สำหรับคอนักอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้ว หลายคนคงรู้จัก “ สุมาลี ” หรือนามปากกาของ “ สุมาลี บำรุงสุข ” นักแปลอิสระที่ใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่อังกฤษ ควบคู่กับการเป็นอาจารย์พิเศษ สอนหนังสือปริญญาโทอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเดอรัม (University of Durham) ประเทศอังกฤษ
ก่อนมายึดอาชีพนักแปล สุมาลีเคยเป็นนักเขียนวรรณกรรมเด็กและเยาวชนก่อน ผลงานชิ้นแรก “ เรื่องของม่าเหมี่ยว ” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารสตรีสารเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ปัจจุบันผลงานเรื่องของม่าเหมี่ยวได้ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำโดยนานมีบุ๊คส์
“สมัยเป็นเด็ก พี่ชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียน พอเรียนหนังสือจบจากจุฬาลงกรณ์ พี่ก็ไปทำงานด้านหนังสือของวิตาอยู่ 2.5 ปี หลังจากนั้นไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท แล้วไปสอนหนังสือที่สุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งช่วงนั้นเว้นว่างไปจากงานเขียนหนังสืออยู่หลายปี ”
แต่ก็มาจับงานหนังสืออีกครั้ง เมื่อเพื่อนสนิทรู้จักกับคุณสุวดี นานมีบุ๊คส์ ชวนให้ไปช่วยแปลหนังสือเด็ก ระหว่างนั้นต้องติดตามสามี ซึ่งไปสอนหนังสืออยู่ที่อังกฤษ ก็ได้ไปเจอหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งตอนนั้นเริ่มดัง อีกทั้งหนังสือพิมพ์ กาเดียน ได้รีวิวชมหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับเด็ก 11 ขวบที่ดีมาก เห็นว่าน่าสนใจเลยซื้อมาอ่านดู
“เลยโทรมาบอกคุณสุวดี และขอเป็นคนแปลเอง ตอนนั้นยังเป็นนักแปลที่ไม่มีชื่อเสียงเท่าไหร่ แต่ก็พอมีประสบการณ์คลุกคลีแปลหนังสือเด็กมาบ้าง รวมทั้งเคยเขียนหนังสือเด็กมาก่อนเลยได้แปล โดยพี่ซื้อแฮร์รี่ พอตเตอร์มา 3 เล่ม แต่พอลงมือแปลจริงได้แค่ 2 เล่ม เหนื่อยมาก ทำให้เล่ม 3 งานเร่งเกรงส่งงานไม่ทัน เลยต้องให้คนอื่นแปลแทน”
จากผลงาน 2 เล่มเข้าตากรรมการ ทำให้ผลงานแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มต่อมาโดยเฉพาะเล่ม 5 และเล่ม 6 ภาคล่าสุด สุมาลีก็ได้กลับมาแปลอีกครั้ง โดยเฉพาะเล่มล่าสุด เจ้าชายเลือดผสม
“สำหรับเล่ม 5 เป็นเล่มที่ยากที่สุด มีเนื้อหายาวมากที่สุด ภาษาอังกฤษ 800 หน้า (ภาษาไทย 1,000 หน้า) ดังนั้น จึงต้องวางแผนตารางแปลประจำวันต้องให้ได้วันละ 10 หน้า ใช้เวลาประมาณ 3.5 เดือน ส่วนเล่มล่าสุด 6 ประมาณ 600 กว่าหน้า (ภาษาไทย 800 กว่าหน้า) ใช้เวลาประมาณ 2.5 เดือนก็เสร็จ เพื่อให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนดไว้ ”
หลักการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์สไตล์สุมาลี ซึ่งทำแบบเดียวกันมาตั้งแต่เล่มแรก คือต้องอ่านให้จบก่อน 1 เที่ยว จากนั้นก็อ่านช้าๆ ทีละบท พร้อมจดคำศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย หรือคำที่รู้ความหมายศัพท์แต่นึกคำภาษาไทยไม่ออก แล้วค่อยมาเปิดพจนานุกรม ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
“การแปลแต่ละเล่มมีความยากง่ายแตกต่างกัน ต้องระมัดระวังมากที่สุดในเรื่องชื่อ การเขียนคำ เพราะเป็นหนังสือชุดต่อเนื่อง หากติดขัดจริงๆ ก็จะใช้วิธีถามเพื่อนชาวต่างชาติ สำหรับแฮร์รี่เล่มหลังจะแปลสะดวกหน่อย เพราะคำศัพท์หลายคำใช้ซ้ำๆ กัน บางครั้งเจอคำศัพท์ที่ค้นหาความหมายในพจนานุกรมไม่เจอ เพราะเป็นคำศัพท์ที่เจ.เค.เขียนขึ้นมาเอง ชื่อใหม่ๆ อ่านไม่ถูก ก็ต้องทำการบ้านเพิ่ม หาเทปอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งอ่านโดยนักแสดงชาวอังกฤษ Steven Fry มาช่วย”
นอกจากนี้ ยังมี “ คำศัพท์แปลกซึ่งค่อนข้างมาก อาทิ ชื่อขนมแปลกๆ ตัวละคร ที่อ่านไม่ถูกก็จะไปถามเพื่อนแล้วก็เอามาแปลแล้วให้ทางสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ตรวจทานขัดเกลาให้ดีขึ้น สมัยนั้นยังไม่มีโปรแกรม Edit งานเลยช้า แต่พอมาแปลเล่ม 5 และเล่ม 6 ใช้โปรแกรมช่วยตรวจสอบทำให้รวดเร็ว แม่นยำขึ้น”
ขณะเดียวกัน สำนวนแปล เน้นใช้คำเข้าใจง่าย เลียนแบบนักเขียนต้นฉบับ ส่วนคำแสลงบางคำก็ใช้คำที่เด็กเข้าใจได้ทันที เช่นคำว่า nick เท่ากับ Steal แปลว่าขโมย ก็เลือกใช้คำ “ จิ๊ก” แทน, คำว่า howler แปลว่าจดหมายเสียงดัง แต่เมื่อแปลเลือกคำใช้แทนว่า จดหมายกัมปนาท , หรือ occulmancy ซึ่งเป็นคาถาที่แฮรี่ไปเรียนเพื่อปกป้องจิตใจ ก็แปลว่า คาถาสกัดใจ ซึ่งภาษาอังกฤษต้องไปอ่านตอนต้นจึงจะรู้ความหมายแท้จริง ซึ่งสุมาลียอมรับว่าเป็นงานที่ท้าทายและสนุกดี
“บางครั้งเจ.เค.สร้างคำศัพท์ใหม่ขึ้นเอง ซึ่งมีทุกเล่ม พี่ก็จะไม่แปล อาทิคำว่า horcrux อ่านฮอร์ครักษ์ (เล่ม 6) หรือ inferi อ่านอินแฟไร เพราะไม่รู้จะแปลว่าอะไรก็เลยต้องละไว้ ก็มีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งเวลาเด็กๆ อ่านก็ต้องเดาเอา นี่คือความสนุกของแฮร์รี่ อีกมุมหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นนักแปลแต่ก็ยอมรับว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ภาษาไทยอาจได้อรรถรส ความสนุกไม่เต็มตัวเท่ากับการอ่านภาษาอังกฤษ
“หากภาษาอังกฤษดีก็น่าจะอ่านเล่มอังกฤษ เพราะจะสนุก ได้อรรถรสเต็มที่มากกว่า โดยเฉพาะมุกตลก มันถูกถ่ายทอดออกมาไม่หมด ยกตัวอย่าง ตัวเอกชื่อ Ron ซึ่งเป็นเพื่อนกับตัวเอก มีแฟนสาวชื่อ Lavender ก็มักเรียก ron เป็น won won (วอน-วอน) แบบพูดไม่ชัดอ้อนๆ แฮร์รี่หมั่นไส้และก็กลัวว่าเพื่อนจะเรียก Lavender ว่า Lav lav (ล้าฟ –ล้าฟ) ซึ่งเป็นแสลงอังกฤษ แปลว่า ห้องน้ำ ซึ่งคำแบบนี้ต้องอ่านเอง จะให้ทำเชิงอรรถก็ลำบาก”
ไฮไลต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในทัศนะนักแปล สุมาลียอมรับว่า เจ.เค. โรลลิ่ง เก่งมากในการพัฒนาตัวละครให้น่าสนใจ และจัดกลุ่มตัวละครเสริมซึ่งกันและกันอย่างลงตัว แต่ละตัวไม่ได้ดีพร้อม แต่พอมารวมตัวแล้วทำให้เรื่องสนุก อีกทั้งยังมีจินตนากรเกี่ยวกับสัตว์ประหลาด คาถา สิ่งมหัศจรรย์ที่เด็กชื่นชอบ ทำให้เกิดอารมณ์ขันได้
“ข้อสำคัญ แฮร์รี่ พอตเตอร์มีความลึกลับ ที่ต้องไขปริศนา พออ่านแล้วทำให้เราอยากรู้จะทายถูกมั้ย มีเงื่อนงำใดบ้าง ที่น่าสนใจทั้งหมดนักเขียนได้วางพล็อตทั้ง 7 เล่มไว้ล่วงหน้า แต่เอามาเล่าเรื่องในแต่ละเล่มให้น่าสนใจ ตัวละครผูกโยง คาดเดาไม่ออก นั่นคือเสน่ห์ที่ทำให้แฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นหนังสือเด็กที่สนุก”
นอกจากได้แปลผลงานชื่อดังระดับโลก อันส่งผลให้สุมาลีกลายเป็นนักแปลชื่อดังเพียงเวลาไม่นาน เธอบอกว่า “ประสบการณ์กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ทำให้พี่เรียนรู้การทำงาน 1. เป็นคนละเอียด ประณีตถี่ถ้วนมากขึ้น 2. ทำงานเป็นระบบมากขึ้น เพราะต้องทำงานกับสำนักพิมพ์ 3.ได้เรียนรู้วิธีการเขียนของ เจ.เค.โรลลิ่ง นักเขียนหนังสือเด็กชื่อดังระดับโลก ซึ่งนำมาเป็นต้นแบบ เรียนรู้เคล็ดลับเพื่อเจริญรอยตาม เพราะพี่ก็เป็นนักเขียนด้วย ”
สำหรับผลงานชิ้นต่อไป เธอแย้มให้ฟังว่า อาจเป็นนวนิยายที่เธอแต่งขึ้นเอง ซึ่งใช้เทคนิคจากเจ.เค.อีกด้วย สำหรับ ใครๆ ที่แฟนนักแปลมือเอกคนนี้ ไม่ควรพลาด!!!