Life Management ใช้จ่ายอย่างไรในยุคน้ำมันแพง

ค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้น ขณะที่รายได้สำหรับทุกคนไม่ได้แปรผันตรงเสมอไป ทำให้หลายๆ คนต่างมีความกังวลใจในการดำเนินชีวิตของตนเอง เศรษฐกิจแกว่งไกวทำให้คนเราต้องหันกลับมาคิดและวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น หรือเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้กับตนเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น วิธีการแรกๆ ที่หลายคนคิดถึง คือ “การออมเงิน” แต่กระนั้นวิธีการออมเงินจะทำได้หรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือนนั้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตอยู่แล้ว แล้วจะนำเงินจากที่ไหนมาออมหรือเก็บหอมรอมริบได้ ดังนั้นเราทุกคนควรหันกลับมาให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ “การเงิน” ส่วนบุคคลของแต่ละคน

จากพฤติกรรมดังกล่าว บริษัท นาโนเซิร์ช จำกัด จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินรวมทั้งการบริหารจัดการรายบุคคล กับกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 200 ตัวอย่าง ทำการศึกษาเฉพาะผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วเท่านั้น (มีงานทำและมีรายได้เป็นของตนเอง) โดยแบ่งกลุ่มในการศึกษาเป็น 3 ช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 20-30 ปี อายุ 31-40 ปี และอายุมากกว่า 40 ปี จากผลการศึกษาพบว่า เป็นเพศชาย 54.0% และเพศหญิง 46.0% ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ ช่วงอายุ 31-40 ปี สำหรับรายได้ของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะอยู่ที่ช่วงรายได้ 15,000 บาท 10.0% และรายได้ 17,000 บาท คิดเป็น 10.0% ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมาคือ รายได้ 16,000 บาท และรายได้ 19,000 บาท ตามลำดับ โดยช่วงรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด 15,001-20,000 บาท 38.5% และมีสถานภาพสมรสมากที่สุด 54.0% รองลงมาคือ สถานภาพโสด 43.5% สำหรับจำนวนสมาชิกในครอบครัว 6 คน และ 4 คน ตามลำดับ

สารพัดรายจ่ายภาคบังคับ

จากผลการศึกษาพบว่า ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายที่ตนเองต้องจ่ายทุกเดือน (ไม่จ่ายไม่ได้) อยู่แล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร รองลงมาคือเป็นค่าเดินทาง เช่น ค่าน้ำมัน ค่ารถโดยสาร และค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นอันดับแรกๆ ในการดำรงชีวิต

จ่ายเพิ่มเสริมความชิล

เป็นรายจ่ายที่เรียกได้ว่าไม่มีความจำเป็น แต่หากมองให้ดีแล้วรายจ่ายในขอบข่ายนี้ ช่วยบำรุงบำเรอสภาพจิตใจที่ตึงเครียดทางเศรษฐกิจได้ไม่มากก็น้อย โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง 20.2% เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 19.4% ค่าสื่อสิ่งพิมพ์ 15.2% และค่าท่องเที่ยว 14.7%

ชีวิตเรา เราลิขิต

การรับรู้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่อเดือน
– ไม่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ 26%
– รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ 74%

บัตรเครดิต…ทางเลือกที่ต้องไตร่ตรอง

จากพฤติกรรมการมีบัตรเครดิตของกลุ่มตัวอย่างพบว่า โดยส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ และในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี มีสัดส่วนของการถือบัตรมากกว่า 1 ใบ มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดสำหรับบัตรเครดิตที่ถือมากกว่า 1 ใบนั้น จะถือ 2 ใบและ 3 ใบ ตามลำดับ ซึ่งบัตรเครดิตของ CITY BANK มีการถือมากที่สุด รองลงมาคือบัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ตามลำดับ

พฤติกรรมการชำระเงินคืนในการจ่ายค่าบัตรเครดิตของกลุ่มตัวอย่าง โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมใน 3 ช่วงอายุ พบว่า ในช่วงอายุ 22-30 ปี นิยมจ่ายชำระเงินประมาณ 10 % ของยอดค่าใช้จ่ายของบัตรเครดิตทั้งหมด แต่สำหรับกลุ่มอายุ 31-40 ปี และอายุมากกว่า 40 ปี นิยมชำระเงินเต็มจำนวนหรือยอดค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระทั้งหมด

ผลกระทบที่ได้รับ %
– รายรับไม่พอกับรายจ่าย 25.9
– ค่าครองชีพสูง 16.1
– น้ำมันแพงมากเกินรับไหว 15.2
– มีรายจ่ายมากขึ้นต่อเดือน 9.8
– งานไม่มั่นคง 6.3
– ค่ารถโดยสารราคาแพง 5.4
– เป็นหนี้มากขึ้น 5.4
– ไม่มีเงินออมเลย 3.6
– หางานยาก 2.7
– ธุรกิจของครอบครัวมีการชะลอตัว 1.8
– รายได้น้อยเกินไป 1.8
– ธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้เท่าที่ควร 1.8