ทีเด็ด “เนสท์เล่”

ใครที่ได้มีโอกาสขึ้นไปเยี่ยมชมชั้น 43 ของอาคาร ”ดิ ออฟฟิศ แอ็ท เซ็นทรัล เวิลด์” ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน บริษัทเนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด รับรองต้องเกิดอาการอยากกิน อยากดื่มแน่นอน

เพราะละลานตาไปหมด ทั้งตู้ไอศกรีม กล่องน้ำส้ม ชั้นจัดวางนมกล่อง นมกระป๋อง กาแฟ ครีมเทียมคอฟฟี่เมท และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งในห้องน้ำที่ตกแต่งด้วยสติกเกอร์แสดงผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ รอบกระจกเต็มผนัง หน้าอ้างล้างมือ

เป็นกลยุทธ์ง่ายๆ ในการสร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานใหม่ ที่ต้องการทำให้พนักงานของบริษัทได้ซึมซับ และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างลึกซึ้ง แน่นอนเป้าหมายสุดท้ายจะเป็นอย่างที่ ”เกรแฮม แคมพ์เบลล์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มเนสท์เล่ ประเทศไทย แถลงว่า ”เราจะต้องสร้างจิตสำนึกให้พนักงานของบริษัททุกคนต้องการทำงานอย่างมีประสิทธิมากที่สุด”

นอกจากการสร้างสัมผัสทางตา และการรับรู้แล้ว ในแง่ของโครงสร้างการบริหารยังมีการแบ่งหน่วยธุรกิจชัดเจน การเพิ่มหน่วยธุรกิจใหม่ ตามนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทวางตลาดเพิ่มขึ้น

เมื่อองค์กรพร้อม ผลิตภัณฑ์ที่ต้องต่อสู้กับคู่แข่งก็พร้อม

และ ณ เวลานี้ เนสท์เล่จึงมีความมั่นใจ โดยประกาศเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้ ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอันดับ 2 ของตลาด อย่างเนสท์เล่ ไอศกรีม ที่ทำตลาดในไทยมาแล้ว 9 ปี และมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 42%น้อยกว่า ”วอลล์” อยู่ไม่ถึง 2% จะต้องกลายเป็นเจ้าตลาด ด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ให้ได้ ด้วยความมั่นใจจากปีที่แล้วที่ยอดจำหน่ายเนสท์เล่ ไอศกรีม เติบโตถึง 30% ขณะที่ภาพรวมของบริษัทมียอดขายเติบโตรวมเพียง 8.4%

ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดที่นำมาใช้สำหรับทุกผลิตภัณฑ์ในเครือเนสท์เล่ในเวลานี้ คือ การพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งตัวสินค้าใหม่ และการออกแบบแพ็คเกจใหม่ หรือแม้กระทั่งลดขนาดแพ็คเกจให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน อย่างเช่นเมื่อต้นปี เริ่มเปิดตัวตราหมีโกลด์ ไอศกรีมเนสท์เล่ เอ็กซ์ตรีม หรือก่อนหน้านั้นได้เสนอผลิตภัณฑ์นมตราหมีบีบ

จุดแตกต่าง ที่”เกรแฮม แคมพ์เบลล์” ย้ำคือเนสท์เล่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และแม้ว่าเนทส์เล่จะมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ให้ทั้งความหวานและความมัน แต่ก็มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และใช่ว่าเนสท์เล่จะกลบข้อมูลเหล่านี้ แต่กลับแถลงให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพคนไทยที่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ดีพอ ไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น

เรียกได้ว่ากันอย่างตรงไปตรงมาที่สุด

วิกฤตนี้ทำให้เนสท์เล่มาตอกย้ำอีกครั้ง ใช้เป็นโอกาสแสดงจุดขายว่าเนสท์เล่มีสัญลักษณ์แห่งคุณภาพโภชนาการ (Nestle Nutritional Compass) ไม่ว่าจะเป็นเกร็ดความรู้ด้านโภชนาการ สารอาหาร วิธีการปรุงให้ได้รสอร่อยและหลากหลาย โดยจะทยอยปรากฏในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเนสท์เล่มากขึ้นเรื่อย ๆ

เรียกได้ว่าจริงใจซะอย่าง แล้วอย่างนี้ยอดขายจะหนีไปไหนได้…

สถิติปี 2548 “เนสท์เล่”
-มียอดขายในไทย 27,000 ล้านบาท
-ส่งออกจากไทย 8,000 ล้านบาท
-ยอดขายในลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม 3,000 ล้านบาท
-ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ 3 กลุ่มหลัก (จากทั้งหมด 12 กลุ่ม) คือ
1.กาแฟ และครีมเทียม
2.นมสำหรับเด็ก
3.นมน้ำบรรจุกระป๋อง