Pre-Production ”ทักษิณ”

ถ้าจะเปรียบ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นสินค้าใหม่ ช่วงก่อนการลงสู่สนามการเมือง เปรียบได้กับสินค้าที่มีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี และรู้จักการนำเครื่องมือการตลาดมาใช้อย่างเต็ม และทำอย่างครบวงจร

ปี 2537-2544

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งกลายเป็นอดีตของประเทศไทย ในด้านความเป็นนักธุรกิจ เจ้าของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายกรัฐมนตรี “เขา” อยู่บนเส้นทางชีวิต ทั้งในรูปแบบที่เคยตกต่ำสุดบนสายธุรกิจ แต่วันหนึ่งไต่ขึ้นสูงสุดด้วยมูลค่าเงินลงทุนนับแสนล้านบาท ทำกำไรปีหนึ่งนับหมื่นล้าน และตอนจบของธุรกิจ คือรับรายได้จากการขายหุ้นให้ต่างชาติ “เทมาเส็ก” กองทุนจากสิงคโปร์ จำนวน 73,000 ล้านบาท

ความสุขบนกองเงิน ต่อด้วย “เกียรติยศ” คือลำดับต่อมา “ทักษิณ” ขยับตัวเองจากเบื้องหลังพรรคการเมืองต่างๆ มาเป็นผู้อยู่เบื้องหน้า กระทั่งตั้งพรรคการเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากกลยุทธ์ Politcal Marketing ที่ไม่เคยมีใครใช้ อยู่จนครบเทอม 4 ปี มีโอกาสลงสนามเลือกตั้งใหม่ ได้คะแนนเสียงมากกว่าเดิม ฮึกเหิมจนมั่นใจว่าอาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย หรือ 12 ปี

แต่จุดต่ำสุดบนเส้นทางการเมืองมาเร็วกว่าที่คิด เมื่อกระแสต้าน ร้องตะโกน ”ท้าก…ษิณ ออกไป” ดังขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความขัดแย้งของคนในสังคม ที่สุดจุดอวสานก็มาถึง เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ยึดอำนาจจากรัฐบาล ”ทักษิณ” เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ ”ทักษิณ” ออนทัวร์ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

“เทกโอเวอร์” เส้นทางลัด – “CEO” จุดขายใหม่

หากจะเรียก ”ทักษิณ” ว่าเป็นนักการเมือง ก็ถือว่าเป็นนักการเมืองที่เป็นดาวรุ่ง ไต่เต้าจนเติบโตถึงจุดสูงสุดในเส้นทางอาชีพนี้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเพียง 7 ปี เขาได้เป็น ”นายกรัฐมนตรี” คนที่ 22 ของประเทศไทย

กลยุทธ์การจัดการของ ”ทักษิณ” ที่เห็นชัดคือ การเดินทางลัด เทกโอเวอร์พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มจากพรรคพลังธรรม ของ ”มหาจำลอง ศรีเมือง” ในปี 2538 ท่ามกลางกระแสความนิยม ”มหาจำลอง” ตกต่ำสุด เหลือส.ส.เพียง 1 เดียวในสภาผู้แทนราษฎร

สูตรนี้ไม่ต่างอะไรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทุนหนา เข้าเทกฯกิจการของบริษัทที่กำลังขาดทุนอย่างหนัก เมื่อเทกฯมาแล้ว “ทักษิณ” ได้ใช้กระบวนการ “รีแบรนด์” พรรคพลังธรรมจากภาพของพรรคการเมือง ”สมถะ” กลายเป็นพรรค ”ทุนนิยม” และ “ไฮเทค” ได้อย่างฉับพลัน

ตั้งแต่การแต่งกายของหัวหน้าพรรคและลูกพรรค ที่ใส่สูท ผูกไท สากลนิยม แทนการใส่เสื้อม่อฮ่อม ผมเกรียน จนถึงวิธีการสื่อสารที่ใช้สื่อที่มีอยู่อย่างเป็นประโยชน์ และทันสมัยด้วยเทคโนโลยี จากพลังธรรมเดิมที่ใช้วัสดุไม่ไผ่ทำป้ายหาเสียง

“ทักษิณ” ฝึกงานในแวดวงการเมืองก่อนที่จะเทกฯพรรคพลังธรรม ด้วยการนั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2537 ในโควต้าของพรรคพลังธรรมนั่นเอง และปีต่อมาที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ก็นั่งเก้าอี้ รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ปี 2539

สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ “ทักษิณ” ก็นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีต่อ ล่วงเลยจนกระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ประเทศไทยเข้าสู่นโยบายลอยตัวค่าเงินบาท แต่กลุ่มชินคอร์ปนับเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าเงินบาทลอยตัว ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าเขาคือ Insider ที่ช่วยชินวัตรไม่ต้องขาดทุนจากค่าเงินบาท

เมื่อ ”บิ๊กจิ๋ว” ต้องเผชิญกับมรสุมวิกฤตเศรษฐกิจจนต้องลาออก ขณะที่ ”พรรคพลังธรรม” ยากที่จะกู้ภาพกลับคืนประกอบกับ ”สายวัด” ในพรรคไม่ต้องการเดินตามเส้นทางของนายทุนใหม่ของพรรค “ทักษิณ” ในช่วงอายุย่างเข้า 49 ปี จึงจดทะเบียนก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541

ตลอดปี 2541-2543 ช่วงที่รัฐบาลชวน หลีกภัย บริหารประเทศด้วยภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ คือช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับพรรคใหม่อย่างไทยรักไทยในการเช็กเรตติ้งของพรรค และการเตรียมพร้อมจำนวนที่นั่งส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ”มหกรรมการดูด” จนกลายเป็น ”ตัวดูด” ดึงส.ส.จากพรรคต่างๆ

เริ่มตั้งแต่ส.ส.กลุ่มวังน้ำเย็นประมาณ 40 คน นำโดย ”เสนาะ เทียนทอง” จากพรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค กระทั่งต้องยุบพรรคความหวังใหม่ในที่สุด ส.ส.พรรคกิจสังคม 6 คน นำโดยกลุ่มของสุวิทย์ คุณกิตติ พรรคชาติพัฒนา ประมาณ 10 คน และจากประชาธิปัตย์ประมาณ 2 คน รวมไปถึงพรรคเสรีธรรม ที่มี ”พินิจ จารุสมบัติ” เป็นแกนนำ ด้วยข่าวสะพัดว่าส.ส.ที่มาสังกัดพรรคไทยรักไทย ได้เงินเดือนเฉลี่ยคนละ 150,000 บาท

ในช่วงเวลานี้ความเป็นคนปากไวของ ”ทักษิณ” ยังคงติดตัวมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็น CEO กลุ่มบริษัทชินวัตร ที่เมื่อต้องการแสดงความเห็น ก็โต้ตอบทันที ด้วยท่าทีที่รุนแรงในบางครั้ง เพราะสไตล์การบริหารพรรคที่ชัดเจนในแบบ CEO เป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นสินค้าใหม่ในตลาดการเมือง เมื่อผสานกับแรงหนุนที่ได้จาก ”จำลอง ศรีเมือง” และคอลัมนิสต์หลายคน ที่ออกอาการนิยมชมชอบในตัว ”ทักษิณ” ไม่น้อย ก็ทำให้เส้นทางของ ”ทักษิณ” ในถนนการเมืองค่อนข้างราบรื่น

พึ่งพลัง ”สื่อ”

เมื่อเข้าใจ และรู้จักนำกลไกลการตลาดมาใช้ในทางการเมืองแล้ว ทักษิณย่อมเข้าใจพลังของ “สื่อมวลชน” ว่ามีผลต่อการสร้างภาพลักษณ์เพียงใด

ในช่วงเมษายน 2542 นี้เอง นักอ่านหนังสือส่วนใหญ่ได้รู้จักกับ ”ทักษิณ” มากขึ้น ด้วยพ็อกเกตบุ๊กที่ขายดีที่สุดในช่วงนั้น คือ ”ตาดูดาว เท้าติดดิน” โดยผู้เขียน”วัลยา” จากสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งได้รับอนุญาตจาก ”ทักษิณ” ให้ถ่ายทอดอัตชีวประวัติของตัวเองอย่างละเอียด

ความดังของทักษิณ ทำเอา “อัศวิน คลื่นลูกที่สาม” เขียนโดย สกล อดุลยานนท์ พ็อกเกตบุ๊กอีกเล่มที่ค่ายมติชนพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้ ขายดิบขายดีตามไปด้วย

ทุกคนจึงได้รู้จัก ”ทักษิณ” มากขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ชีวิตการเป็นตำรวจ และความสำเร็จในชีวิตด้านธุรกิจ หลายคนยึดถือ ”ทักษิณ” เป็น Role Model

ไม่เพียงหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับที่ ”ทักษิณ” ได้เป็นพันธมิตร แต่กลางปี 2543 “ทักษิณ” ยังได้ส่งกลุ่มชินวัตรเข้าเทกโอเวอร์สถานีโทรทัศน์ไอทีวีอีกด้วย

นับเป็นแนวการสื่อสารที่ใช้ช่องทาง Above the line อย่างได้ผล โดยทำควบคู่ไปกับช่องทาง Below the line ลงพื้นที่หาเสียงอย่างต่อเนื่อง

“การตลาด” แก้วิกฤต-นำชัยชนะ

ไม่เพียงระบบบริหารจัดการเท่านั้น กลยุทธ์สำคัญที่จุดพลุให้ ”ทักษิณ” ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองได้ คือ การนำวิธีการทางการตลาดมาใช้กับการเมือง หลายคนเรียกว่า Political Marketing

สิ่งที่ทักษิณทำ คือ การสร้างภาพลักษณ์ วิธีการนำเสนอ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อนโยบายของพรรคออกสู่สาธารณชน และถือเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ที่ใช้บริการจากบริษัทเอสซี แมทช์บอกซ์ บริษัทเอเยนซี่ในเครือชินคอร์ปอเรชั่นอย่างเปิดเผย

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เป็นแค่ความเพ้อฝัน แต่ก็มีหลายนโยบายเป็นที่ยอมรับ สามารถสร้างความฮือฮาได้ชนิดที่ว่าทำให้คนไทยทั้งประเทศเต็มไปด้วยความหวัง

ตัวของ “ทักษิณ” คือพรีเซ็นเตอร์ของพรรคที่เต็มไปด้วยความสามารถในการนำเสนอ “ความใหม่” คือสิ่งเร้าใจผู้ชมให้หันมาสนใจสินค้า
ทีมงานของทักษิณ ให้เป็นการฉีกรูปแบบการนำเสนอแบบเดิมๆ ทิ้ง หันมาเน้นย้ำความเป็นผู้นำ ที่ดูทันสมัย ไม่ต่างไปจากการสร้าง Brand ของสินค้า ที่ต้องใส่ใจในรายละเอียด เพื่อให้การสะท้อน Brand ไปในทางเดียวกัน

แม้กระทั่งฉากหลังที่ใช้ในการแถลงข่าวที่เคยเป็นผนังสีขาว ก็มีนำรูปผู้นำพรรคขนาดใหญ่ เป็น Backdrop โดยภาพที่นำมาใช้ ก็มีทั้ง Compose ของภาพ แสง เงา ที่ถูกจัดมาเป็นอย่างดี ในทุกครั้งที่มีแถลงข่าวจึงมีองค์ประกอบสวยงามเพียงพอในการเผยแพร่ ที่สำคัญการได้เน้นย้ำภาพของหัวหน้าพรรคตลอดเวลา

“พรีเซ็นเตอร์” ต้องมี Value โอกาสนี้จึงเต็มที่กับภาพความสำเร็จในธุรกิจ รวมถึงในครอบครัว

“ทักษิณ” ย้ำความสมบูรณ์แบบของตัวเองว่าเป็นผู้นำครอบครัว เป็นสามีที่ให้เกียรติและซื่อสัตย์ต่อภรรยา ด้วยทุกครั้งที่มีโอกาสในการเอ่ยถึง ”พจมาน ชินวัตร” และการให้ความอบอุ่นต่อลูกทั้ง 3 คน ตรงกันข้ามกับ ”ชวน หลีกภัย” คู่แข่งโดยตรงทางการเมืองในเวลานั้น

สโลแกนชัดเจน

“สโลแกน” และ“Copywirte” โดนๆ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้คนสนใจ”ทักษิณ” นอกเหนือจากความชัดเจนในนโยบายต่างๆ ที่ประกาศออกมา ที่ชัดเจนทั้งวิธีการ และกำหนดเงื่อนเวลา

ครั้งแรกที่ ”ทักษิณ” ประกาศนโยบาย บันทึกไว้เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2543 ก่อนการเลือกตั้งประมาณ 1 ปี ถ้อยคำจาก “ทักษิณ” คือการสื่อสารอย่างโดนใจที่ขัดเกลามาแล้วอย่างดี เช่น “ให้สัญญา ว่าไทยจะรวยใน 4 ปี” และตอกย้ำความเป็นไฮเทค ที่เป็นฐานธุรกิจเดิมของ ”ทักษิณ” คือ ”การนำ 7 หมื่นตำบลเข้าสู่อินเทอร์เน็ต” ตอกย้ำการลงสู่มวลชน ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ที่สุดของประเทศด้วย ”นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย”

ตามมาด้วยการออกนโยบายของพรรคตามสโลแกน ”คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน” ตั้งแต่นโยบายเพื่อคนจน “30 บาทรักษาทุกโรค” และ “กองทุนหมู่บ้าน”

ไม่เพียง ”รากหญ้า” ที่พึงพอใจกับ ”คิดใหม่ ทำใหม่” เท่านั้น แม้แต่กลุ่มทุน ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็พอใจกับทีมเศรษฐกิจที่ ”ทักษิณ” ดึงมาร่วมงาน เพราะคุณสมบัติของว่าที่รัฐมนตรีทั้งหลาย คือผู้สำเร็จในธุรกิจทั้งสิ้น หรือไม่ก็คือผู้ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ นำทีมโดย ”สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” นักวางกลยุทธ์ที่วงการธุรกิจยอมรับ

เป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับพลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยังคงย่ำอยู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยความ โดยเฉพาะจาก ”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“บกพร่องโดยสุจริต”

“ทักษิณ” เตรียมพร้อมเต็มที่ให้คุณสมบัติพร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี 4 กันยายน 2543 “ทักษิณ” และ”พจมาน” จึงโอนหุ้นที่ถืออยุ่ในบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด และในเครือทั้งหมดให้แก่บุตรชาย “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร และ “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” น้องชายคุณหญิงพจมาน

แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน “แม้ว” ต้องเผชิญกับปัญหาแรก ที่อาจเป็นอุปสรรคขวางทางการนั่งเก้าอี้ ”นายกรัฐมนตรี” ในคดี ”ซุกหุ้น” ที่เริ่มเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2543 โดยว่าที่ ร.ต.ท.เสงี่ยม บุษบาบาน เลขาธิการ สถาบันศึกษาทางสังคมวิทยาการเมืองและกฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ “ทักษิณ” ”ต่อ “กล้านรงค์ จันทิก” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า “พ.ต.ท.ทักษิณเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายครั้ง และได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างน้อย 6 ครั้ง ซึ่งอาจมีผลเป็นการแสดงเจตนา ลวงและนิติกรรมอำพราง ในการโอนหุ้นต่างๆ ให้แก่แม่บ้าน คนใช้ คนขับรถ ทั้งยังมีการถือหุ้นผ่านบริษัทสิงคโปร์ บริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิน ดินแดนแห่งการฟอกเงินสกปรก จึงขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนให้โปร่งใสว่า พ.ต.ท.ทักษิณแสดงบัญชีทรัพย์สินต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่”

แต่เวลาที่ผ่านไป ก็ยิ่งใกล้หมดเวลาของรัฐบาล ”ชวน หลีกภัย” แต่ยิ่งทำให้ ”ทักษิณ” มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ช่วงเดือนกันยายน 2543 ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุง เทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่องภาพลักษณ์ว่าที่นายกรัฐมนตรีในใจคนกรุง โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,596 ราย จาก 32 เขต พบว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปในใจของคนกรุง เทพฯ คือ “ทักษิณ” ด้วยคะแนนนิยม 40.2% รองลงมาคือ ”ชวน หลีกภัย” 33.2% ด้วยเหตุผล คือ “ทักษิณ” แต่งกายเหมาะสมที่สุด บุคลิกดูดีที่สุด ส่วน ”ชวน” เป็นผู้ที่พูดจาน่าเชื่อถือมากที่สุด และควบคุมอารมณ์ได้ดีที่สุด

ในแง่ความรู้ความสามารถ ผู้ถูกสำรวจเห็นว่า ”ทักษิณ” มีวิสัยทัศน์ดี มองการณ์ไกล, สามารถเป็นผู้นำบนเวทีโลก, เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง กล้าตัดสินใจ, เข้าใจปัญหาต่างๆ ของประเทศและโลก มากกว่า ”ชวน” แต่แม้ว่า ”ชวน” ได้รับโหวตเรื่องมีความซื่อสัตย์สุ จริต, กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้ง, ไม่รับใช้กลุ่มผลประโยชน์, เป็นนายกรัฐมนตรีที่คนไทยภูมิใจ และเป็นผู้ที่ทนต่อแรงกดดันบีบคั้นมากกว่า “ทักษิณ”

15 พฤศจิกายน 2543 คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) ไทยรักไทยจับสลากได้เบอร์ 7 ท่ามกลางเรียกร้องหา ”จริยธรรม” ชี้แจงข้อมูลเรื่องการ ”ซุกหุ้น”

แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยกลับได้ที่นั่งส.ส.ในสภาฯ ถึง 325 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง มีสิทธิเต็มที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กำหนดให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล และ “ทักษิณ” ก็บรรลุเป้าหมาย ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ

วิกฤตทางการเมืองระลอกแรกที่ทำให้ ”ทักษิณ” หวุดหวิดอดไปถึงดวงดาว คือ คดีซุกหุ้น แต่เมื่อคำพูดที่กินใจออกมาจากปากที่ว่า “บกพร่องโดยสุจริต” หากจะเปรียบก็เสมือน Copywrite คมเฉียบที่ลูกค้ายอมซื้อ เป็นวาทะที่สังคมยอมปล่อยให้ ”ทักษิณ” ได้เดินทางต่อ

สรุปเหตุการณ์ และกลยุทธ์ที่ใช้ปี 2544-2547

ช่วงเวลา ปี 2537-2539
เหตุการณ์ “ทักษิณ” เข้าสู่เส้นทางการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, เป็นรองนายกรัฐมนตรี, หัวหน้าพรรคพลังธรรม
กลยุทธ์ หลักบริหารเทกโอเวอร์กิจการSoft launch Brand ”ทักษิณ” ให้ตลาดรู้จัก

ช่วงเวลา 14 ก.ค. 2541
เหตุการณ์ “ทักษิณ” ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ด้วยสโลแกน ”คิดใหม่ ทำใหม่”
กลยุทธ์ Branding “ทักษิณ” ด้วยการย้ายสังกัดเน้นความเป็นพรรคที่ทันสมัย

ช่วงเวลา ปี 2541-2543
เหตุการณ์
– ดึงส.ส.เก่า ที่มีฐานเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ เข้าพรรค, ลงพื้นที่หาเสียง ยอมให้นักเขียน จัดทำพ็อกเกตบุ๊ก อัตชีวประวัติของตัวเอง สร้างเครือข่ายสื่อ โดยให้ธุรกิจในเครือซื้อพื้นที่โฆษณา และซื้อหุ้นไอทีวี
– เน้นย้ำภาพลักษณ์ความนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นซีอีโอ และหัวหน้าครอบครัวที่รับผิดชอบ
– การประกาศนโยบายใหม่ อย่างต่อเนื่อง ด้วยถ้อยคำคล้องจอง
– เรตติ้งตก จากคดี ”ซุกหุ้น”
กลยุทธ์
– เทกโอเวอร์พรรคต่างๆ ต่อเนื่อง
– ทำตลาดให้คนรู้จัก หันมาสนใจBrand มากขึ้น ผ่านการสื่อสารทั้งแบบการจัด Event แบบ Below the line และ Above the line
– สร้างมูลค่า Brand ด้วยการใช้หลักการDesign ตัวสินค้าให้สวยงามมากขึ้น
– การใช้สโลแกน ช่วยสร้างการจดจำ
– พยายามสื่อสารชี้แจงความบริสุทธิ์