ กลุ่มลูกค้าเราคือ B+ ถึงระดับ A+ เหมือนกัน” กุลธิดาระบุระดับความหรูหราและพรีเมียมของ Bally
ความพรีเมียมของ Bally เริ่มต้นจาก “ตัวสินค้า” กุลธิดายกตัวอย่างสินค้า messenger bag รุ่น Train Spotting สีช็อกโกแลตในคอลเลกชั่นแฟชั่นของผู้ชาย ราคาอยู่ที่ 46,200 บาท โดยนอกจากตำนานอันเป็นเสมือนมรดกแห่งความเป็นสวิตเซอร์แลนด์ที่ประทับไปกับอักษร “Bally”กรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันยังเป็นอีกส่วนที่ทำให้สินค้า Bally เกิดความพรีเมียม
“เริ่มต้นจากฟาร์มเลี้ยงลูกวัวซึ่งใช้รั้วไฟฟ้าเพื่อกันหนังเป็นรอย อาหารการกินก็ดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีฟาร์มเลี้ยงเพื่อดูแลหนังตรงนี้เฉพาะ ขั้นตอนการฟอกหนังซึ่งสำคัญมาก เราใช้โรงฟอกที่มีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงที่อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน โดยรุ่นนี้เราใช้วิธีฟอกแบบ wax-treated คือใช้แว็กซ์ลงซ้ำ แล้วฟอกใน drum ที่เป็นถังไม้ทิ้งไว้ 3 อาทิตย์ หมักพร้อมกับรากไม้จากแอฟริกา เพื่อให้เกิดสีที่ยิ่งเก่ายิ่งดูดี จากนั้นเข้าสู่โรงงานผลิตกระเป๋าที่อิตาลี ซึ่งงานเย็บกระเป๋าส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือและต้องใช้เวลามาก”
สินค้าหลักอย่างรองเท้าทำงานผู้ชาย ความพรีเมียมอยู่ที่หนังวัวที่คัดเลือกมาอย่างดี กับดีไซน์ที่ผสมระหว่างความคลาสสิกกับความทันสมัย และเทคนิคการทำรองเท้าให้เบาและใส่สบาย กุลธิดาเสริมอีกว่า “พื้นรองเท้าถือเป็นมูลค่าเพิ่มของรองเท้า Bally ก็ว่าได้ เพราะจริงๆ แล้วรองเท้าหนังจะสวย พื้นก็ต้องเป็นหนังด้วย แต่กิจกรรมที่ต่างและพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่าง Bally ก็เลยมีพื้นรองเท้าที่เป็นหนังและยางที่มีดอกลายต่างๆ เป็นกิมมิก เหมาะสำหรับแต่ละกิจกรรมหรือพื้นผิว โดยใช้เทคนิคการทริมขอบที่ทำให้ดูไม่ขัดกัน”
สนนราคารองเท้าหนังผู้ชายของ Bally อยู่ที่คู่ละกว่า 19,000 บาท ถึงเกือบ 25,000 บาท ซึ่งกุลธิดาแอบกระซิบว่า จริงๆ แล้วมีที่ราคาแพงกว่านี้ แต่เพราะ Bally ประเทศไทยต้องไปเลือกสินค้ามาจากคอลเลกชั่นเอเชียที่มาจากออฟฟิศที่ฮ่องกง ซึ่งบินไปเลือกมาจากคอลเลกชั่นใหญ่ที่สวิตเซอร์แลนด์อีกที… รองเท้าราคาแพงหลายรุ่นไม่ถูกเลือกมาอยู่ในคอลเลกชั่นเอเชียและบ้านเรา
กลุ่มลูกค้าคนไทยของ Bally แบ่งตามลักษณะสินค้าได้ชัดเจนคือ ถ้าเป็นรองเท้าทำงานผู้ชายแบบคลาสสิก ลูกค้าหลักก็คือนายแบงก์ นักการเมือง อาจารย์ ผู้บริหาร ขณะที่รองเท้า sporty หรือ casual จะเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีคาแร็กเตอร์ของตัวเอง สำหรับสินค้าผู้หญิง กลุ่มลูกค้าหลักมักเป็นผู้บริหารหญิงที่มั่นคงในหน้าที่การงาน และมี profile ความสำเร็จ
“ลูกค้าของ Bally ส่วนใหญ่มักเป็นแฟนประจำของแบรนด์ เพราะมันใส่สบาย ถ้าลูกค้าแค่ได้ touch & feel และได้ลอง ลูกค้าก็จะชอบ ความสำคัญของพนักงานก็คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าลอง” กุลธิดาเสริม
สำหรับการจัดร้าน อาจกล่าวว่า Bally Shop ไม่เน้นความหรูเท่าความสะอาด เรียบ และเข้าถึงได้ง่าย การดิสเพลย์ทุกอย่างเป็นแนวตรงและสี่เหลี่ยม มุ่งเทความสำคัญให้สินค้า พนักงานขายเป็นหน่วยกระตุ้นยอดขาย ณ จุดขาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญ ทั้งนี้ พนักงานจะต้องเข้าอบรมทุกเดือนในเรื่องแบรนด์ สินค้าใหม่ เทคนิคการขาย โปรโมชั่น บริการหลังการขาย รวมถึงแบรนด์คู่แข่ง โดยจะมีรางวัลให้พนักงานที่มีทักษะการขายดีที่สุด
ในส่วนของการสื่อสารการตลาด กุลธิดาบอกว่า “เราโชคดีที่ทำ Bally ซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์เนมที่คนยอมรับอยู่แล้ว และกลุ่มลูกค้าค่อนข้างมี loyalty เราแทบจะไม่ต้องอธิบายคุณภาพใดๆ สินค้าก็ขายได้ บางทีเรายังต้องเรียนรู้จากลูกค้าด้วยซ้ำ ถือว่า เขาสร้างอิมเมจตรงนี้มาดีมาก จุดใหญ่ที่เราต้องทำก็คือ focus ที่บริการที่ดี”
บริการเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เสริมสร้างความพรีเมียมให้ Bally เริ่มตั้งแต่การขาย พนักงานในชุดฟอร์มสั่งตรงจากฮ่องกงถูกเทรนให้ทิ้งระยะกับลูกค้าเพื่อไม่ให้ลูกค้าอึดอัดระหว่างชมสินค้า เมื่อลูกค้าลองรองเท้า พนักงานต้องนั่งลงที่พื้นเพื่อเอารองเท้าให้ลอง รวมทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและโปรโมชั่น สำหรับบริการหลังการขาย Bally รับประกันสินค้าตลอด 3 ซีซั่น หรือ 18 เดือน หากพิสูจน์ได้ว่าเสียหายจากโรงงาน และมีบริการรับซ่อมด้วยอะไหล่นำเข้าจากโรงงานที่อิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์
สุดท้าย กุลธิดายังพูดถึงกิจกรรมพิเศษเพื่อสร้างความรู้สึก “privilege” ให้ลูกค้า เช่น Birthday Discount-card ให้ส่วนลด 25% กับเจ้าของวันเกิด หรือการส่งแค็ตตาล็อกให้ลูกค้าปีละ 3 ครั้ง และการทำกิจกรรมร่วมกับบัตรเครดิตหรือธนาคาร
Did you know?
1. CEO คนปัจจุบันของแบรนด์ Bally คือ Marco Franchini อดีต GM ฝีมือดีของ Gucci ซึ่งได้รับเชิญจากกรรมการผู้ถือหุ้นให้มารับตำแหน่ง CEO หลัง Franchini เข้ามาไม่นาน เขาก็ซื้อตัวอดีตดีไซเนอร์อาวุโสจาก Celine และ Ferragamo มาเป็นหัวหน้าทีมครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ช่วยพัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัยขึ้น
2. ผู้นำเข้าแบรนด์ Bally เข้ามาในประเทศไทยก็คือ บริษัท Golay Buchel (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัท Jewelry จากสวิตเซอร์แลนด์เหมือนกัน นอกจาก Bally บริษัทนี้ยังมีแบรนด์เนมอื่นอีก เช่น Longchamp, Etinne Aigner, Raymond Weil และนาฬิกา Gucci
3. Bally ในไทยมีสินค้าคือ กระเป๋า รองเท้า และ accessories อื่นๆ เช่น กระเป๋าสตางค์ พวงกุญแจ เข็มขัด ฯลฯ แต่ในต่างประเทศยังมีเสื้อผ้า Bally ขายด้วย
Decoding Bally’signs
1. เหตุที่กระเป๋านิยมใช้สีน้ำตาล นอกจากความสวยงาม ยังสื่อถึงสีช็อกโกแลตซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
2. สายคาดหรือสายสะพายทำจาก canvas สีขาวแดงเป็นสัญลักษณ์ของ Bally และเป็นสีธงชาติของสวิตเซอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ยอดนิยมที่มักถูกเอาไปทำเลียนแบบ)
3. สินค้าทุกชิ้นของ Bally จะมีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็น Bally เช่น โลโก้ หรือแบรนด์ Bally หรืออักษรตัว B ฯลฯ อย่างน้อย 1 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะมีมากกว่า 1 แห่ง