เมื่อ “มาราธอน”ไม่ได้ถูกวางให้เป็นแค่กีฬาเพียงอย่างเดียว เมื่อดูจากผู้แข่งขันทุกเพศทุกวัยทุกประเภทกว่า 2,000 คนทั้งมาราธอน 40 กม. ฮาพท์มาราธอน 20 กม. ฟัน รัน 10 กม. และคิดส์ รัน 1.2 กม. ในงานภูเก็ต อินเตอร์เนชั่นแนล มาราธอน 2006 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน ที่ผ่านมา
พวกเขาต่างมาเพื่อแสวงหาประสบการณ์จากการออกกำลังกายและการท่องเที่ยวที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวมากกว่าหวังเงินรางวัลเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับงานมาราธอนทั้งใหญ่น้อยที่จัดขึ้นในไทยหลายสิบงานต่อปี และมากกว่าพันรายการทั่วโลก
งานครั้งนี้จัดขึ้นด้วยธีม “Run Paradise” โดยทาง Go Adventure Asia ผู้จัดการแข่งขัน มุ่งหวังให้เป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น Marathon Destination ตามรอยฮ่องกง นิวยอร์ก เบอร์ลิน ลอนดอน และโฮโนลูลู รวมถึงการสร้างชื่อที่สดใสกลับคืนมาให้กับภูเก็ต โดยนี่เป็น 1 ของงาน Thailand Grand Invitation ของ ททท.
การวิ่งที่ยาวไกล สิ่งที่เสียไปคือแรงกายและเหงื่อไคลที่ไหลย้อย แต่วิวทิวทัศน์ที่สวยงามแปลกตาจากเส้นทางที่เปลี่ยนไปทุกวินาที คือมนต์เสน่ห์ที่ทำให้กีฬาชนิดนี้กลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ของคนจำนวนมากแทนที่จะเป็นการแข่งขันที่มุ่งหวังชิงชัยเพียงอย่างเดียว แม้ผู้เข้าแข่งขันต่างต้องเสียเงินค่าสมัครและค่าห้องพักที่โรงแรมในเครือลากูน่าเอง นอกเหนือจากตั๋วเครื่องบินที่พวกเขาต้องเดินทางมาภูเก็ต
ชุดกีฬาดีไซน์งามตาของนักวิ่งหลายคน รองเท้าวิ่งแบรนด์ดังทั้งไนกี้ อาดิดาส เอสิกส์ นิวบาลานส์ อันหลากสีสัน ทำให้งานวิ่งมาราธอนครั้งนี้ดูละลานตาไปด้วยแฟชั่น
สีสันของงานอยู่ที่ผู้เข้าแข่งขันที่มีทั้งนักวิ่งอาชีพ นั่งวิ่งสมัครเล่นจากชมรมต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ชมรมจากภาคเหนือ ชมรมนักวิ่งไต้หวัน ชมรมนักวิ่งญี่ปุ่น และอื่นๆ ที่มาร่วมรายการนี้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกผู้โคลนนิ่งแกะดอลลี่ นักร้องสาวแดนโสมจากวง Baby Vox อดีตนักวิ่งมาราธอนเหรียญทองโอลิมปิกปี 1984 จากญี่ปุ่น และนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย
สำหรับเส้นทางการวิ่งกว่า 40 กิโลเมตร เน้น Unseen Phuket ซึ่งเริ่มต้นจากลากูน่า ภูเก็ต ลัดเลาะผ่านบ้านเรือนของชาวบ้าน ตลาดสด รีสอร์ตหรู วัดวาอาราม ไต่ขึ้นไปตามไหล่เขา แวะยูเทิร์นที่หาดในยาง ก่อนจะวกกลับเส้นทางเดิม เป็นอีกงานหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภูเก็ต และทำให้การวิ่งมาราธอนได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทย
Did you know?
นักวิ่งมาราธอนและผู้จัดงานปัจจุบันนี้ขจัดความกังวลใจไปได้เลยเกี่ยวกับความแม่นยำของการบันทึกเวลา ณ จุดสตาร์ทและจุดเข้าเส้นชัย ด้วย “ชิป” ที่จะบันทึกข้อมูลของนักวิ่งแต่ละคนรวมถึงเซนเซอร์เวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดอีกทั้งเวลาระหว่างระยะทางกิโลเมตรต่างๆ โดยนักวิ่งแต่ละคนต้องติดชิปนี้ด้วยการพันไว้บริเวณข้อเท้าก่อนออกสตาร์ท