ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้อีกครั้ง เมื่อพรรคน้องใหม่ “พรรคประชาราช” ประกาศเปิดตัวเป็น “ทางเลือกใหม่”ของการเมืองไทย
นายเสนาะ เทียนทอง หรือ “ป๋าเหนาะ” ที่เรารู้จัก แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น พร้อมสมาชิกคนสำคัญประกาศเปิดตัวพรรคใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา บนอาคารทีพีไอ ทำเลใจกลางเมือง ย่านถนนนราธิวาสนครินทร์
พร้อมด้วย 2 แกนนำหลัก นายประมวล รุจนเสรี รองหัวหน้าพรรค และนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ รั้งตำแหน่งใหญ่ “เลขาธิการพรรค” ท่ามกลางความสนใจของสื่อนับร้อยทั้งในและต่างประเทศ
กล่าวกันว่า ความใฝ่ฝันของหัวหน้าพรรคประชาราช คือ ขอเป็น”ส่วนร่วม” ในการผลักดันการปฏิรูปการเมืองไปสู่มิติใหม่ ภายใต้เป้าหมาย “การเมืองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”
“แม้เราจะเป็นพรรคใหม่และเป็นพรรคเล็ก แต่จุดขายของเรามีความชัดเจน เพราะประสบการณ์ทางการเมืองของคนในพรรคประชาราชไม่ใช่เด็กๆ หรือเด็กวานซืน หรือเด็กเพิ่งเกิด เราเชี่ยวกรำพอสมควร “เสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรค กล่าวกับ POSITIONING
“ผมต้องการพัฒนาการเมืองให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ สามารถสร้างความสุข และสร้างประโยชน์ให้คนในชาติสัมผัสได้แบบจริงๆ ผมอายุ 72 ปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ถึงวันนี้ผมอยากสร้างแรงบันดาลใจอีกครั้ง อยากทำให้ประเทศและทำให้คนไทยรู้สึกดีขึ้น”
จุดยืนของพรรคคือการใช้ความจริงใจ ประสบการณ์ ความซื่อสัตย์ มาแก้วิกฤตบ้านเมือง ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใดเราก็พร้อมเต็มที่…
แนวคิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมนั้น พรรคประชาราชประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่แรกแล้วว่าจะดำเนินไปด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของพรรค
นอกเหนือจากการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างจริงจัง จัดระบบน้ำแก่ภาคการเกษตรให้มีความพอเพียง ขยายคลองเป็น ”แก้มลิง” เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม พร้อมปรับปรุงแหล่งน้ำให้กลับมามีสภาพที่ดี
ที่สำคัญพรรคประชาราชจะเปลี่ยน ”ระบบกองทุนหมู่บ้าน” มาเป็น ”ระบบสหกรณ์” เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้ตรงจุด
นายเสนาะ มองว่า ในหลักการของเศรษฐกิจที่เรากำลังต่อสู้กับสังคมโลก บางครั้งเราอาจละเลยความเป็น ”จุดแข็ง” ของประเทศไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งเป็นหัวใจ เมื่อประชากรมีมากขึ้น ธรรมชาติกลับค่อยๆ หายไป การสูญเสียของผลผลิตต่อไร่ก็ลดลง จากจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน
“นี่ล่ะที่ผมจะบอกว่า พรรคประชาราชจะนำจุดแข็งในอดีตกลับคืนมา จะเร่งพัฒนาและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเป็นระบบและรูปธรรมให้เร็วที่สุด นโยบายของเราในเมื่อมีแหล่งน้ำแล้ว เราก็จะมีร้านค้าสหกรณ์” นายเสนาะ กล่าว
สมมติ นาย ก.เคยทำนา 20 ไร่ 30 ไร่ แต่ไม่มีน้ำ ได้บ้างไม่ได้บ้าง และไม่มีหลักที่จะการันตีด้วย ถ้าหากเรามีน้ำ มีหัวใจ มีทรัพยากร และช่วยส่งเสริมพวกเขา จากที่นา 30 ไร่เคยได้ 400 ถัง ต่อไปถ้ามีน้ำพวกเขาอาจทำได้ถึง 2,000 ถัง
แล้ว ”สหกรณ์” ที่กล่าวถึงก็ไม่ได้แข่งกับใคร แต่เป็นสหกรณ์เกี่ยวกับปัจจัยการผลิต ปัจจัยยังชีพ ผลผลิตออกมาปั๊บ เราก็สามารถทำในรูปสหกรณ์เลย ไปจำนำกับรัฐบาล สหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตแล้วต่อรองกับรัฐบาล นี่คือในระบบที่พรรคประชาราชต้องการจะสร้างขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
“คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ความจริงแล้วคนโบร่ำโบราณเขาทำมา ในหลวงท่านก็มีพระราชดำริเป็นแนวทางคือให้ทำของเก่าให้ดีขึ้น ฉะนั้นเราต้องแปรจุดอ่อนให้กลับมาเป็นจุดแข็งใหม่” หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวและตบท้ายแบบสัจธรรมของนักการเมืองรุ่นเก๋าว่า
“อย่างป๋า ถ้ามีใครมาถามว่า จุดขายมีอะไรในการเล่นการเมือง ถึงเวลานั้นป๋าไม่ต้องอธิบายแล้ว ตัวป๋าเองคือคำตอบ”
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์เลขาธิการพรรค กับแรงบันดาลใจครั้งใหม่
จาก “นักธุรกิจแสนล้าน” มาวันนี้ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” กำลังถูกทดสอบจากความท้าทายครั้งใหม่ในสนามการเมือง
“ประชัย” ยังคงบุคลิกชัดเจนในความเชื่อมั่นและกล่าวถึง ”เส้นทางเดิน” บนถนนการเมืองว่า “น่าจะสนุกและเป็นประโยชน์”
พูดถึง ”จุดขาย” ทางการเมือง ในเชิงการตลาดแล้ว เลขาธิการพรรคประชาราช บอกว่า ในความเหมือนย่อมมีความต่าง พรรคประชาราชมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งยึดมั่นในความชอบธรรม คุณธรรม และมีจิตสำนึกต่อสังคม
โดยยึดหลัก ”เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นที่ตั้ง
“ผมจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง บนสัมมาทิฐิ คือทิฐิที่ดี ไม่ใช่มิจฉาทิฐิ ถ้าเราตั้งอยู่ในหลักการนี้แล้ว ทุกอย่างแก้ปัญหาได้” ประชัย เชื่อเช่นนั้น
ที่สำคัญเขามองว่า การเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาไม่ได้เป็นเรื่องยาก หากมีการคุ้มครองในสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ดีอย่างเต็มที่ ทุกอย่างก็จะปกติสุข
“ถ้าเราให้ความมั่นใจในเรื่องตลาดเสรี เราต้องชัดเจนในเรื่องของภาษี เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีนิติบุคคล ซึ่งของประเทศไทย ผมมองว่าสูงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์เสีย 22% แต่ประเทศไทยเก็บ 30% จุดนี้ในนโยบายผมเห็นว่า เราต้องลดภาษีลงมาให้เหลือ 20-22% ให้เท่าสิงคโปร์ หรือดีกว่านิดหน่อย นักลงทุนไทยก็ไม่ต้องไปลงทุนสิงคโปร์ “ ประชัย ย้ำเป็นรูปธรรม
“ประชัย” ยังมองไกลในเรื่องนโยบายด้านการเงินอีกว่า พรรคประชาราชมีแนวคิดจะลด ”ดอกเบี้ย” เพราะ ณ วันนี้ ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ 5% สูงเกินไป เมื่อมีการบอกเหตุผลว่า ต้องนำส่วนต่างที่ว่าไปช่วยปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)
พรรคประชาราชจึงมองว่า ถ้าจัดการ NPL ให้ออกจากระบบให้หมด แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงก็มีอยู่สูงการลงทุนใหม่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมหาศาล ระบบเศรษฐกิจไทยจะหมุนได้ทันที นี่เป็นหลักสำคัญที่สุด
หากมองภาพด้านสังคม นายประชัย เชื่อว่า การศึกษาคือของขวัญที่มีค่ามากที่สุดของมนุษยชาติ เขาจึงมุ่งมั่นจะให้การศึกษาฟรีตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ทุก ๆ ชีวิตในสังคมไทยจะได้เรียนฟรี รักษาโรคฟรี ที่เคยเสีย 30 บาทรักษาทุกโรคก็ไม่ต้องเสียอีกแล้ว เป็นกึ่งรัฐสวัสดิการ
“สวัสดิการของเราคือส่งเสริมให้คนทำงาน เพิ่มรายได้ ถ้าประชาชนเดือดร้อน เราก็ช่วยให้คุณหาเงินเข้ามา มีวิธีให้รายรับสูงกว่ารายจ่าย เพื่อทุกคนจะได้มีเงินออม”
เราตั้งนโยบายว่า รายรับของประชาชนอย่างน้อยๆ ต้องได้ 1.6 แสนบาทต่อคนต่อปี แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นไป
กับประสบการณ์ทางภาคอุตสาหกรรมนั้น นายประชัยมีแนวคิดจะ “ส่งเสริม” ให้เกิดการลงทุนรอบด้าน ภายใต้หลักคิดที่ว่า “ยิ่งผลิตมาก เงินเฟ้อยิ่งลดลง”
เมื่อคนมีรายรับสูงขึ้น กำลังซื้อก็มีมากขึ้น การผลิตก็ผลิตมากขึ้น ต้นทุนก็ลดลง จุดนั้นประชาชนจะได้บริโภค ”ของดีราคาถูก”
อย่างไรก็ตาม ”ประชัย” คิดถึงการบริหารต้นทุนว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีวิธีลดต้นทุนได้ 2-3 วิธี อาทิ ลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง พยายามนำแก๊สธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุด และส่งเสริมให้ทำปั๊มเอ็นจีวี เพราะแก๊สธรรมชาติลิตรละ 8.50 บาท แต่น้ำมันเบนซินลิตรละ 30 บาท ถ้าลดต้นทุนเหล่านี้ได้ อุตสาหกรรมจะผลิตได้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น
พลังงานทดแทน “แสงอาทิตย์” โซลาเซล เป็นอีกหนึ่งในนโยบายที่พรรคประชาราชไม่มองข้าม และตั้งใจจะพัฒนาอัพสตรีมขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ แม้ต้นทุนโซลาเซลจะแพงมาก แต่ถ้ามีการช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนา เชื่อว่า สักวันหนึ่งฝันจะเป็นจริง!
สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะอยู่ได้ ภายใต้ ”เศรษฐกิจพอเพียง” ท่ามกลางกระแสทุนนิยม เพราะ…
“เศรษฐกิจพอเพียง ในภาษาพระคือมัชฌิมาปฏิปทา แต่ถ้าภาษาอังกฤษคือ Optimization ไม่ใช่ Minimization ในความหมายของเราก็คือต้องมีจริยธรรม มีศีลธรรม เป็นมาตรฐาน และหลังจากนั้นก็ทำกำไรสูงสุด สูงสุดขนาดที่ไม่ขัดต่อจริยธรรม ต่อศีลธรรม นี่คือ Optimization บนความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง”
“เป็นทางสายกลาง คือสูงสุดในสภาวะที่เป็นไปได้ คือไม่โลภ ถ้าโลภก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว” ประชัย เปรียบเทียบทิ้งท้าย
ในฐานะพรรคใหม่ของเวทีการเมืองไทย “จุดขาย” ด้านนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่โลภจึงเกิดขึ้น ณ จุดนี้
เจตนารมณ์ 7 ประการ ตอบโจทย์ ”คุณธรรม-ธรรมชาติ”
แกนนำหลัก ”พรรคประชาราช” ประกาศเจตนารมณ์อันสำคัญยิ่งต่อแนวทางการบริหารประเทศ ภายใต้ความสงบสุขและร่มเย็น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่
เจตนารมณ์ที่ 1 ยึดมั่นการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เริ่มต้น เพื่อตอกย้ำ ”ระบบคุณธรรม” อันเป็นคุณลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องรักษาไว้ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้ชะตาอนาคตของคนในชาติ เพื่อเน้นย้ำระบบที่มี ”พระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งเป็นหัวใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เจตนารมณ์ที่ 2 นำธรรมชาติกลับสู่คน
พรรคประชาราชตระหนักถึงภัยร้ายที่บั่นทอนความเป็นปกติสุขของมนุษย์ชาติ อันเกิดจากการทำลายธรรมชาติของมนุษญ์ ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานที่พรรคจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็น ”รูปธรรม” อย่างเร่งด่วน
เจตนารมณ์ที่ 3 ส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
พรรคมุ่งมั่นและตระหนักถึงการสร้างผลผลิตทางการศึกษาของชาติที่มีคุณภาพ กล่าวคือ เป็นบุคลากรที่สามารถใช้สติปัญญาและคุณธรรม เพื่อความอยู่รอดในสังคมอย่างมีความสุข โดยจะใช้แนวทางผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาไทยและองค์ความรู้ที่คนรุ่นก่อนสร้างสมไว้ ผนวกกับองค์ความรู้ที่ดูเหมาะสมจากประเทศตะวันตก ภายใต้ระบบการจัดการที่เข้ากันได้กับบริบทความเป็นไทย และเน้นปลูกฝังคุณธรรมแก่ผู้รับการศึกษามากกว่าการสัมฤทธิผลที่ไร้คุณธรรม
เจตนารมณ์ที่ 4 การให้บริการภาครัฐที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ และเป็นธรรม
พรรคจะปฏิรูปการให้บริการภาครัฐ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการ คนในระบบราชการต้องได้รับความโปร่งใสเป็นธรรมและดำรงอยู่ได้จริงในสังคม ด้วยผลตอบแทนเต็มความสามารถ
เจตนารมณ์ที่ 5 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของชาติ
ปัจจัยสำคัญของความล้มเหลวในนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐคือ ความไม่เข้าใจของผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งมีทัศนะในฐานะเป็นข้าราชการ เป็นผู้คุมกฎ การปฏิบัติจึงต้องเผชิญกับปัญหากฎเกณฑ์ที่เราต่างกำหนดกันเอง และกฎเกณฑ์ภายนอกที่ผู้อื่นหรือผู้อยู่ในสนามการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนด ส่งผลให้เกิดความไม่ไหลลื่นในภาคปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ กฎเกณฑ์ที่ว่าต้องกำหนดร่วมกับระหว่าง ”ผู้คุมกฎ” และ “ผู้ปฏิบัติตามกฎ” เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของธุรกิจและผลประโยชน์ของชาติ
เจตนารมณ์ที่ 6 จริงใจในการแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
ไม่ว่าจะเป็นในวงราชการ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่อง จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ พร้อมบทลงโทษหนักหน่วงและรุนแรงเทียบเท่าการประกอบอาชญากรรมร้ายแรง เนื่องจากสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ มาตรการลงโทษนอกจากทางอาญาแล้ว ยังต้องเน้นมาตรการทางสังคม และมาตรการการยึดทรัพย์จากผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง
เจตนารมณ์ที่ 7 สนับสนุนอย่างแรงกล้าในการปฏิรูปการเมือง
เมื่อสถานการณ์ชาติเปลี่ยนไป ความสามารถในการหาช่องว่างเพื่อสร้างข้อได้เปรียบและตอบสนองประโยชน์เฉพาะกลุ่มมีมากขึ้น พรรคเห็นว่าถึงเวลาต้องทบทวนจัดระบบความคิดทางการเมืองใหม่ เพื่อสร้างกติกาที่เข้มแข็งให้การเมืองเป็นการเมืองของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประการสำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุดนั่นเอง