ความลับของ"โรตีบอย"

98 99 100 101…นับด้วยสายตา ผู้คนที่ยืนต่อแถวยาวเหมือนงูเลื้อย หน้าร้านขนมปังอบ “rotiboy” บริเวณสยามสแควร์ซอย 4 ย่อมแปลกอกแปลกใจว่า ขนมปังร้านนี้มีอะไรดี มีอะไรอร่อย ถึงได้มีคนยืนรอคอยซื้อกันอย่างอดทน

ขนมปังฟีเวอร์นี้ ชื่อว่า ร็อตตี้บอย (Rotiboy) หรือภาษานักกินเรียกกันติดปากว่า “โรตีบอย” เป็นขนมปังอบกลิ่นกาแฟ ก้อนกลมๆ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของขนมปังที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงนี้ โดยการนำเข้ามาของพรเพ็ญ อังควานิช นักธุรกิจร้านก๊วยเตี๋ยวนู๊ดดี้ สยามสแควร์ ซึ่งซื้อแฟรนไชส์มาจากประเทศมาเลเซีย

ความน่าสนใจของขนมปังอบนี้ ไม่ใช่อยู่ที่รสชาติ แต่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ที่เรียกว่า “จิตวิทยามาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งมีขั้นมีตอน มีเชิงยุทธ์ที่น่าสนใจยิ่ง

เจ้าของร้านแห่งนี้ เล่าว่า กลยุทธ์แรกตั้งแต่เปิดร้านเมื่อประมาณปลายปี 2548 คือ การแจกให้ชิมฟรีแบบไม่อั้น แจกอยู่วันสองวัน เพื่อให้เกิดความรู้จักในรสชาติก่อนที่ทางร้านจะเปิดขายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“ติดอกติดใจแน่” พรเพ็ญมั่นใจเช่นนั้น เพราะขนมปังสูตรนี้ได้พิสูจน์ความนิยมอย่างล้นหลามมาแล้วทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเคยมีนักธุรกิจซื้อแฟรนไชส์ไปทำกันหลายรายแล้ว และพบว่าได้ความนิยมทุกร้าน มีการต่อคิวซื้อยาวเหยียดเหมือนกัน

ใช่ เมื่อลูกค้าติดอกติดใจ จะเกิดพลังบอกต่อกันแบบปากต่อปาก แต่แค่นั้นยังไม่พอ เชิงยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องเร่งต้องทำต่อมาคือ ทำอย่างไรให้เกิดกระแสความนิยม คลั่งไคล้ และฟีเวอร์

“คนไทยชอบมุง ชอบบ้าตามกระแส” โจทย์นี้เองที่ช่วงเปิดร้านขนมปังแบรนด์นี้มีการบอกกล่าวกันว่า ถึงขนาดมีการจ้างคน ทำทีเป็นลูกค้าให้มายืน ให้มามุง เพื่อรอซื้อขนมปัง

วิธีนี้ถือว่าเด็ดสุด ไฮไลต์สุด เพราะเป็นแรง เป็นพลังให้เกิดผลทางด้านจิตวิทยา แม้เจ้าของร้านจะไม่ยอมบอกถึงกลยุทธ์ วิธีที่แยบยลดังกล่าว แต่เชิงยุทธ์ได้ผลเร็ว และแรงยิ่งนัก

เมื่อเกิดกระแสความนิยมพรั่งพรู ขั้นต่อมาคือ การสร้างมูลค่าความต้องการของสินค้า โดยการกำหนดปริมาณการซื้อแบบ Limited ให้ลูกค้า 1 คน ซื้อขนมปังร็อตตี้บอยได้คนละไม่เกิน 15 ชิ้น …คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม สูตรการตลาดนี้ เชิงยุทธ์นี้ โดนใจ ออกดอกออกผลทางการตลาดยิ่งนัก

ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของร้านจะบอกว่า ขนมปังขายดีถึงวันละไม่ต่ำกว่า 2 -3 หมื่นชิ้น และพรเพ็ญกระซิบบอกว่า จะขยายสาขาไปอีกเร็วๆ นี้ ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว

Did you Knows?

รอตตี้ เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า ขนมอบ ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 2541 ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย แรกเริ่มใช้ชื่อว่า Bukit Mertajam ขายดิบขายดีจนเป็นที่รู้จักในเรื่องของรสชาติ จากนั้นปี 2545 เปลี่ยนชื่อมาเป็น Rotiboy เปิดสาขาแรกที่ Wisma Central, Jolan Ampang โดยขณะนี้มีนักธุรกิจทั้ง ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ซื้อแฟรนไชส์เข้ามาทำกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะเมืองไทย ขณะนี้มีเปิดอยู่สองสาขา คือ Rotiboy สาขาสยามสแควร์ ของพรเพ็ญ อังควานิช และ Rotiboy สาขาสีลม เป็นของนักธุรกิจไทยอีกคนหนึ่ง ซึ่งซื้อแฟรนไชส์เข้ามาเช่นกัน

www.rotiboy.com