ลองไปเปิดกระเป๋าสตางค์ของพวกเขาดูซิ! คนรวย เศรษฐี หรือที่นิยามกันว่ากลุ่มคนระดับ hi-end เขามีเครื่องมือทางการเงินชิ้นหนึ่ง ที่เรียกว่า “บัตรเครดิต แพลตตินั่ม” บางคนเปรียบเปรยว่า ถือบัตรนี้เหมือนถือตะเกียงอาลาดิน อยากจะขออะไร ซื้อหาอะไร เดินไปไหน เพียงแค่รูดปรื้ดๆๆ…นวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวนี้ เป็นโปรดักส์ชิ้นสำคัญที่องค์กรทางการเงินกำลังแข่งขันกันขาย แข่งขันกันบริการ ในสไตล์ไฮโซมาร์เก็ตติ้ง
บัตรพลาสติกสีเทาดำ ที่เรียกกันว่า “ซิตี้แบงก์ แพลตตินั่ม” เป็นบัตรตัวแทนของกลุ่มลูกค้า hi-end สูงสุดที่ซิตี้แบงก์ผลิตขึ้นมา เพื่อตอบสนองบรรดาเศรษฐีหรือผู้มั่งคั่ง …เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงการทำธุรกิจที่เรียกว่า “luxury Product”
“บัตรแพลตตินั่ม ในเมืองไทย เกิดขึ้นในปี 1999 มีลูกค้าที่เป็นสมาชิกเพียง 500 คน เป็นกลุ่มคนมีฐานะที่ซิตี้แบงก์เลือก ต่อมาฐานกลุ่มผู้ถือบัตรได้ขยายฐานมากขึ้น โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า จะต้องมีรายได้ต่อเดือน 70,000 ขึ้นไป สิ้นปี 2005 มีลูกค้าบัตรนี้ถึง 20,000 ราย” นันทมาลี ภิรมย์ภักดี ในฐานะผู้ดูแลบัตรเครดิต แพลตตินั่ม ซิตี้แบงก์ เล่าถึงฐานลูกค้า
กลุ่มลูกค้าผู้ถือบัตรแพลตตินั่ม ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 30-40 ปี รวมทั้งทายาทเจ้าของกิจการ เศรษฐีหน้าใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคม
ในเชิงการตลาด ซิตี้แบงก์ มองว่า พฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า hi-end ไม่จำเป็นต้องโหมกระพือ ทำโฆษณาเหมือนบัตรเครดิตทั่วๆไป สิ่งที่เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้ คือ การทำตลาดแบบขายตรง
“แพลตตินั่ม ส่วนหนึ่งมาจากฐานลูกค้าเดิมที่ถือบัตรเครดิตประเภทโกลด์ และมีประวัติทางเงินที่น่าเชื่อถือ ลูกค้าเดิมกลุ่มนี้ทางซิตี้แบงก์จะติดต่อไปเอง ถือเป็นการกรองลูกค้าได้ระดับหนึ่ง ปัญหาเรื่องหนี้สูญจึงแทบไม่มีปัญหาเกิดขึ้น”
นันทมาลี อธิบายอีกว่า ความสะดวก ความพึงพอใจ ดูเหมือนเป็นเรื่องของเหตุผลสำคัญสำหรับผู้ถือบัตรนี้ ดังนั้นการแข่งขันเรื่องการ “การมอบสิทธิบริการพิเศษ” ให้ประทับใจสูงสุด ย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่เกิดแรงจูงใจของผู้บัตรนี้
นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของซิตี้แบงก์ องค์กรทางการเงินที่มีอายุเก่าแก่นับสองร้อย ปี เป็นเหตุผลหนึ่งที่นันทมาลีเชื่อว่า มีคุณค่า ขลังพอที่ทำให้ผู้ถือบัตรมีเครดิตดี มีอานุภาพ บ่งบอกถึงฐานะทางสังคมชั้นสูง ยังเป็นเครื่องมือการจับจ่ายในการเดินทางทั่วโลก ซึ่งมีร้าน และสถานที่บริการต่างๆ ถึง 25,000 แห่ง รองรับการบริการ และมอบส่วนลดให้ผู้ถือบัตรนี้ด้วย
“ซิตี้แบงก์จับมือกับร้านค้าดังมากมาย โรงแรม ที่พัก รวมทั้งห้างดังระดับไฮโซ ย่านใจกลางกรุงเทพฯ เช่น สยามพารากอน เกษรพลาซ่า เอ็มโพเรียม เราทำธุรกิจร่วมกันแบบ win win ได้ประโยชน์ร่วมกัน ห้างขายของได้ เราขยายสมาชิกได้ ขยายบริการได้หลากหลาย”
การบริการพิเศษสุดของบัตรใบนี้ ที่เหมือนเป็นจุดขายแตกต่างจากการถือบัตรอื่นๆ คือ การมอบบริการพิเศษสำหรับนักช้อป โดยคุณสามารถเดินทางช้อปปิ้งในศูนย์สรรพสินค้าระดับเกรดเอของกรุงเทพฯ ไม่ว่า สยามพารากอน เอ็มโพเรียม เกษรพลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี่ เอราวัณแบงก์คอก ทุกที่มีที่จอดรถพิเศษให้ชนิดสามารถจอดได้ที่หน้าประตูทางเข้า ยังมีเลานจ์ในศูนย์การค้าเหล่านี้ด้วยให้ได้นั่งพักผ่อน ในขณะเดินช้อปปิ้ง
“ดูเหมือนการบริการที่ธรรมดา แต่เชื่อไหมว่า ลูกค้ากลุ่มนี้พึงพอใจกับการบริการเช่นนี้มาก ให้ทั้งสะดวกและดูดีมีระดับ ให้ความรู้สึกทางด้านภาพลักษณ์ของผู้ใช้บัตร”
มากไปกว่านั้น ผู้ถือบัตรยังสามารถเรียกใช้รถลีมูซีนได้ 1 ครั้งต่อปี ในการเดินทางไปสนามบิน และในขณะรถยนต์ที่ขับเสีย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของเมืองไทย สามารถเรียกใช้บริการรถลากได้ปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งกิจกรรมทุกๆไตรมาสของปี จะมีการจัดกิจกรรมให้กับลูกค้าได้เข้าร่วมงาน เช่น กิจกรรมเครื่องสำอางความงามสำหรับลูกค้าผู้หญิง กิจกรรมทดลองขับรถยนต์ระดับหรูสำหรับผู้ชายเป็นต้น เป็นต้น
…นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการบริการพิเศษ เครื่องมือทางการเงินของกลุ่มคนชั้นสูง ดูเหมือนว่าบัตรพลาสติกใบนี้มีอำนาจมากจริงๆ
Did you Know?
นันทมาลี ภิรมย์ภักดี นอกจากจะดูแลบัตรแพลตตินั่ม เธอเปรียบเป็น Celeb หรือตัวแทนของบุคคลที่มีฐานะ พูดง่ายๆ เธอรวย และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการสังคมไฮโซ ดังนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ซิตี้แบงก์เลือกเธอมานั่งดูแล สร้างโปรดักส์ชิ้นนี้ ก็เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน