วันนี้ Acer กลายเป็นคอมพิวเตอร์แบรนด์ระดับต้นๆ ที่ได้รับการยอมรับในตลาดคอนซูเมอร์ที่ให้ความสำคัญกับตลาดภาคการศึกษามาเป็นอันดับแรกๆ โดย Acer มุ่งตรงไปที่ตลาดภาคการศึกษา หลังเห็นโอกาสเติบโตตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้ไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือ e-Learning จึงเริ่มทำตลาดนี้อย่างจริงจังในปี 2547 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
เพื่อให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับ จึงต้องหันมาปรับกลยุทธ์ เน้นการสร้างแบรนด์ ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดตรงไปยังลูกค้าสถาบันการศึกษาเหล่านี้
ขณะเดียวกันก็ได้ดึง อลงกรณ์ ตุงคะบรรหาร ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในตลาดองค์กรธุรกิจและประมูลภาครัฐเข้ามาดูแลตลาดนี้โดยเฉพาะ เพื่อผลักดันด้านนโยบายควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมการตลาดที่มีสีสัน
“ผลวิจัยทางการตลาดประมาณ 3 ปีก่อน แบรนด์ Acer เป็นที่รู้จักดีในตลาดระดับมัธยมศึกษา และกลายเป็นแบรนด์คอมพิวเตอร์ระดับต้นๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ต้องการเลือกซื้อ แตกต่างจากตลาดระดับอุดมศึกษาที่อาจจะรู้จักแบรนด์ Acer แต่ไม่สนใจเลือกซื้อเท่าที่ควร” นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด บอกกับ POSITIONING
นั่นเป็นความท้าทายให้ Acer ต้องปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ให้ตรงใจกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ด้วยใช้ข้อความการตลาด ป้ายโฆษณา ตลาดจนพรีเซ็นเตอร์โฆษณาเป็นวัยรุ่น หรือนักศึกษาคนไทย หรือลูกครึ่งเอเชีย เพื่อสื่อโพสิชันนิ่งเป็นแบรนด์เอเชียและรู้สึกใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จากเดิมที่ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นคนยุโรป รวมทั้งปรับดีไซน์สินค้าให้ดูทันสมัย มีฟังก์ชันการใช้งานเหมาะกับนักศึกษามากขึ้น อาทิ มีพอร์ตเชื่อมต่อแบบไร้สาย (WiFi) เป็นต้น
“ตลาดนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีการเรียนรู้ คุ้นเคย และวิ่งตามเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพราะกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับตลาดนี้คือ Experience Marketing คือเปิดโอกาสให้เขาสามารถได้ทดลองใช้งานได้จริง เพื่อให้เขาได้เรียนรู้เทคโนโลยี มั่นใจในคุณภาพสินค้า และจดจำแบรนด์ได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้น Acer ต้องนำเสนอสินค้าที่จับต้องได้ และเข้าถึงกลุ่มนักศึกษา” นิธิพัทธ์อธิบาย
ดังนั้น Acer จึงใช้กลยุทธ์ Event Marketing จัดโรดโชว์เทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย 12 แห่งหมุนเวียนไปทั่วประเทศ ด้วยการออกบูธแสดงสินค้าคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เพื่อสาธิตการใช้งาน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาทดลองใช้ด้วยตัวเอง อาทิ การใช้งานโน้ตบุ๊กเชื่อมต่อแบบไร้สาย (WiFi) นิธิพัทธ์เชื่อว่ากลยุทธนี้จะสร้างความมั่นใจให้นักศึกษารู้จักตราสินค้า จดจำแบรนด์ และมีโอกาสตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ การทำตลาดในเชิงลึก เพื่อใช้กลยุทธ์รูปแบบต่างๆ บุกตลาดภาคการศึกษาอย่างจริงจังและมีสีสัน โดยเน้นกิจกรรมที่ให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ โครงการ Acer Smart Girl and Guy 2004 เพื่อประกวดหาหนุ่มสาวที่มีความสามารถด้านไอที เพื่อเป็นไอดอลในกลุ่มนักศึกษา และเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงแบรนด์ ภายใต้กลยุทธ์ Word of Mouth ไปสู่นักศึกษาคนอื่นๆ ในสถาบันได้
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแบรนด์ Acer ให้เกิดการยอมรับมากขึ้นในหมู่นักศึกษา และกลายเป็นแบรนด์ระดับต้นๆ หรือแบรนด์แรกที่ต้องการเลือกซื้อ ด้วยการพยายามสื่อให้รู้สึกถึงความ Fresh ของแบรนด์เช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษา และจะก้าวไปสู่วัยเริ่มต้นทำงานที่มีกำลังซื้อมากขึ้นในอนาคต
“วันนี้ตลาดภาคการศึกษาเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตสูง และเติบโตต่อเนื่องมา 2-3 ปี เนื่องจากสถาบันการศึกษา และนโยบายภาครัฐหันมาสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนแบบe-Learning เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษามีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ก่อนก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นิธิพัทธ์บอก
เส้นทางตลาดมหาวิทยาลัย
เวลา กิจกรรม
12 กรกฎาคม 2547 โครงการ AUC Phase I
8 พฤศจิกายน 2547 โครงการ AUC Phase II
25 เมษายน 2548 โครงการ e-University ขายโน้ตบุ๊กราคาพิเศษให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต
2 กันยายน 2548 โครงการ Acer-Imagimax Animation Exploration Contest 2005
13 มกราคม 2549 ประกาศผลผู้ชนะโครงการ Acer-imagimax Animation Exploration Contest 2005
14 มีนาคม 2549 Acer ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ และบริษัท อิเมจิแมกซ์ จำกัด จัดโครงการ “สร้างเกม สร้างคน สร้างงาน”
ที่มา : POSITIONING รวบรวม
ส่วนแบ่งรายได้ตลาดองค์กร ปี 2548 (มูลค่าประมาณ 40% ของรายได้ 7,000 ล้านบาท)
ภาครัฐ 33%
ภาคการศึกษา 31%***
ภาคองค์กรธุรกิจ 26%
ภาคธนาคาร 10%
***รายได้ปี 2549 คาดการณ์ไว้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 30% โดยตลาดภาคการศึกษาเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูงสุด ด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณ 30-40%
ที่มา : บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด
Tips: กลยุทธ์โดนใจวัยโจ๋
1. กลยุทธ์โฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านข้อความการตลาด ดีไซน์ และพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นภาษาวัยรุ่น อาทิ ใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นนักศึกษา หรือวัยรุ่นคนไทย เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันและยอมรับแบรนด์ Acer ได้ง่าย
2. Event Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้นักศึกษาทดลองใช้งานเทคโนโลยีจากประสบการณ์ตรง เพื่อสร้างการยอมรับในประสิทธิภาพสินค้า และช่วยให้กลุ่มเป้าหมายจดจำแบรนด์ได้เร็วขึ้น
3. Direct Marketing เป็นกลยุทธ์ที่นำเสนอไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาจำหน่ายโน้ตบุ๊กราคาพิเศษให้กับนักศึกษา เพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
4. Experience Marketing เป็นกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในรูปแบบของโครงการ “Acer Unwire The Campus”เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาซื้อโน้ตบุ๊กมาใช้เชื่อมต่อเทคโนโลยีไร้สายในสถาบันมากขึ้น
5. Contest Marketing หรือการจัดประกวด เป็นโครงการ “TK Park-Acer VR Game & PC Game Challenge 2006” เพื่อสร้างแบรนด์ให้ใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมาย และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Word of Mouth เป็นเพื่อให้นักศึกษาบอกต่อกัน และเป็นตัวแทนสื่อแบรนด์ Acer ไปยังกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน