วันที่ 16-21 ม.ค. 2549 ถือเป็นฉากสร้างภาพทางการเมืองที่เด่นชัดที่สุดฉากหนึ่ง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และมีการถ่ายทอดสด 5 วัน 5 คืน ตลอด 24 ชม. บางคนเปรียบเปรยว่า เหตุการณ์เรียลลิตี้ที่อาจสามารถ เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งของ “นายกฯ ทักษิณ” ที่อำนวยการสร้างขึ้นมาชนิดที่สร้างและทำลาย “แบรนด์ทักษิณ” ไปพร้อมๆ กัน
“ทัวร์นกขมิ้น” เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวกันว่า เป็นยุทธการสร้าง “ยี่ห้อทักษิณ” อย่างแท้จริง หากเพราะการเดินทางลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ต่างจังหวัด ถ้ากระทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ไร้ผลทางการเมืองแล้ว คงย่อมไม่ปรากฏ “เรียลลิตี้แม้วแก้จน” ทางจอทีวี
การลงพื้นที่แก้ปัญหาความยากจนของนายกฯทักษิณ ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ในครั้งนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงวิธีการนำเสนอ ซึ่งให้ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือยูบีซี ภายใต้รายการชื่อ Backstage Show : The Prime Minister มีการใช้กล้องถ่ายทอดเกือบ 40 ตัวแพร่ภาพตลอด 24 ชม. 5 วัน 5 คืน แพร่ภาพทางช่องยูบีซี 16
การถ่ายทอดสดของยูบีซี ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญ ในการขยายฐานเสียงสู่กลุ่มคนระดับชั้นกลางที่แยบยล เพราะนอกจากจะสร้างภาพหาเสียงในกลุ่มระดับชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน ยังขยายถึงกลุ่มคนระดับชนชั้นกลางที่เป็นสมาชิกยูบีซี ซึ่งข้อมูลจากยูบีซีระบุว่า มีจำนวนถึง 761,126 ครัวเรือน ถ้าวัดจากฐานรายได้ 30,000 บาท/ครัวเรือน
นี่ถือเป็นการสร้างภาพทางการตลาดในคราบผู้นำประเทศ ที่ถือว่าชัดเจนที่สุด เพื่อสร้างเรตติ้งทางการเมือง!
ว่ากันว่า เรียลลิตี้แก้จนครั้งนี้ เป็นยุทธการสร้างเรตติ้งทางการเมือง ในช่วงที่พรรคไทยรักไทยกำลังเสื่อมคะแนนความนิยมลง โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางเคเบิลทีวี เป็นจุดเชื่อมถึงประชาชนทั่วประเทศ
เรียลลิตี้ที่อาจสามารถ ถูกวางคอนเซ็ปต์การนำเสนอไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แม้ทีมงานนายกฯทักษิณจะบอกว่างานนี้ไม่มีสคริปต์ เป็นเหตุการณ์สดๆ ในบทบาทของนายกรัฐมนตรี แต่มองจากมุมกล้อง หรือการนำชาวบ้านมาพูดคุย ย่อมเป็นภาพที่คนอดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นการตระเตรียมสคริปต์ไว้อย่างแยบยล โดยเฉพาะภาพนายกฯทักษิณใส่ผ้าขาวม้าอาบน้ำ เป็นภาพหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์และนำเสนอผ่านสื่อ เพื่อสะท้อนให้ถึงความเป็นผู้นำประเทศที่ติดดิน เข้าถึงชาวบ้าน
ยิ่ง 5 วันในอาจสามารถ มีการรายงานข่าวตลอดว่า เป็นช่วงนาทีของชาวบ้าน เพราะนายกฯทักษิณ แจกสะพัด แบงก์พันปลิวว่อนที่สุดหลายหมื่นบาทให้กับชาวบ้าน เพื่อหาเสียงอย่างชัดเจนที่สุด
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเรียลลิตี้แม้วจะทำให้ภาพลักษณ์ของนายกฯทักษิณดีขึ้น กลับกลายเป็นจุดเสื่อมความนิยมลงอย่างเห็นได้ชัด ชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยไม่ได้รู้สึกดีต่อภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับรู้สึกถึง “ภาพของนักการตลาดในคราบของผู้นำประเทศ” ชัดเจนยิ่งขึ้นในแบบฉบับ “ยี่ห้อทักษิณ
”
ในขณะเดียวกันวาทะสดๆ ของนายกฯทักษิณกับรัฐมนตรีที่ติดตามไปในขณะนั้น บนโต๊ะกินข้าวยามเช้าที่อาจสามารถ ซึ่งพูดคุยถึงกรณีเครื่องบินตกที่ จ.สุพรรณบุรี โดยนายกฯทักษิณบอกว่า นักบินที่ขับเครื่องบินตกคงมัวแต่มอง “หอคอยบรรหาร” ทำให้มีการหัวเราะกันอย่างครึกครื้น เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงถึงความไม่เหมาะสมของการพูดคุยในประเด็นดังกล่าว
ว่ากันว่า สิ่งที่นายกฯทักษิณหัวเราะไปในวันนั้น กลายเป็น “หินก้อนใหญ่” ที่ขว้างใส่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ทักษิณและพรรคไทยรักไทยอย่างรุนแรง และวิกฤตขาลงก็ค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นๆ