“ศรัทธา”มาร์เก็ตติ้ง

เสื้อเหลือง เข็มกลัด ธงสัญลักษณ์ คือภาพความเคลื่อนไหวการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในช่วงก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2549 วันมหามงคล ฉลองครองราชย์ปีที่ 60 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุยเดช กระทั่งมาจนถึงปัจจุบัน เสื้อสีเหลืองยังคงเป็นที่ต้องการของคนไทย เพื่อใส่ถวายความจงรักภักดี

เป็นการซื้อหาด้วยความสุข

จากข้อมูลของสมาคมเครื่องนุ่งห่มแห่งประเทศไทย ระบุว่าเฉพาะวันที่ 9-13 มิถุนายน 2549 ห้วงเวลาที่มีการเฉลิมฉลอง นั้นปรากฏว่ามียอดขายเสื้อสีเหลืองจำนวน 8 ล้านตัว ซึ่งจำนวนนี้นับเฉพาะจากบริษัทห้างร้าน ที่จัดทำเสื้ออย่างถูกต้อง โดยมีการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์การครองราชย์ และคงนับไม่ถ้วนสำหรับเสื้อที่ผลิตโดยรายย่อย และวางขายตามท้องถนนทั่วไป

หลังจากงานเฉลิมฉลองแล้ว ปรากฏว่าภาพถ่ายงานวันมหามงคล โดยเฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง และราชินี เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ขณะนี้เป็นที่ต้องการของพสกนิกรไทย สำหรับไว้บูชา เพื่อสิริมงคลของชีวิตจำนวนมาก

สื่อหนังสือพิมพ์ จัดพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์จำนวน ด้วยยอดพุ่งเป็นนับล้านฉบับ บางคนไปจ่อคิวรอที่แผงหนังสือ บางแผงเก็บไว้ขายโก่งราคา จากนั้นนิตยสารต่างๆ ก็รวมภาพออกจำหน่าย ทั้งนิตยสารหัวใหญ่และหัวเล็ก ตามมาด้วยแผงตามฟุตบาท เริ่มอัดภาพขนาดต่างๆ จนเกิดกระแสกระดาษสำหรับอัดรูปทั่วไปขาดตลาด

นี่คือดัชนีความสุขของคนไทยที่พุ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องคึกคักขึ้น

ในนิยามการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเหล่านี้ “ภูสิต เพ็ญศิริ” ผู้บริหารนาโนเซิร์ซ บริษัทวิจัยทางการตลาด ขอเรียกว่าเป็นแนวทางการตลาดที่เรียกว่า “Holistic Marketing” หรือบางคนอาจเรียกว่า “ศรัทธา มาร์เก็ตติ้ง”

ทั้งนี้มีทฤษฎีมากมายที่บรรยายถึงทฤษฎีของ Holistic Marketing โดยเฉพาะแนวทางการทำตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่น และด้วยจิตวิญญาณของผู้ขายสินค้า รวมทั้งพันธมิตรร่วมผลักดันสินค้า แต่สำหรับที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้ คือความชัดเจนว่าคือการตลาดที่เกิดจากความต้องการของผู้ซื้อ เพราะแรงศรัทธา และเคารพรักต่อในหลวงของเรา จนอยู่เหนือทฤษฎีทางการตลาดทั้งปวง